ความรู้แบบไหนที่จะแก้ไขปัญหา/พัฒนาประเทศได้จริง

ความรู้แบบไหนที่จะแก้ไขปัญหา/พัฒนาประเทศได้จริง

ความรู้ในการแก้ไขปัญหา/พัฒนาประเทศ มี 2 ด้านที่สำคัญ คือด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะเศรษฐศาสตร์การเมือง

เราควรจะรู้ว่า ประเทศเราเป็นประเทศที่ชนชั้นนำเลือกแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมบริวาร ที่ทำให้เราเสียเปรียบพวกบริษัททุนข้ามชาติและทุนผูกขาด ทุนขนาดใหญ่ในประเทศ ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล่ำต่ำสูง ความยากจนขาดแคลน ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมฯลฯ เราต้องพยายามหาความรู้ในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจให้เป็นระบบที่มีการแข่งขันและการจัดสรรส่วนสิ่งที่จำเป็นพื้นฐานสำหรับประชาชนส่วนใหญ่

ด้านที่ 2 คือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รวมทั้งเรื่องการบริหารจัดการ และความรู้ทางวิชาการทุกสาขาที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งหมายถึงต้องคำนึงถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศ เพื่อที่การพัฒนาสังคมจะอยู่ได้ยาวนานถึงรุ่นลูกหลานเหลน

การพัฒนาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันความรู้เทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งกว่าทรัพยากรวัตถุดิบ ประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้ดีคือประเทศที่ลงทุนเรื่องการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างความรู้ เทคโนโลยีในการแก้ไขปัญหา/พัฒนาประเทศได้อย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตน คนไทยยังเอาใจใส่เรื่องการอ่าน การหาความรู้ การวิจัยและพัฒนาน้อย นิยมซื้อ/เช่าความรู้เทคโนโลยีสำเร็จรูปจากต่างประเทศ เช่นจากบรรษัทข้ามชาติ ซึ่งมีทั้งข้อจำกัดและปัญหาตามมามาก ทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบ เป็นหนี้มากขึ้น ถูกกดดันจากบริษัทข้ามชาติให้ต้องใช้สินค้า เช่นยาปราบศัตรูพืชที่มีฤทธิร้ายแรงทำลายทั้งสุขภาพ ชีวิต และสิ่งแวดล้อม รัฐบาล(ทุกรัฐบาล)ถูกครอบงำให้เชื่อว่าเราต้องใช้นโบายเปิดกว้างให้ต่างชาติมาลงทุนได้สะดวก เช่น ยกเว้นภาษี และหรือเก็บภาษีในอัตราต่ำ เศรษฐกิจเราถึงจะเจริญเติบโตได้ดี ซึ่งจริงๆ แล้วคือทำให้เราเสียเปรียบ เราควรจะมองเป้าหมายที่กว้างกว่าเรื่องธุรกิจและการทำให้เศรษฐกิจการผลิต การบริโภค การค้าขาย เติบโต คือ เราต้องแสวงหาความรู้เทคโนโลยีในการพัฒนาการเมือง วัฒนธรรม ระบบนิเวศด้วยตัวของเราเองที่เหมาะกับประเทศไทย ที่นอกจากจะเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตแล้ว ต้องเน้นทำให้เกิดความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม (ไม่ใช่เฉพาะบางธุรกิจ) ควรเน้นเรื่องการพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตมากกว่าเพื่อความเติบโตทางวัตถุ และเน้นการพัฒนาในแนวอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศให้ยั่งยืนถึงคนรุ่นลูกรุ่นหลาน

ประเทศไทยมีโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างคนรวย คนชั้นกลาง และคนจนมาก นี่คือปัญหาสำคัญที่สุด แต่ชนชั้นนำไทยหลายคนมัวแต่เถียงทะเลาะกันเรื่องความเชื่อทางอุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันทางสังคมบางสถาบัน ถ้าเราไม่เข้าใจ ไม่สนใจแสวงหาความรู้ที่จะแก้ไขปัญหาได้จริงในเรื่องการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ สังคม อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน และไปหลงทางแต่เรื่องการส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนและค้าขายเพื่อเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม เราจะยิ่งทำให้สังคมไทยมีปัญหาความเหลือมล้ำต่ำสูงเพิ่มขึ้น และการเมืองสังคมก็จะยิ่งขัดแย้ง ปั่นป่วน วุ่นวายมากขึ้น เพราะการเติบโตเศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้ตอบปัญหาการกระจายอย่างทั่วถึง เป็นธรรม กลายเป็นพัฒนาแนวกอบโกยล้างผลาญที่เอาเปรียบทั้งคนส่วนใหญ่และธรรมชาติหรือระบบนิเวศโดยรวมเพิ่มขึ้น

การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลผลิตมีความสำคัญอยู่ แต่ไม่ใช่แค่ประสิทธิภาพของธุรกิจเท่านั้น ต้องเป็นประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม คือคำนึงถึงต้นทุนและผลตอบแทนทางสังคมด้วย เช่น ไม่ทำลายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมมากไป มองภาพใหญ่ระดับประเทศออกว่าอะไรสำคัญก่อนหลัง จัดลำดับการผลิตสิ่งที่จำเป็น เป็นประโยชน์ ต้องมีการกระจายทรัพย์สิน รายได้ การมีงานทำอย่างเป็นธรรม ประชาชนบริโภคแบบพอเพียงกันอย่างทั่วถึงก่อน ไม่ใช่พัฒนาเศรษฐกิจแนวทุนนิยมแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยเพื่อมุ่งหากำไรของผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และทำลายระบบนิเวศ ความสมดุลของธรรมชาติ ที่ทำให้เกิดความแห้งแล้ง น้ำท่วม ภัยพิบัติต่างๆ

ในเรื่องนี้เศรษฐศาสตร์แนวระบบนิเวศคิดได้กว้างไกลกว่าเศรษฐศาสตร์แนวทุนนิยมกระแสหลัก นั่นก็คือการผลิตต้องเน้นประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวมมากกว่าประสิทธิภาพของหน่วยผลิต คำนึงถึงต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางธรรมชาติ ผลตอบแทนระยะยาว (ตระหนักถึงข้อจำกัดของสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศต่างๆ ด้วย) ไม่ใช่คิดแต่ต้นทุนกำไรของหน่วยธุรกิจ เศรษฐศาสตร์แนวระบบนิเวศเสนอการผลิตและกระจายสินค้าที่จำเป็น อย่างเป็นธรรม เลือกสินค้าที่ผลิต วิธีการผลิต บริโภค ที่จะช่วยให้ระบบนิเวศมีขีดความสามารถที่จะรองรับของเสีย ฟื้นฟูทรัพยากรบางอย่างใหม่ได้ และพัฒนาต่อได้อย่างยั่งยืนถึงรุ่นลูกหลานเหลน

การที่รัฐบาลชอบเน้นการทำให้เศรษฐกิจโดยรวมเติบโต มีความหมายแค่ทำให้ทั้งประเทศมีการผลิตและบริโภคมากขึ้น ไม่ได้แปลว่าประชาชนส่วนใหญ่จะได้รับการพัฒนาทุกด้าน (เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความคิด จิตใจ การมีสภาพแวดล้อมที่ดี ฯลฯ) เสมอไป การวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ควรวิจัยในเรื่องที่เชื่อมโยงและให้ประโยชน์เศรษฐกิจ สังคม เพื่อคนไทยส่วนใหญ่ด้วย เช่น ควรวิจัยเรื่องอาหาร สมุนไพร ยา สาธารณสุขทางเลือก พลังงานทางเลือก (แสงอาทิตย์ กระแสลม กระแสน้ำ) ฯลฯ ที่ไทยมีศักยภาพ ความพร้อม และจะได้ประโยชน์มากในแง่การเพิ่มการจ้างงาน เพิ่มรายได้ เพิ่มสุขภาวะให้ประชาชน

การเห่อที่จะเปลี่ยนแบบวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นการถูกครอบงำทางความคิด ทำให้มุ่งพัฒนาประเทศแบบหลงทาง วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ผูกขาดหรือถูกควบคุมโดยบรรษัทขนาดใหญ่เป็นดาบ 2 คม ที่มีทั้งประโยชน์และโทษสำหรับคนส่วนใหญ่ได้ เพราะจะนำไปสู่การเน้นการหากำไรเอกชน ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ไม่สนใจคุณภาพชีวิตผู้บริโภค

ตัวอย่างตัวที่เราควรพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับไทยคือ การเน้นการพัฒนาสาธารณสุขทางป้องกัน ให้ความรู้ทั้งเด็ก เยาวชน ประชาชน ในการรู้จักดูแลป้องกันสุขภาพตนเองในเรื่อง การกินอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย การหลีกเลี่ยงสารเสพติดต่างๆ รัฐบาลห้ามใช้สารเคมีที่เป็นพิษ ควบคุมเรื่องเหล้า บุหรี่ สารเสพติด อาหารหวาน เค็ม มัน อย่างมีประสิทธิภาพ ทั่วถึง จะเป็นการลงทุนลงแรงที่ใช้ต้นทุนต่ำกว่าการไปติดตามรักษาคนที่ป่วยด้วยที่ควรหลีกเลี่ยงหรือชะลอได้ จะได้ลดปัญหาคนไทยมีสุขภาพไม่ดี ป่วยกันจนแน่นโรงพยาบาลมากเกินไป การส่งเสริมเกษตรกรขนาดเล็กและกลางที่ทำเกษตรแบบอินทรีย์หรือไร้สารเคมีให้ประโยชน์หลายทาง(ช่วยให้คนมีงานทำ มีรายได้ ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมฯลฯ) ที่ดีกว่าส่งเสริมเกษตรแบบเน้นการใช้สารเคมีและบริษัทเกษตรขนาดใหญ่ การส่งเสริมระบบสหกรณ์ผู้ผลิตผู้บริโภค สหกรณ์ออมทรัพย์ ให้บริการฯลฯ วิสาหกิจเพื่อชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมให้ประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ได้มากกว่าส่งเสริมบริษัทธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่

สรุปก็คือ เราควรใช้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการศึกษาเพื่อพลเมืองมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสังคมไทย โดยมีเป้าว่าทุกอย่างต้องเน้นการพัฒนาคนเพื่อประโยชน์คนส่วนใหญ่ในระยะยาว เพื่อประสิทธิภาพเพื่อส่วนรวม (รวมความโปร่งใสด้วย) เป็นธรรม ชีวิตที่มีคุณภาพ/ความหมาย และสังคมที่อนุรักษ์ระบบนิเวศ พัฒนาเศรษฐกิจสังคมได้อย่างยั่งยืนไปจนถึงยุคของคนรุ่นหลัง