จาก Bank 1.0 ถึงยุค Virtual Bank

จาก Bank 1.0 ถึงยุค Virtual Bank

เทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech คือ การผสมระหว่างคำว่า Financial และ Technology เข้าไว้ด้วยกัน

ซึ่งหมายถึงการนำเทคโนโลยีหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาประยุกต์ใช้หรือสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน การธนาคาร และการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งหากศึกษาวิวัฒนาการของ FinTech จะพบว่านับจากการวางระบบเคเบิลใต้น้ำ (Transatlantic Cable) อันถือเป็นจุดกำหนดของโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินในราวปี 1866 เป็นต้นมา รูปแบบการให้บริการทางการเงินที่ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จวบจนปัจจุบัน ที่กลุ่มอุตสาหกรรมทางการเงินกำลังปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ จากการมีสำนักงานสาขาในแบบเดิม หรือ “Brick-and-Mortar Branches” มาเป็นการให้บริการที่อยู่ในโลกออนไลน์แบบเต็มรูปแบบ หรือที่เรียกว่า “Virtual Bank”

จาก Bank 1.0

ผู้เขียนขอวิเคราะห์วิวัฒนาการของธนาคารตามการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการให้บริการ โดยอธิบายเป็นยุคต่าง ๆ ตามลำดับ ดังนี้

ธนาคารในยุคแรก หรือ Bank 1.0 คือ ยุคที่ธนาคารยังไม่มีการใช้เทคโนโลยีใด ๆ ในการให้บริการ ดังนั้น การดำเนินการต่าง ๆ ไม่ว่าจะฝาก ถอน หรือกู้ยืม ล้วนแล้วแต่กระทำลงในรูปแบบกระดาษทั้งสิ้น ซึ่งประชาชนในยุคนั้นเลือกใช้บริการธนาคารด้วยความเชื่อที่ว่า ธนาคาร คือ สถานที่ ๆ ปลอดภัยในการเก็บเงิน หรืออาจกล่าวได้ว่า ประชาชนได้ให้ Trust กับการดำเนินงานของธนาคารนั้นเอง

ต่อมาในยุค Bank 2.0 ความต้องการในการใช้บริการธนาคารมีเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เริ่มจากการใช้ระบบ Mainframe เพื่อการรองรับการให้บริการ จนกระทั้งมีการให้บริการผ่านตู้ ATM โดยธนาคาร Barclays และมีการออกบัตรเครดิตโดยสถาบันการเงินในสหรัฐอมริกา (Bank of American และ American Express)

หลังจากนั้นในยุค Bank 3.0 หรือ ในช่วงปี 1990 เป็นต้นมาได้เริ่มมีการใช้ Internet Banking และ Mobile Banking ตามลำดับ ต่อมา ในปี 1999 หลักจากที่มีการก่อตั้งบริษัท Alibaba พบว่า รูปแบบการให้บริการ e-Commerce platform ที่มีการเก็บข้อมูลการขายสินค้า/บริการออนไลน์ ทำให้ platform ทราบข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้บริการได้ไม่ยากนัก อันเป็นผลให้มีการเกิดกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการชำระเงินอย่าง Alipay และธุรกิจไฟแนนซ์/Money Market Fund อย่าง Yue Bao ซึ่งธุรกิจการให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ ที่ได้กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนมากมายและไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานสาขาในแบบกายภาพ เนื่องจากเป็นการให้บริการผ่าน Application ที่เชื่อมต่ออยู่ในโลกออนไลน์ หรืออาจกล่าวได้ว่า Bank ในยุค 4.0 นั้น ได้รับอิทธิพลจาก Business Model แบบ Alibaba จึงส่งผลให้การให้บริการทางการเงินในรูปแบบ Automated เพิ่มจำนวนมากขึ้น และส่งผลให้บริการทางการเงินในยุคนี้สามารถทำได้แบบ

No human Involved 

จาก Bank 4.0 สู่ Virtual Bank

Virtual Bank หรือ Internet Based Bank คือ สถาบันการเงิน (อาจเป็นธนาคารหรือการรวมตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมทางการเงินและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง) ที่ให้บริการและดำเนินการทุกอย่างในรูปแบบ online เช่น ให้บริการผ่าน website, email หรือ mobile check deposit เป็นต้น

