Robinhood กับสงครามหั่นค่าคอมมิชชั่นของโบรกเกอร์

Robinhood กับสงครามหั่นค่าคอมมิชชั่นของโบรกเกอร์

ปี 2019 เป็นปีที่สำคัญของ Robinhood เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญ

ในหลายบทความที่ผ่านมาผมได้พูดถึง Fintech Start-up ที่ชื่อ Robinhood ซึ่งเป็นบริษัทที่ผมชื่นชอบอย่างมากเป็นการส่วนตัว เนื่องจากมี Business Model ที่น่าสนใจโดยให้บริการเป็นนายหน้าซื้อขายหุ้นแบบที่ไม่เก็บค่าคอมมิชชั่นเลย ที่เรียกว่า Zero-commission Trading และเน้นการออกแบบ Mobile Application ให้สวยงามใช้งานง่าย จนกลายเป็น Finance Application แรกที่ได้รางวัล Apple Design Award เลยทีเดียว วันนี้ผมจึงอยากพูดถึงรายละเอียดของ Robinhood และสถานการณ์การแข่งขันล่าสุดในตลาด Online Broker ที่เพิ่งทวีความร้อนแรงอย่างมากเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

Robinhood ถูกก่อตั้งขึ้นโดย Vladimir Tenev และ Baiju Bhatt ซึ่งจบการศึกษาจาก Standford University มาด้วยกัน โดยที่ทั้งสองคนนี้เคยพัฒนาระบบ High Frequency Trading ให้กับสถาบันการเงินขนาดใหญ่มาก่อน จึงทำให้เห็น Pain Point ของนักลงทุนรายย่อยที่แข่งขันกับนักลงทุนสถาบันได้ยาก เนื่องจากมีต้นทุนค่าคอมมิชชั่นที่สูงกว่ามาก อีกทั้งยังมีเครื่องมือตัวช่วยด้านการวิเคราะห์การลงทุน และระบบการส่งคำสั่งซื้อขายที่ด้อยกว่าระบบของนักลงทุนสถาบันอยู่พอสมควร Co-founder + Co-CEO ทั้งสองคนนี้เลยตั้ง Robinhood ขึ้นมาในปี 2013 และได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่ม Millennials และกลุ่มนักลงทุนหน้าใหม่ จนทำให้ Robinhood มีจำนวนลูกค้าในปัจจุบันถึง 6 ล้านคน ความสำเร็จของ Robinhood ทำให้บริษัทมีมูลค่ากิจการประมาณ 7,600 ล้าน USD และขยายขอบเขตการให้บริการครอบคลุมทั้ง Common Stocks, ETFs, Options และ Cryptocurrencies นอกจากนี้ยังเริ่มขยายกิจการไปต่างประเทศอีกด้วย

หลายคนคงสงสัยว่า ถ้าไม่เก็บค่าคอมมิชชั่นแล้ว Robinhood จะเอารายได้จากไหน คำตอบคือ Robinhood จะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้กับเงินของลูกค้าที่ฝากเข้ามาเพื่อรอซื้อหุ้น แต่ Robinhood จะนำเงินส่วนนี้ไปหารายได้ในรูปแบบของดอกเบี้ยเข้ากระเป๋าตัวเอง โดยลูกค้าจะต้องฝากเงินเข้ามาที่บัญชี Robinhood ก่อนและต้องรอเป็นเวลา 5 - 6 วันทำการ จึงจะสามารถซื้อหุ้นได้ รายได้อีกทางหนึ่งคือการให้บริการแบบ Premium ผ่าน Robinhood Gold ซึ่งคิดค่าธรรมเนียมเหมาจ่าย 5 USD ต่อเดือน เพื่อให้ลูกค้าสามารถฝากเงินเข้ามาพร้อมซื้อหุ้นได้ทันทีในจำนวนเงินที่สูงขึ้น ได้อ่านบทวิเคราะห์จาก Morningstar ได้ดูราคาและปริมาณหุ้นในแต่ละ Bid Offer และยังได้ซื้อหุ้น Margin แบบไม่เสียดอกเบี้ยในวงเงิน 1,000 USD อีกด้วย (หากใช้วงเงิน Margin เพื่อกู้เงินมาซื้อหุ้นเกิน 1,000 USD จะถูกคิดดอกเบี้ยในอัตรา 5% ต่อปี) 

ปี 2019 เป็นปีที่สำคัญของ Robinhood เนื่องจากมีความเคลื่อนไหวเชิงกลยุทธ์ที่สำคัญสองเรื่องด้วยกัน คือ การเข้าซื้อกิจการ MarketSnacks ผู้ผลิต Content ด้านการลงทุนซึ่งกำลังเป็นที่ถูกใจของ Millennials กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Robinhood ถือเป็น M&A แรกของ Robinhood ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา 6 ปี และเรื่องที่สองคือการนำเสนอบริการ Cash Management บัญชีเงินฝากที่เชื่อมกับบัญชีลงทุนในรูปแบบของ Debit Card จาก Mastercard ซึ่งให้ดอกเบี้ยสูงถึง 2% โดยที่บริการนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ Robinhood ก้าวขึ้นมาแข่งขันอย่างชัดเจน กับสถาบันการเงินที่ให้บริการมานานหลายสิบปี

ความสำเร็จของ Robinhood บีบให้ผู้เล่นรายเดิมจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้แข่งขันได้ในระยะยาว จนในที่สุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา Charles Schwab ได้ออกมาประกาศไม่คิดค่าคอมมิชชั่น ตามมาด้วย TD Ameritrade และ E-Trade เป็นที่น่าจับตาว่าหลังจากนี้ Online Broker แต่ละรายจะมีกลยุทธ์ธุรกิจอะไรออกมาแข่งกันอีก และการไม่คิดค่าคอมมิชชั่นของรายอื่นจะส่งผลให้จำนวนผู้ใช้งาน Robinhood ลดลงหรือไม่ รวมถึงสถานการณ์ของ Broker ไทยจะเป็นอย่างไรหากกระแส Zero-commission Trading เข้ามาเยือน รอติดตามชมกันต่อไปครับ