Bill Gates ชูนิวเคลียร์ ต้านภัยโลกร้อน

Bill Gates ชูนิวเคลียร์ ต้านภัยโลกร้อน

บิล เกตส์ (Bill Gates) มหาเศรษฐีอันดับสองของอเมริกาจากการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes ปี 2019 โดยเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ในปี 1975

ได้ให้สัมภาษณ์และปรากฎตัวในสารคดีเรื่อง “Inside Bill’s Brain: Decoding Bill Gates” จากเน็ตฟลิกซ์ที่กำกับโดย Davis Guggenheim

ในปี 2000 บิลเกตส์ได้ร่วมกับภรรยา (Melinda Gates) ก่อตั้งมูลนิธิ “Bill & Melinda Gates Foundation (BMGF)” ขึ้นโดยได้บริจาคเงินต่อเนื่องให้กับมูลนิธิแล้วกว่า 28,000 ล้านดอลลาร์ พร้อมทั้งชักชวนเพื่อนและเหล่านักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จเข้าร่วมกันบริจาคในมูลนิธิ อาทิ นักธุรกิจเจ้าตำนานและเพื่อนเก่าอย่างวอร์เรน บัพเฟตต์ (Warren Buffett) ซึ่งได้ร่วมบริจาคเงินให้กับมูลนิธิ BMGF ตั้งแต่ปี 2006 โดยตั้งปณิธานที่จะมอบเงินจำนวน 37,000 ล้านดอลลาร์เพื้อใช้ในการพัฒนาสาธารณสุขและการศึกษา

นิวเคลียร์เพื่อสิ่งแวดล้อม

บิลเกตส์ได้กล่าวถึงการใช้พลังงานนิวเคลียร์เพื่อทดแทนการใช้พลังงานจากปิโตรเลียมเพื่อลดภาวะเรือนกระจกที่จะช่วยลดอุณหภูมิของผิวโลก โดยนิวเคลียร์นับเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน (Carbon-Free) เป็นแหล่งงานที่สามารถขยายการผลิตและให้ผลผลิตตลอด 24 ชั่วโมง ที่สำคัญจะช่วยลดความยากจนให้กับประชากรและช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนหลายล้านคนดีขึ้น

ปัญหาสำคัญที่ทำให้พลังงานนิวเคลียร์ไม่เป็นที่ต้องการ เกิดจากความหวาดกลัวต่อความไม่ปลอดภัยของกระบวนการผลิตพลังงานจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อาจเกิดระเบิดและสร้างความสูญเสียอย่างมากมายแก่ประชาชนและสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การระเบิดของโรงงานพลังงานนิวเคลียร์ที่ Chernobyl ในยูเครนเมื่อปี 1986 และความเสียหายของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ Fukushima ในญี่ปุ่นที่เกิดจากแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 2011

เทคโนโลยีการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ที่เกิดปัญหาขึ้นเป็นเทคโนโลยีที่ใช้มานานกว่า 50 ปี ซึ่งบิลเกตส์เชื่อว่าปัญหาของเครื่องปฏิกรณ์พลังงานนิวเคลียร์สามารถแก้ไขได้ด้วยนวัตกรรมด้าน Advanced Nuclear ที่ปลอดภัยและทันสมัย

นวัตกรรมนิวเคลียร์ขั้นสูง

ในปี 2006 บิลเกตส์ร่วมลงทุนและก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ “TerraPower” ซึ่งเป็นบริษัทออกแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ต้องการนำเทคโนโลยีด้าน Advanced Nuclear มาใช้ในการสร้างพลังงานสะอาดผ่านเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่มีขนาดเล็กลง ใช้ต้นทุนในการผลิตพลังงานที่ลดลงแต่ปลอดภัยมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “Traveling Wave Reactor (TWR)” 

เทคโนโลยี TWR ใช้เชื้อเพลิงจากยูเรเนียม-238 (หรือ Depleted Uranium) ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่เหลือจากกระบวนการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม (Enrichment) มาเป็นแหล่งพลังงาน จึงเป็นการกำจัดยูเรเนียม-238 ที่ไม่ใช้งานแล้วและมีมากกว่า 700,000 เมตริกตันในอเมริกามารีไซเคิลในกระบวนการนี้

ภายใต้การออกแบบเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบใหม่ โซเดียมเหลว (Liquid Sodium) ทำหน้าที่ส่งผ่านความร้อนภายในเครื่องปฏิกรณ์แทนการใช้น้ำในเทคโนโลยีการผลิตแบบเดิม โดยยูเรเนียม-238 จะให้นิวตรอนและความร้อนเพื่อใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า พร้อมทั้งเกิดปฏิกริยาฟิชชัน (Fission) เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องได้นานมากถึง 50 ปีหรือมากกว่าโดยไม่ต้องหยุดเครื่องปฏิกรณ์ ทำให้ลดขั้นตอนในกระบวนการผลิตและลดความสิ้นเปลือง ตลอดจนลดการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีระบบควบคุมการหยุดและการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อป้องกันอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามเทคโนโลยี TWR ยังเป็นเพียงความสำเร็จบนการออกแบบและคำนวณผ่านระบบ Simulation ในห้องควบคุม (Virtual TWR System) ที่จำลองกระบวนการทำงานของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ตั้งแต่เริ่มเดินเครื่องจนเต็มกำลังการผลิตเท่านั้น สืบเนื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่กำลังดำเนินอยู่จึงส่งผลให้ข้อตกลงความร่วมมือของ TerraPower กับบริษัทในประเทศจีนถูกระงับลง โดย TerraPower มีความหวังที่จะสามารถเริ่มก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์ทดลอง (Pilot) ในประเทศภายในกลางปี 2020

เทคโนโลยีเพื่อลดภาวะโลกร้อน

เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์สามารถให้พลังงานไฟฟ้าต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมงโดยไม่ต้องพึ่งลมฟ้าอากาศ แต่ก็อาจเกิดภัยร้ายแรงจากกระบวนการผลิตที่ผิดพลาด ขณะที่เทคโนโลยีระดับ Advanced Nuclear อย่าง TWR ยังต้องรอการทดสอบและโอกาสการผลิตเพื่อใช้จริงในระดับพาณิชย์ ซึ่งหากสำเร็จจะสามารถทดแทนการใช้พลังงานจากปิโตรเลียมและถ่านหินที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะเรือนกระจก และช่วยผลิตพลังงานสะอาดแก่ประชากรในทุกพื้นที่ของโลก ซึ่งสร้างโอกาสและความทัดเทียมในการใช้ชีวิตแก่ผู้คนจำนวนมาก