เอไอกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร

เอไอกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร

เราต้องสร้างความเชื่อมั่นและร่วมกันช่วยผลักดันให้เกิดการเกษตรอัจฉริยะ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม

อุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย อีกทั้งอาชีพเกษตรกรยังเป็นฐานปิรามิดของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมและผลักดันความสามารถทางการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการเกษตร จึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการกระตุ้นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรไทย 

และเพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงภาคการเกษตร โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)  ก็สามารถนำมาสร้างประโยชน์ให้กับแวดวงการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของการยกระดับคุณภาพผลผลิตทางการเกษตร การบริหารจัดการภายในฟาร์ม ลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดของมนุษย์ (human errors) รวมถึงส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรให้มีความทันสมัย และสามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ

หลากหลายประเทศทั่วโลกก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเอไอมาใช้ในการยกระดับอุตสาหกรรมการเกษตรให้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น ได้พัฒนาเทคโนโลยีเอไอในการคาดการณ์ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้สามารถบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงประเทศสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนาหุ่นยนต์ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืช “The See & Spray robot” ที่สามารถคำนวณการพ่นสารเคมีให้ตรงจุดเฉพาะบริเวณวัชพืชเท่านั้น เพื่อลดการกระจายตัวของสารเคมีที่จะเข้าสู่พืชที่เป็นผลผลิตให้น้อยลง และยังมีแอพพลิเคชัน “Xarvio Scouting” ที่ช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบชนิดของวัชพืชและโรคพืชได้ เป็นต้น

ในประเทศไทย ก็มีการนำเอไอมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรเช่นเดียวกัน โดยเกิดจากความร่วมมือของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และ บริษัท เซอร์ทิส จำกัด ในการพัฒนา “CPF AI FarmLab Powered by Sertis” โดยผสานเทคโนโลยีเอไอกับ Computer Vision เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมมาตรการควบคุมความปลอดภัยภายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดการเกิดโรคระบาดของสัตว์ในฟาร์ม เช่น โรคปากเท้าเปื่อย และโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF (Africa Swine Fever) ที่จะสร้างความเสียหายให้แก่ผู้ประกอบการฟาร์มปศุสัตว์อย่างมหาศาล นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสามารถตรวจสอบข้อมูลสถิติการทำงานของพนักงานภายในฟาร์ม เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาและพัฒนาปรับปรุงการดำเนินธุรกิจการเกษตรให้มีความปลอดภัยต่อไป

นอกจากนี้ “CPF AI FarmLab Powered by Sertis” ยังสามารถพัฒนาต่อยอดการใช้งานในอนาคต ทางด้านการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพผลผลิต เช่น ปริมาณของน้ำและอาหารที่สัตว์บริโภค การวัดน้ำหนักและคุณภาพของเนื้อหมู การวิเคราะห์โรคจากซากของสัตว์ นอกจากนี้เอไอยังสามารถคาดการณ์อาการป่วยและความเครียดของสัตว์จากการตรวจจับความผิดปกติของพฤติกรรม เพื่อรายงานผลให้สัตวแพทย์และผู้เชี่ยวชาญได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ แก้ไขได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้นภายในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ และเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการฟาร์ม

เห็นได้ชัดว่าเอไอสามารถสร้างประโยชน์หลายด้านให้กับธุรกิจการเกษตร ดังนั้นอาจมีหลายท่านที่กังวลถึงการเข้ามาแทรกแซงของเทคโนโลยีดิจิทัล ในวงการเกษตรกร ผมขอกล่าวในฐานะของผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านข้อมูลและการพัฒนาเอไอ ซึ่งจะเน้นเสมอว่า ถึงแม้เอไอจะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในธุรกิจต่างๆ แต่การนำเอไอมาใช้ยังคงต้องควบคู่ไปกับแรงงานมนุษย์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น เอไอยังไม่อาจเข้ามาแทนที่เกษตรกร แต่จะเข้ามาส่งเสริมการทำงานให้สะดวก รวดเร็ว และมีคุณภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมการเกษตรของไทยมีความทันสมัยและสามารถปรับตัวตามความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ อย่างทราบกันดีว่าประเทศไทยเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ คือมีผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ รวมถึงเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าการเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก การนำเทคโนโลยีมาปรับใช้จะยิ่งส่งเสริมมาตรฐานสินค้าการเกษตรของอาเซียนให้มีความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก และสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยให้กับผู้นำเข้าประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยหน่วยงานต่างๆ ควรมีส่วนช่วยในการผลักดันให้เกิดการเกษตรอัจฉริยะ โดยเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตรและเศรษฐกิจทางการเกษตรของไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต