Social Bond: บริบทของการสร้างความเท่าเทียมสู่ความยั่งยืน

Social Bond: บริบทของการสร้างความเท่าเทียมสู่ความยั่งยืน

สวัสดีครับ ในปัจจุบันสังคมไทยได้ตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของ​ "ความยั่งยืน" ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

​ ซึ่งครอบคลุมถึงการสนับสนุนและการระดมทุนสำหรับโครงการต่างๆ​ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนในมิติดังกล่าว ผ่านการออกตราสารทางการเงินประเภทพันธบัตรเพื่อสังคมในรูปแบบของ​ ​“Green Bond”  และ  “Social Bond”

 วันนี้ผมอยากจะกล่าวถึง Social Bond ​ซึ่งคือตราสารการเงินที่มีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของสังคมและชุมชน ผ่านโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม อาทิ โครงการพัฒนาการศึกษา การพัฒนาระบบขนส่ง การปรับปรุงและพัฒนาระบบสาธารณสุข โครงการด้านการพัฒนาการผลิตน้ำสะอาดเพื่อบริโภค การจัดหาอาชีพ รวมไปถึงการเพิ่มความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชาชน

นอกเหนือจากประโยชน์ที่สังคมและชุมชนจะได้รับโดยตรง​จาก​การออกพันธบัตรเพื่อสังคมแล้ว​ ด้านผู้ออกพันธบัตรเองก็สามารถสื่อสารนโยบาย​ เป้าหมาย​ และกระบวนการทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เนื่องจากการออก Social Bond จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานของ International Capital Market Association (ICMA) ที่มีข้อกำหนดในการใช้เงินให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ รวมถึงการตรวจสอบการดำเนินงานโดยผู้ตรวจสอบ และการรายงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ออกพันธบัตรเพื่อสังคมยังสามารถเข้าถึงฐานนักลงทุนที่กว้างขึ้น จากอุปสงค์ของตราสารการเงินดังกล่าวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วยให้ผู้ออกพันธบัตรสามารถกำหนดเงื่อนไขและราคาที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับตราสารประเภทอื่น

พันธบัตรที่คำนึงถึงเพศสภาพ (Gender Bond) เป็นพันธบัตรเพื่อสังคมอีกหนึ่งประเภทที่มีความน่าสนใจ เป็นรูปแบบการลงทุนอีกวิธีหนึ่งที่สร้างพัฒนาการเชิงบวกแก่สังคมผ่านการว่าจ้างงานที่เพิ่มขึ้น​ ขยายโอกาสทางเศรษฐกิจแก่ครอบครัวและชุมชน​โดยเฉพาะอย่างยิ่่งการออกพันธบัตรเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือผู้บริหาร

ในกรณีของไทย พบว่าหนึ่งในอุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ประกอบการหญิงคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยจากข้อมูลทางสถิติพบว่า ผู้ประกอบการ SME ที่มีผู้หญิงเป็นเจ้าของหรือผู้บริหารมีความต้องการเงินทุนกว่า 25 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 61 ของความต้องการเงินทุนที่ยังขาดแคลนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการ SME ทั้งหมดในประเทศไทย

ในเวทีระดับโลก Goldman Sachs วาณิชธนกิจที่ทรงอิทธิพลอย่างสูงในสหรัฐฯได้ริเริ่มโครงการ Goldman Sachs 10,000 Women เพื่อระดมทุนสำหรับการพัฒนาสังคมที่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 และประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โครงการนี้ได้ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุนทักษะด้านการบริหารจัดการธุรกิจ ตลอดจนเสริมสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้แก่ผู้ประกอบการหญิงทั่วโลก เนื่องจากสถาบันทางการเงินท้องถิ่นหรือบริษัทลงทุนข้ามชาติอาจมองข้ามการสนับสนุนเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นผู้หญิง จากความคุ้นเคยที่ว่าผู้ประกอบการหญิงเหล่านั้นมีความสามารถในการบริหารจัดการน้อยกว่าผู้ชาย ทั้งนี้ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) ได้ประเมินว่าความต้องการสินเชื่อของผู้ประกอบการหญิงทั่วโลกนั้นคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 285 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

Goldman Sachs ตั้งเป้าลดช่องว่างดังกล่าวในกลุ่มประเทศ BRICs (ได้แก่ Brazil, Russia, India และ China) และในอีก 11 ประเทศทั่วโลก ตลอดจนตั้งเป้าหมายการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยส่วนบุคคลขึ้นอีกประมาณร้อยละ 12 ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยโครงการดังกล่าวยังมีพันธสัญญาที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการหญิงทั่วโลกพัฒนาธุรกิจให้ประสบความสำเร็จและใช้ความสามารถของตนอย่างเต็มศักยภาพ

ในส่วนของภาครัฐของไทยเองได้ตระหนักถึงความสำคัญของพันธบัตรเพื่อสังคมเช่นกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมสำหรับการขายพันธบัตรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) พันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) และพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) โดยอัตราค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอขายตราสารหนี้ (Filling Fee) จะอยู่ที่ 10,000 - 30,000 บาท ขึ้นกับประเภทของการเสนอขาย โดยจะมีผลจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 สะท้อนให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนจากภาครัฐในความต้องการที่จะเดินหน้าเพื่อให้ประเทศไทยมีความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างแท้จริง

หากประเทศไทยสามารถผลักดันให้พันธบัตรเพื่อสังคมกลายเป็นวาระแห่งชาติและช่วยผู้ประกอบการทั้งชายและหญิงสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเท่าเทียม ก็จะสามารถขับเคลื่อนอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปครับ