กองทุนที่ดีที่สุด

กองทุนที่ดีที่สุด

กองทุนอะไรเป็นกองทุนที่ดีที่สุดสำหรับนักลงทุน? หลายคนคงจะเคยคิดสงสัยกัน

กองทุนที่ดีที่สุดในมุมมองของผู้เขียนในปัจจุบันสำหรับมนุษย์เงินเดือนนั้น เป็นกองทุนที่ผู้ทำงานมีเงินเดือน ไม่ต้องไปไขว่คว้าหาจากที่อื่น แต่เป็นสิ่งที่หลายคนมีอยู่แล้วแบบไม่ค่อยรู้ตัว และมักไม่เห็นคุณค่ามากนัก

ซึ่งคนที่มีกองทุนประเภทนี้อยู่แล้ว อาจไม่รู้ว่าตนเองนั้นโชคดีมากขนาดไหน เพราะมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่มีโอกาสเช่นเดียวกัน กองทุนที่ว่านั้น คือ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ซึ่งเป็นเงินออมที่ลูกจ้างแบ่งเงินจำนวนหนึ่งจากเงินเดือนในแต่ละเดือนมาสะสมไว้ในบัญชีของตนในกองทุน โดยมีนายจ้างช่วยสมทบเงินอีกส่วนหนึ่งทุกๆเดือนเช่นกัน

เงินสะสมนี้ลูกจ้างยังสามารถนำมาเป็นเงินลดหย่อนภาษี ได้ตามจำนวนที่สะสมจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้ หรือเมื่อรวมกับเงินลงทุนใน RMF แล้วไม่เกิน 5 แสนบาท แล้วแต่จำนวนใดจะต่ำกว่า

สมัยก่อนลูกจ้างมักไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากนัก เนื่องจากในอดีต (ที่นานมากแล้ว)ไม่ได้มีทางเลือกให้ลูกจ้างหักเงินเดือนเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากๆได้ ส่วนใหญ่ก็จะหักเพียงประมาณ 2-5% เท่านั้น  เท่าๆกันหมดทั้งองค์กร (จะเลือกให้หักเงินเดือนมากกว่าที่บริษัทสมทบให้ก็ไม่ได้) แถมหักมาแล้ว ก็ลงทุนได้แต่เฉพาะในนโยบายการลงทุนที่นายจ้างเลือกให้ ซึ่งส่วนใหญ่ในอดีตก็มักจะเป็นตราสารหนี้ที่ผลตอบแทนก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ดังนั้น เมื่อยามเกษียณ เงินที่ได้รับจากกองทุนจึงดูไม่ได้เป็นเนื้อเป็นหนังเท่าที่ควร

แต่ในปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนใหญ่ จะมีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายใกล้เคียงกับกองทุนรวม โดยลูกจ้างสามารถเลือกลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ ทั้งในและต่างประเทศได้ตามช่วงอายุ และความเสี่ยงที่รับได้ของแต่ละคน เปรียบไปแล้วก็คือการลงทุนด้วยเงินตนเองไปในสินทรัพย์หลากหลายประเภท ผ่านกองทุนซึ่งบริหารโดยมืออาชีพ แถมยังได้รับการลดหย่อนภาษี บวกกับมีเงินนายจ้างพร้อมผลตอบแทนแถมมาให้อีกด้วย

และนับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ลูกจ้างที่ลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเทียบกับกองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป หรือการลงทุนด้วยตนเอง เนื่องจาก การลงทุนในตราสารหนี้ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ในส่วนของผลตอบแทนที่ได้รับจากดอกเบี้ย และส่วนลดรับของตราสารหนี้ (ซึ่งได้เปรียบกว่าการลงทุนในกองทุนรวมประเภทอื่นๆ หรือการซื้อตราสารหนี้เองโดยตรง)

นั่นหมายความว่า ยิ่งเราเลือกสะสมเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในสัดส่วนที่สูงมากขึ้น (โดยต้องไม่เกินอัตราสูงสุดที่กฏหมายกำหนด) เราก็จะได้รับประโยชน์หลายต่อ มากยิ่งขึ้นไปด้วย

และด้วยเหตุที่ตราสารหนี้ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพลงทุนนั้น จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ส่งผลให้เมื่อลูกจ้างเกษียณอายุ และเลือกเก็บเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (เรียกกันว่าการ “คงเงิน”) หรือทยอยรับเงินจากกองทุนเป็นรายงวด แทนการนำเงินออกจากกองทุนเป็นเงินก้อนครั้งเดียวเมื่อเกษียณอายุ จะได้รับประโยชน์ด้านภาษีในระยะยาวที่มากกว่า

นอกจากนี้ สำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีขนาดใหญ่มากๆ ซึ่งมักจะมีอัตราค่าใช้จ่าย (Total Expense Ratio) ของกองทุนที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับกองทุนรวมทั่วไปนั้น การคงเงิน หรือรับเงินเป็นรายงวด จะทำให้เงินออมก้อนสุดท้ายนี้ มีต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการกองทุนที่ต่ำกว่าการรับเงินครั้งเดียว แล้วนำเงินไปลงทุนในกองทุนอื่นๆเอง

                อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่มิใช่มนุษย์เงินเดือน หรือไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก็ไม่ต้องน้อยใจไป ท่านยังสามารถออมเงินโดยได้รับประโยชน์ด้านภาษี ไม่ว่าจะเป็นการลดหย่อนภาษีจากค่าซื้อหน่วยลงทุน หรือ การยกเว้นภาษีหัก ณ ที่จ่ายในส่วนของการลงทุนในตราสารหนี้ ได้จากการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ได้

                แค่เพียงเริ่มต้นให้ได้ก่อนเท่านั้น…..