ทำไม 'ปั่นหุ้น' หรือ 'ใช้อินไซด์' ไม่ต้องติดคุก

ทำไม 'ปั่นหุ้น' หรือ 'ใช้อินไซด์' ไม่ต้องติดคุก

ถ้าผู้กระทำความผิดยอมรับโทษทางแพ่ง ก็ทำให้ไม่ต้องถูกฟ้องอาญาอีกต่อไป !!

คำถามหนึ่งซึ่งหลายคนอาจเคยสงสัย คือเพราะเหตุใด ผู้ที่ 'ปั่นหุ้น' หรือใช้ 'ข้อมูลวงใน' ในตลาดหุ้นไทย จึงมักไม่ต้องรับโทษถึงขั้น 'จำคุก' เหมือนที่เป็นข่าวอยู่บ่อยๆ ในต่างประเทศ

เรื่องนี้ผมเคยเผยแพร่ในบล็อก ClubVI.com ไปแล้ว และมีผู้สนใจเยอะมาก จึงขอสรุปความแบบกระชับไว้ในที่นี้อีกครั้ง โดยข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากการปรึกษากับนักกฎหมายที่คร่ำหวอดกับกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ท่านหนึ่ง ดังนี้

ตาม พรบ.หลักทรัพย์ 2535 ความผิดกรณีปั่นหุ้นหรือใช้ข้อมูลวงในนั้น เดิมทีเดียวเป็น 'ความผิดอาญา' มีโทษทั้งปรับและจำคุก อย่างไรก็ตาม ใน พรบ. หลักทรัพย์ 2535 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในหมวด 12/1 เกี่ยวกับ 'มาตรการลงโทษทางแพ่ง' มาตรา 317/4 กำหนดโทษสำหรับการกระทำที่เราเรียกว่า 'ปั่นหุ้น' และ 'ใช้อินไซด์' ไว้เป็นสองส่วนหลักๆ

หนึ่งคือ 'เงินชดใช้' เช่น นาย ก. ใช้อินไซด์ ได้ประโยชน์มา 100 ล้านบาท ก็ต้องใช้คืนให้รัฐ '100 ล้านบาท' และสองคือ 'เงินค่าปรับ' เช่น นาย ก. ใช้อินไซด์ ได้ประโยชน์มา 100 ล้านบาท ต้องเสียค่าปรับสูงสุด '200 ล้านบาท' (100 ล้านบาท x 2) (เงินค่าปรับต้องไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท)

เพราะฉะนั้น นาย ก. อาจเสียเงินรวมสูงสุดจากการใช้ข้อมูลอินไซด์ 100 + 200 = 300 ล้านบาท สูงเป็นสามเท่าของประโยชน์ที่ได้รับมา ถือว่าหนักหนาสาหัสเอาการเลยทีเดียว

แม้กระนั้น นั่นก็ยังเป็นโทษ 'ทางแพ่ง' คือแค่ 'เสียเงิน' แต่เหตุที่ผู้กระทำผิดไม่ต้อง 'ติดคุก' ทั้งๆ ที่ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ ระบุไว้ชัดเจนว่า เป็น 'ความผิดอาญา' ก็เพราะ

มาตรา 317/7 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) วรรคหนึ่ง ระบุไว้ว่า 'เมื่อคณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่งเห็นควรให้นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิด และได้กำหนดวิธีการในการบังคับตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามควรแก่กรณีแล้ว และผู้กระทำความผิดยินยอมที่จะปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งตามที่กำหนด ให้สำนักงานจัดทำบันทึกการยินยอม และเมื่อผู้นั้นได้ชำระเงินครบถ้วนแล้ว ให้สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ'

นอกจากนี้ ตามมาตรา 317/8 'ในกรณีที่ผู้กระทําความผิดไม่ยินยอมที่จะระงับคดีตามมาตรา 317/7 ให้สํานักงานฟ้องผู้กระทําความผิดต่อศาลเพื่อกําหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งแก่ผู้กระทําความผิดนั้นต่อไป…' และ 'เมื่อศาลมีคําพิพากษาหรือคําสั่งกําหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งและผู้กระทําความผิดได้ชําระเงิน ครบถ้วนแล้ว ให้สิทธิในการนาคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ'

สรุปก็คือ ถ้าผู้กระทำความผิดยอมรับโทษทางแพ่ง ก็ทำให้ไม่ต้องถูกฟ้องอาญาอีกต่อไป และนี่เอง คือคำตอบว่าเพราะเหตุใด คนกระทำผิดจึงไม่ต้อง 'ติดคุก'