ปัจจุบัน กฎหมายในหลายประเทศได้อนุญาตให้ประกอบธุรกิจในแบบ Virtual Bank ได้ โดยประเทศที่ได้มีการให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank แล้ว เช่น ฮ่องกง (8 ราย) และไต้หวัน (3 ราย) เป็นต้น ซึ่งหากพิจารณาในโครงสร้างของ Virtual Bank แต่ละรายที่ได้รับอนุญาตไปแล้ว จะสังเกตเห็นว่า ผู้เล่นในธุรกิจ Virtual bank มักอยู่ในรูปแบบการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจแบบร่วมทุน (Joint Venture) ระหว่าง กลุ่มธุรกิจที่เติบโตมากจาก App-Based enable Service (เช่น line, Ctrip, Tencent และ Ant Financial) กลุ่มธุรกิจธนาคารเดิม (Standard Chartered Bank และ CTBC Bank) กลุ่มธุรกิจโทรคมนาคม (เช่น Chunghwa Telecom) และกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี (เช่น Jingdong Digital Technology) เป็นต้น

ยกตัวอย่างเช่น Virtual Bank license ในไต้หวัน FSC (Financial Supervisory Commission) ได้ให้ใบอนุญาตกับกลุ่มธุรกิจ Line Financial Taiwan ซึ่งเป็นการร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง Line Group, Taipei Fubon Commercial Bank, CTBC bank, Standard Chartered, Union Bank of Taiwan และบริษัทโทรคมนาคม FarEastTone 

อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติ การดำเนินการในรูปแบบ Virtual ในบางประเทศ ธนาคารยังคงรูปแบบ สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาอยู่เช่นเดิม เพียงแต่มีการใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างสำนักงานสาขาและสำนักงานใหญ่เข้าด้วยกัน หรือเชื่อมต่อการให้บริการกับลูกค้าผ่านระบบ Kiosks เป็นต้น เช่น ระบบ Virtual Banking system ของธนาคารในประเทศคูเวต

หลักเกณฑ์ในการกำกับ

ในแต่ละประเทศได้มีการออกกฎหมายเพื่อกำหนดเกณฑ์ในการให้ใบอนุญาตที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในเกาหลีใต้ Financial Services Commission (FSC) ได้มีการตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการให้อนุญาต (Special Act on Online-Only Banks) หรือในประเทศสิงคโปร์ แม้ในปัจจุบันยังไม่ได้มีการให้ใบอนุญาต Virtual Bank แต่ Monetary Authority of Singapore (MAS) ได้เปิดเผยถึงแนวทางกว้าง ๆ ในการให้ใบอนุญาต เช่น ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสิงคโปร์เท่านั้น โดยในการดำเนินธุรกิจในระยะแรกอาจมีการจำกัดการให้บริการอยู่เพียงแค่ผลิตภัณฑ์ บางประเภท โดยผลิตภัณฑ์ด้านการลงทุนมีความซับซ้อน เช่นการออกตราสารอนุพันธ์ และ proprietary trading ยังไม่สามารถดำเนินการได้ และที่สำคัญ Virtual Bank ที่จะได้รับอนุญาตจะต้องไม่มีรูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบกำจัดคู่แข่งเดิมที่มีอยู่ในตลาด (Disruptive Business Models)

อย่างไรก็ดี มีการคาดการณ์ว่าบริษัทที่สนใจจะยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank ในสิงคโปร์ เช่น InstaREM บริษัทให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ, Razer บริษัท FinTech รายใหญ่ รวมถึง Grab และ Singtel เป็นต้น

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่า Virtual Bank จะเป็นอีกรูปแบบการให้บริการทางการเงินที่มีบทบาทในยุค Bank 5.0 ซึ่งผู้ให้บริการทางการเงินในอนาคตจะไม่ใช่ธนาคารเพียงอย่างเดียว แต่เราจะเห็น Non-Bank, FinTech Startup และบริษัทเทคโนโลยีรายต่าง ๆ สนใจร่วมกันทำธุรกิจในลักษณะนี้ 

[บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน]