ประชาธิปไตยเป็นเยี่ยงนี้เพราะ นักการเมือง “ไม่นิ่ง”

ประชาธิปไตยเป็นเยี่ยงนี้เพราะ นักการเมือง “ไม่นิ่ง”

ผมเป็นนักวิชาการประเภทที่ก่อนจะคิดขีดเขียนแสดงความคิดเห็นอะไรต้องมั่นใจแล้วว่าพูดหรือเขียนไปไม่ปล่อยไก่ ไม่ถูกใครโห่ฮา (อันเกิดจากคุณภาพงาน)

เพราะเคยบอกกับท่านผู้อ่านก่อนหน้านี้แล้วว่า จะทำอะไรต้องไม่ให้สิ่งนั้นมากลายเป็น “นาย” เราได้ในภายหลัง

ผมได้รับฟังสิ่งที่บางคนอาจเรียกเป็น “วิวาทะ” บางคนเรียก “เป็นการตอบโต้” แต่สำหรับผมเห็นว่าการบรรยายพิเศษของผู้บัญชาการทหารบก (พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์) กับการออกมาแสดงภูมิความรู้ของนักวิชาการในอีกฟากฝั่งหนึ่งทำให้ผมย้อนกลับไปนึกถึงคำพูดของผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ให้คำแนะนำเพื่อนสนิทของผมว่า “อาจารย์เอ(นามสมมติ) จะไปได้ไกลกว่านี้ถ้า “นิ่ง” กว่านี้” ผมใช้เวลาตรึกตรองคำว่า “นิ่ง” นี้อยู่นานกระทั่งมาเข้าใจคำๆ นี้ได้อย่างถ่องแท้เมื่อเห็นพฤติกรรมของนักการเมืองตั้งแต่ได้เข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาสมัยแรกๆ และยิ่งได้เห็นการทำงานทางการเมืองของ “คนรุ่นใหม่” ที่ยังทำเหมือนเดิมๆ ไม่เปลี่ยนแปลง เลยตอกย้ำคำว่า “ไม่นิ่ง” ให้ผมเข้าใจได้อย่างชัดเจนว่า มันหมายถึง “การที่คนเราไม่อดทน ไม่ยอมคน ชอบเดินหน้าชน เป็นเหล็กกล้าแกร่งไม่ยอมงอ พร้อมกระโจนเข้าใส่ทุกเรื่องที่ได้ฟังได้ยินที่มีคนกล่าวถึงตนไม่ว่ามากน้อย เพราะเกรงจะเสียพื้นที่ เสียหน้าตา เสียความนิยม” เหมือนนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่ผมเห็นในขณะเคยร่วมประชุมสภา เวลาเขาโดนพาดพิงเรื่องที่ผมมองว่า ขี้ผงมาก แต่เขายกมือประท้วงทุกครั้งอย่างน่ารำคาญหรือขอใช้สิทธิทันที ทำให้ผมนึกในใจคนเหล่านี้ในชีวิตจริงดูจะ “คบยาก” และถ้าผมจะต้องไปอยู่กินด้วยชีวิตคงจะเครียดมาก เลยอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ผมยังรักความ “โสด” เพราะเกรงจะไปเจอแจ๊กพ้อทเอาคนแบบนี้เข้าให้

นักการเมือง นักวิชาการ นักกิจกรรม และคนอีกหลายภาคส่วนกล่าวหาสภาวะความล้าหลังของ “ประชาธิปไตย” ในสังคมไทย ด้วยข้อหาที่ผมคงไม่ต้องไปเอ่ยอ้างให้เสียเวลา แต่สิ่งที่ผมเห็นว่า การเมืองไม่พัฒนาส่วนหนึ่งอย่าไปโทษใคร จงย้อนดูตัวของ “นักการเมือง” กันเองด้วย เพราะการแข่งขันเอาชนะกันทางการเมือง ส่วนหนึ่งชอบเอาประชาชนไปเป็น “ตัวประกัน” (นั่นคือ มักอ้างโน่นนี่ว่า ทำไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ของส่วนรวม) แต่แท้จริงแล้ว กรณีที่เกิดขึ้นวันนี้ไม่ว่าจะเป็นเสียงเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเรียกร้องให้มีการแก้ไขสถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานการแก้ปัญหาในเชิงนโยบายด้านต่างๆ ของรัฐบาล เป้าหมายสำคัญ คือ ต้องการให้ได้มาซึ่ง “อำนาจรัฐ

