70 ปีประเทศจีน: บทเรียนและความท้าทาย

70 ปีประเทศจีน: บทเรียนและความท้าทาย

งานฉลอง 70 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมาต้องถือว่ายิ่งใหญ่

ทั้งพิธีสวนสนามของเหล่าทหารและประชาชนจีนชายและหญิงกว่าหนึ่งแสนคน การแสดงแสนยานุภาพของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ที่มโหฬารแบบไม่เคยมีให้เห็นมาก่อน และที่สำคัญคือ การกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่พูดให้กับคนจีน ทั้งที่อยู่ในประเทศและทั่วโลก ย้ำถึงความสำเร็จในการพัฒนาประเทศจีนจาก 70 ปีก่อนที่จีนมีแต่ความยากจน มาเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในทุกด้าน จนปัจจุบันได้ก้าวมาเป็นประเทศระดับผู้นำของโลก พร้อมกับความเป็นอยู่ของประชาชนจีนในประเทศกว่าพันล้านคนที่ดีขึ้นทั่วหน้า ที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงหนึ่งพันปีที่ผ่านมา เป็นความสำเร็จภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่นำมาสู่การเปลี่ยนประเทศอย่างสิ้นเชิง ที่คนจีนทั่วโลกภูมิใจ และประธานาธิบดีจีนย้ำว่า ความสำเร็จนี้จะมีต่อไปไม่หยุดนิ่ง โดยจีนจะก้าวหน้าต่อไปและจะไม่มีพลังใดที่จะมาสั่นคลอนและหยุดยั้งความก้าวหน้าของจีนได้ เป็นคำพูดที่คนทั่วโลกต้องฟัง

ความสำเร็จของจีนในการพัฒนาประเทศเป็นความมหัศจรรย์ที่ต้องยอมรับ ที่ระดับรายได้ต่อหัวของประชาชนจีนก้าวกระโดดจาก 54 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อคน ในปี 1952 มาเป็น 9,769 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2018 เพิ่มขึ้นเกือบ 200 เท่าในช่วง 66 ปีอัตราความยากจนของจีนที่นักวิชาการตะวันตกเคยกล่าวว่า “คนจีนส่วนใหญ่อยู่ในความยากจนมาตลอดประวัติศาสตร์ของประเทศ” ได้ลดลงอย่างไม่มีใครคาดว่าจะเกิดขึ้นได้ ประชาชนจีนกว่า 850 ล้านคน หลุดออกจากความยากจนในช่วงปี 35 ปี ของการพัฒนาประเทศ และประมาณว่า อัตราความยากจนของจีนปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 1.7 ต่ำกว่าประเทศไทยที่อัตราอยู่ที่ร้อยละ 7.9 ในปี 2017 จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการพัฒนาประเทศที่มีผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน แม้กลุ่มคนที่ยากไร้ที่สุดก็ได้ประโยชน์​

คำถาม คือ ประเทศจีนทำได้อย่างไร และอะไรคือบทเรียน ที่เราเรียนรู้จากความสำเร็จนี้

นายลี เคฮุย (Li Deshui) นักวางแผนเศรษฐกิจของจีน ได้เขียนบทความเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า การพัฒนาประเทศจีนช่วง 70 ปีที่ผ่านมา เป็นเหมือนการทดลองโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน เพื่อให้ได้รูปแบบการพัฒนาประเทศที่เหมาะสมกับประเทศจีน มีทั้งที่ล้มเหลวและที่ประสบความสำเร็จ

ในยุคต้น ความล้มเหลวงของการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบโซเวียต ภายใต้ระบบสังคมนิยม(1958 – 1962) ที่ต้องการนำผลผลิตส่วนเกินจากภาคเกษตรในระบบรวมมาขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยการตัดสินใจทั้งหมดมาจากส่วนกลางไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้คนจีนเป็นล้านๆ คนต้องเสียชีวิตจากความหิวโหย เมื่อการผลิตในภาคเกษตรเกิดความเสียหาย ตามมาด้วยการปฎิวัติวัฒนธรรมที่ทำให้การพัฒนาประเทศหยุดชะงักเกือบสิบปี(1966 – 1976) เมื่อคนจีนในประเทศถูกทำให้แตกแยกกันด้วยความคิดและอำนาจทางการเมือง มาสู่การปรับเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ที่ประชาชนเริ่มมีเสรีภาพมากขึ้นที่จะหาเลี้ยงชีพตามระบบตลาด มีการเปิดประเทศรับการลงทุนและเทคโนโลยีจากภายนอก ผสมผสานกับการใช้ประโยชน์ของแรงงานค่าแรงต่ำ การวางแผนและการลงทุนจากส่วนกลาง ทำจากเล็กไปใหญ่ สนับสนุนโดยบทบาทของธนาคารของรัฐในการระดมทุนของรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน และความสามารถของบริษัทธุรกิจจีนที่จะปรับใช้ และเลียนแบบเทคโนโลยีจากภายนอก สิ่งเหล่านี้ทำให้จีนกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมของโลกที่ผลิตสินค้ามากมายนำมาสู่การสร้างรายได้ การลงทุน และการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เติบใหญ่ขึ้นและเข้มแข็งในทุกมิติ พร้อมกับความยากจนในประเทศที่ลดลงอย่างรวดเร็ว

ในความเห็นของผม บทเรียนที่ทำให้เราต้องคิดจากความสำเร็จของจีนจะมีอยู่ 3 เรื่อง 

1.ความสำคัญของระบบตลาดและการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้ประชาชนใช้ความรู้ ความสามารถที่มีอยู่ สร้างชีวิต สร้างธุรกิจ สร้างการแข่งขัน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของตนเองที่ส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้งประเทศดีขึ้น พร้อมกับความมั่งคั่งและพลังทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศ เป็นความสำเร็จที่ย้ำความถูกต้องของปรัชญาแนวคิดของ “อดัม สมิธ” เมื่อสองร้อยปีก่อนว่า การใฝ่หาประโยชน์ส่วนตน(Self interest) ภายใต้ระบบกฎหมายที่ปกป้องและเคารพในสิทธิส่วนบุคคลจะนำไปสู่ประโยชน์ของส่วนร่วม คือ ของประเทศที่ดีขึ้น ประสบการณ์ของจีนช่วง 30 ปีแรก และ 40 ปีหลังที่ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศให้ผลแตกต่างกันชี้ชัดถึงบทเรียนข้อนี้

2.ความสำคัญของคุณภาพของประชาชนและการศึกษา ประเด็นนี้ชัดเจน แม้ในช่วงแรกที่การพัฒนาประเทศล้มเหลว แต่สิ่งหนึ่งที่จีนทำได้ดีก็คือการให้ความรู้และการศึกษาอย่างทั่วถึงแก่ประชาชน ที่อัตราการไม่รู้หนังสือลดลง และการเรียนการสอนมีคุณภาพขึ้น ทำให้แม้การพัฒนาจากส่วนกลางจะไม่ประสบความสำเร็จในช่วง 30 ปีแรก แต่ก็ได้วางรากฐานให้คนจีนมีความเข้มแข็งในเรื่องการหาความรู้และการเล่าเรียน เป็นพลังที่ทำให้เมื่อนโยบายจากส่วนกลางเปลี่ยนไปสู่การเปิดเสรีและระบบตลาด คนในประเทศก็สามารถต่อยอดและฉกฉวยโอกาสได้ทันที นำไปสู่การเติบโตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และพลังของการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดยอย่างที่เห็น

3.บทบาทที่เหมาะสมของภาครัฐ ที่ในช่วงแรกการเข้ามายุ่งกับการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจมากเกินไป ทั้งการวางแผนจากส่วนกลาง การออกนโยบายและการควบคุมทั้งการผลิต การกระจายรายได้ที่เกิดจากการผลิตและการตัดสินใจของประชาชนเรื่องการใช้จ่ายและการบริโภค ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั้งระบบไม่ไปไหน คนทั้งประเทศขาดแรงจูงใจที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตรงกันข้าม เมื่อบทบาทภาครัฐเปลี่ยนมาเป็นการสนับสนุนระบบตลาด เพื่อให้จีนสามารถนำเข้าเทคโนโลยี ส่งออกสินค้า และเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจโลก ขณะที่ภาคธุรกิจมีความเป็นเสรีมากขึ้นที่จะลงทุนและเผชิญความเสี่ยงในการทำธุรกิจตามศักยภาพที่มี ประเทศจีนก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ และปัจจัยสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของจีนก็คือ ปณิธานอย่างแรงกล้าของผู้นำจีนทุกสมัยที่ต้องการทำประเทศให้เจริญก้าวหน้าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้ดีขึ้น รวมถึงความสามารถของรัฐบาลที่มองไกล คิดเป็น และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างสำเร็จ(gettihg things done) สิ่งเหล่านี้ทำให้พลังทางเศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างเป็นระบบ สร้างความเข้มแข็งบนความเข้มแข็งจนประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ทั้ง 3 บทเรียน ผมคิดว่าสำคัญกับทุกประเทศที่ต้องการพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้า ประเทศไทยก็เช่นกัน ที่เราสามารถตั้งคำถามได้ทั้งสามเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสำคัญของระบบตลาดและการแข่งขัน คุณภาพของคนจากระบบการศึกษา ภาวะผู้นำและบทบาทของภาครัฐ

มองไปข้างหน้า จีนก็จะมีความท้าทายอีกแบบ คือ ทำอย่างไรที่จีนจะก้าวหน้าต่อไปได้อย่างที่ประธานาธิบดีและคนจีนทั้งประเทศอยากเห็น ในโลกที่จะไม่เหมือนเมื่อ 70 ปีที่ผ่านมา ที่จะเอื้อต่อการเติบโตและการเติบใหญ่ของจีนน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นภาวะเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐ การยอมรับของประเทศต่างๆ ต่อบทบาทของจีนในฐานะประเทศผู้นำ ปัญหาภายในจีนเองในเรื่องความเหลื่อมล้ำ การคาดหวังของประชาชนจีนที่สูงขึ้นในเรื่องคุณภาพชีวิตและสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมถึงความสามารถของพรรคคอมมิวนิสต์และผู้นำจีนที่จะมองไกลและคิดเป็นอย่างถูกต้องต่อไป เพื่อให้จีนสามารถก้าวต่อไปและได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก เป็นโจทย์ที่แตกต่างจาก 70 ปีที่ผ่านมา และเป็นคำตอบที่ทุกคนอยากรู้