ไม่โหวตหนุน ให้นอนอยู่บ้าน

ไม่โหวตหนุน ให้นอนอยู่บ้าน

3 วันที่กำหนดให้ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” พิจารณา วาระแรก รับหรือไม่รับหลักการ ของร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 วงเงิน 3.2 ล้าน ในวันที่ 17-19 ต.ค.

สำหรับการจัดสรรเวลาที่มีทั้งหมด คือ 30 ชั่วโมง ให้ ส.ส.​ได้อภิปราย ซึ่งเวลานั้นไม่รวมการแถลงรายละเอียดของ“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม”ประมาณ 2 ชั่วโมง แน่นอนว่า 30ชั่วโมงที่ว่า คือ การแบ่งครึ่ง ให้ ฝ่ายค้าน 15 ชั่วโมง และ ฝ่ายรัฐบาล 15 ชั่วโมง

กับประเด็นเสียงปริ่มน้ำที่หลายฝ่ายกังวล ว่า อาจทำให้วาระแรก นั้นมีปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการการเมืองไทย คือ "การคว่ำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ" หากฝ่ายใดที่เพลี่ยงพล้ำ โดยเฉพาะ "ฝ่ายรัฐบาล" ที่มีเสียงนำฝ่ายค้าน เพียง 4 เสียง อาจทำให้ "รัฐบาล" ไปสู่จุดตายได้ เพราะการแพ้โหวตร่างกฎหมายสำคัญผลที่เกิดขึ้นคือ "รัฐบาลต้องลาออก"

อย่างไรก็ดีกับประเด็นนี้ ทำให้ องคาพยพของ “ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล” จึงระดมกำลัง ต่อสายถึง บุคคลขั้วตรงข้าม ที่ระดับแกนนำ และ ส.ส. ให้ช่วยสนับสนุนหรือหากไม่ร่วมลงมติรับร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ก็ขอให้อยู่เฉยๆ แต่หากกลัวจะตกเป็นเป้า และถูกเพ่งเล็งว่าเป็น “งูเห่า” ขอให้ลาอยู่บ้าน

ดังนั้นการเฝ้าระวังของ "พรรครัฐบาล" ต่อการกำกับเสียง แกนนำรัฐบาล อย่าง "วิรัช รัตนเศรษฐ" ประธานวิปรัฐบาล มั่นใจอย่างหนักแน่นว่า "ไร้ปัญหาต่อปมเสียงปริ่มน้ำ"

เมื่อ ฝ่ายรัฐบาล มั่นใจ ไร้ปัญหา แต่อีกบทบาทที่ต้องจับตา ในระหว่างการอภิปรายวาระแรก ที่ ได้เวลามากพอสมควร เชื่อว่า “ฝ่ายค้าน” เองต้องจัดทัพเพื่อรับน้องรอบสอง ของ “รัฐบาล บิ๊กตู่”โดยประเด็นสำคัญที่คาดว่าจะถูกจ้อง และท้วงติง ซึ่งหวังผลเชื่อมโยงไปสู่การ แสดงให้ประชาชนเห็นถึงความล้มเหลวรัฐบาล ที่มี “พล.อ.ประยุทธ์” และพรรคพวก เป็นผู้นำรัฐบาล จากประสบการณ์ครองอำนาจมา 5 ปี

คาดว่า งบกลาง วงเงิน 5.1แสนล้านบาท, งบกระทรวงกลาโหม วงเงิน 713 ล้านบาท, งบสำนักนายกฯ วงเงิน 945 ล้านบาท, งบกระทรวงการต่างประเทศวงเงิน 6,275 ล้านบาท, งบกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 1,405 ล้านบาท, และ การจัดสรรงบประมาณที่ ยึดตามยุทธศาสตร์ หลัก 6 ด้าน ที่แม้จะจัดสรรให้กับแต่ละกระทรวงหรือหน่วยงาน แต่พบรายละเอียดว่าบางกิจกรรมมีความซ้ำซ้อน เป็นต้น จะถูกชำแหละ และแคะเกา เพื่อสะท้อนมุมให้เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น อาจจะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ, เศรษฐกิจ และสังคม ไม่ได้มาก พร้อมโฟกัส การ “ถอนทุนคืน” จากแม่ทัพการเมือง ของ พรรคร่วมรัฐบาล

ส่วนจะมีประเด็นอื่นๆ ที่มากกว่านั้นหรือไม่ ต้องติดตามการอภิปรายของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน

ขณะที่เกมของ ส.ส.พรรครัฐบาล แน่นอนว่า อาจถูกกำหนดโทนมาเพื่อหักล้างคำอภิปรายของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน แต่เช่ือว่า จะมีนัยที่สะท้อนความต้องการ และข้อเสนอแนะเพื่อให้ได้งบประมาณ ลงพื้นที่ของตนเอง อย่างน้อยเพื่อการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

กับอีกประเด็นสำคัญ ที่ “ส.ส.” ซึ่งเป็นรัฐมนตรี จะลงมติรับหลักการของร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ได้หรือไม่ แม้ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ บอกว่า รัฐธรรมนูญไม่ห้าม ดังนั้นจึงทำได้

แต่สิ่งที่ต้องจับตา คือ การแสดงพฤติกรรมที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 วรรคสอง ซึ่งกำหนดเป็นข้อห้าม ส.ส. , ส.ว. หรือ กรรมาธิการ เสนอการแปรญัตติ หรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ ส.ส., ส.ว., กรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าทางอ้อมหรือทางตรงในการได้ใช้จ่ายงบประมาณ เพราะหากพบพฤติกรรมที่ว่าต้องเจอบทตรวจสอบโดยสมาชิกของสภาฯ นั้นๆ เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรม พิจารณา หากวินิจฉัยว่าเข้าข่ายพฤติกรรมนั้นจริง จะมีโทษโดยทันที คือ พ้นสภาพความเป็นส.ส.ว. หรือ ส.ว. และ ต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงการอดเล่นการเมืองระดับชาติ ตลอดชีวิต

เช่นเดียวกันกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น แล้ว “คณะรัฐมนตรี” ที่กระทำเอง หรือ อนุมัติให้ทำ หรือรู้ว่ามีการกระทำแต่ไม่ยับยั้ง จะมีบทลงโทษรุนแรง คือ ครม.​ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของ ครม. ด้วยเช่นกัน

และบทส่งท้าย ของมาตรานี้ คือ ให้ผู้ที่มีการกระทำซึ่งถือเป็นความผิด ต้องชดใช้เงินคืนพร้อมดอกเบี้ย โดยระยะเวลาที่เรียกเงินคืนนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดห้วงเวลานานถึง 20 ปีนับแต่วันที่มีการจัดสรรงบประมาณ

ซึ่งบทบัญญัตินี้อาจหยิบยกมาใช้ โดยส.ส.พรรคฝ่ายค้าน เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบ ส.ส. ที่เป็นรัฐมนตรี ว่ามีพฤติกรรมตามที่รัฐธรรมนูญห้ามหรือไม่ เพื่อหวังผลและใช้ประโยชน์ทางการเมือง.

โดย... เทพจร