สิ่งที่ผมกล่าวถึงนี้อย่าได้ปฎิเสธให้เหมือนกับการหลอกตนเองกันดีกว่า เพราะไม่ว่ายุคใดสมัยใดทุกคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพันกับการเมือง หวังอย่างยิ่งจะได้เข้ามาเป็นผู้ควบคุมอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะด้วยลัทธิปรัชญาที่เป็นปฎิกริยาตรงข้ามความเป็นประชาธิปไตย ก็มุ่งหวังจะโค่นอำนาจรัฐเพื่อให้ตนเองได้มีอำนาจเข้ามาจัดการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์เป้าหมายของตัวเอง ผมผ่านโลกมาก่อนคนจำนวนหนึ่งในสังคมนี้ที่กำลังเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตยแต่อิงแอบวิธีการซึ่งไม่แตกต่างจากกลไกวิธีการเดิมที่ย้อนยุคไปไกล นั่นคือมีนักคิดยุค 4 - 5 ร้อยปีล่วงมาเช่น แมคเคียอาเวลลี (Machiavelli) เคยกล่าวว่า “การให้ได้มาซึ่งอำนาจอย่าไปสนไปแครร์ว่าจะต้องทำด้วยวิธีการใดขอให้สำเร็จเป็นใช้ได้” หรือลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) ที่ใครบอกเอามาพูดถือว่าหลงยุค แต่ทุกวันนี้แม้แต่ โดนัล ทรัมป์ ยังพูดอยู่หลายครั้งว่า ความขัดแย้งทางสงครามการค้าและการสู้กันด้วยกฎหมายระหว่างประเทศเวลานี้ คือ สงครามเย็นรอบใหม่ (new cold war era) ผมว่าดีไม่ดี คนจำนวนมากในสังคมยังเลียนแบบวิธีการของมาร์กซ์และเพื่อนสนิทของมาร์กซ์ ถ้าใครอ่านประวัติความเป็นมาก่อนจะมาเป็นตำรา “The Communist Manifesto” จะรู้ดีว่า คาร์ล มาร์กซ์ ขาวเยอรมันผู้นี้ ตายและถูกฝังอยู่ในสุสานที่ประเทศอังกฤษ 

สมัยผมเรียนหนังสือก็สงสัยทำไมเป็นเช่นนั้นได้ จึงศึกษากระทั่งทราบความจริงว่า มาร์กซ์ (Marx) มีแนวคิดหรือเคมีตรงกันกับลูกเศรษฐีชื่อ “เฟเดอริก เองเกิล” มาร์กซ์เป็นคนที่เติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่แร้นแค้น ถ้าเทียบสมัยนี้อาจเรียกได้ว่า “ได้ดีเพราะพี่ให้ หรือมีคนเลี้ยงดูอุ้มชู” เขารู้ว่าลำพังตัวเขาเองไม่มีทุนรอนไม่มีทรัพยากร จะทำการใหญ่ต้องมีคนสนับสนุน เขาได้เองเกิล (Engels)เพื่อนชาวอังกฤษผู้มั่งคั่งร่ำรวยสนับสนุนให้ทุนให้ความช่วยเหลือกระทั่งสามารถผลักดันความคิดอุดมการณ์ใหญ่ไปก้องโลก แต่มีบทพิสูจน์แล้วว่าแนวคิดเช่นว่านี้ ท้ายที่สุดผลประโยชน์ไม่ได้กับคนส่วนใหญ่ ดังคำกล่าวของ ผู้บัญชาการทหารบกทำนองว่า ความสำเร็จของคอมมิวนิสต์ คือ “ทำให้คนจน จนเท่าๆ กัน เพื่อง่ายในการขับเคลื่อนการปกครอง

เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดเจนว่า การที่ฝ่ายตรงข้ามของรัฐในวันนี้ ต่างดาหน้ากันออกมาโต้ตอบอย่างรุนแรงต่อเนื่องหรือมีกระบวนการขับเคลื่อนทางการเมืองในวิธีการต่างๆ มีความละม้ายคล้ายคลึงกับ “การแพร่ระบาดของโรคซึมเศร้า” อันเกิดจากความหวาดระแวง การเกรงกลัวการสูญเสียอำนาจหรือแม้แต่ การเคยได้รับการยกย่องทางสังคม สถานะภาพที่อาจสูญเสียไปอันเกิดเพราะสิ่งที่ตนเองได้กระทำทั้งรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือรู้แล้วก็ยังทำ ล้วนเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสับสนวุ่นวายและเป็นบ่อเกิดนำไปสู่ความขัดแย้งและนี่คือ การบ่อนทำลายประชาธิปไตยอันมีที่มาส่วนหนึ่งจากคนทางการเมือง หาใช่ใครอื่นใด