ภูฏานให้บทเรียนการท่องเที่ยว

ภูฏานให้บทเรียนการท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวสร้างงานและสร้างรายได้เข้าประเทศอย่างเป็นกอบเป็นกำ อย่างไรก็ดีทุกอย่างในโลกนี้ต้องมีความพอดีหากตึงไปหรือหย่อนไปก็ทำให้เกิดปัญหา

ดังเช่นภูฏานในปัจจุบันซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเพื่อนบ้านที่มีอิทธิพลทางการเมืองสูง สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ โครเอเชีย ฯลฯ ก็กำลังเป็นปัญหา บทเรียนจากประเทศเหล่านี้เป็นประโยชน์สำหรับประเทศไทยซึ่งอาจเผชิญกับสถานการณ์เดียวกันในอนาคตอันใกล้

คนไทยรู้จักและมีความรู้สึกที่ดีกับภูฏานก็เพราะ King Jigme Khesar Namgyel Wangchuck ผู้ซึ่งมีพระจริยวัตรอันงดงามเป็นที่ถูกจริตของคนไทย ภูฏานตั้งอยู่กลางเทือกเขาหิมาลัย ทิศเหนือติดทิเบต (จีน) และรายล้อมด้วยแผ่นดินอินเดียทางด้านตะวันออก ใต้ และตะวันตก อยู่ไม่ห่างจากเนปาลซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตก และไม่ห่างจากบังคลาเทศทางทิศใต้

ภูฏานมีประชากรประมาณ 750,000 คน มีพื้นที่ 38,000 ตารางกิโลเมตร 77% นับถือพุทธศาสนานิกายวชิรยาน อีก 23% เป็นฮินดู ประเทศนี้ไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเช่นเดียวกับไทย ภูฏานตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมระหว่างทิเบต-อินเดีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในอดีต เงินรายได้จากต่างประเทศอันดับแรกคือจากการขายไฟฟ้าที่ผลิตจากน้ำให้อินเดียและอันดับสองจากการท่องเที่ยว

เมื่อภูฏานเริ่มเปิดประเทศเต็มที่ มีรัฐธรรมนูญและเลือกตั้งในปี 2008 ภูฏานมีนโยบายในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างระมัดระวังเพราะกลัวทำลายธรรมชาติและความงดงามของประเทศ มีนโยบายที่เรียกว่า “high value, low impact” กล่าวคือสร้างรายได้สูงจากนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มากแต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ในแต่ละปีจะมีโควต้าของจำนวนนักท่องเที่ยวซึ่งล้วนแต่มีเงินเพราะมีเงื่อนไขให้ใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าวันละ 250 เหรียญสหรัฐและต้องพักโรงแรมชั้นดี

นับแต่เปิดให้มีการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2001 จนถึง 2012 มีนักท่องเที่ยวไม่เกินปีละ 100,000 คน ความงดงามและความบริสุทธิ์แปลกใหม่ของดินแดนทำให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งขึ้นจนถึง 274,000 คน ในปี 2018 หรือ 1 ใน 3 ของจำนวนประชากร การเพิ่มเกือบ 3 เท่าตัวในเวลาเพียง 6 ปี ทำให้เกิดความไม่พอใจแก่ผู้ชอบสไตล์การท่องเที่ยวแบบเดิมที่มีคนไม่มาก ภูมิประเทศเป็นธรรมชาติ พูดสั้นๆ ก็คือ บางคนกล่าวหาว่ามันได้กลายเป็น mass tourism ซึ่งนำเงินเข้าประเทศได้ถึง 85.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2018 ไปแล้ว

ประเด็นที่เป็นปัญหาก็คือ ในจำนวน 274,000 คนนี้ กว่า 200,000 คน เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคโดยมีจากอินเดียอย่างท่วมท้นและบางส่วนมาจากบังคลาเทศ ในปี 2012 มีนักท่องเที่ยวจากอินเดียเพียง 50,000 คนเท่านั้น นักท่องเที่ยวแต่ละชาติก็มีลักษณะประจำชาติแตกต่างกันออกไป นักท่องเที่ยวจากอินเดียแตกต่างจากนักท่องเที่ยวเดิมที่เป็นคนมีเงินมาจากทั่วโลกซึ่งชอบความเป็นระเบียบ ความเงียบสงบ จึงรู้สึกไม่พอใจจนเกรงว่าอาจจะมีจำนวนลดลงในอนาคตและถูกครอบงำโดยนักท่องเที่ยวจากอินเดีย

สำหรับนักท่องเที่ยวจากอินเดียแล้ว ภูฏานมีกฎยกเว้นเป็นพิเศษ กล่าวคือไม่ต้องมีโควต้า ไม่ต้องมีเงื่อนไขจ่ายเงินค่าใช้จ่ายต่ำสุดต่อวันและสามารถพักในโรงแรกขนาดเล็กที่มีมากเป็นดอกเห็ดได้ ทำไมนักท่องเที่ยวอินเดียจึงมีสิทธิพิเศษ? ถ้าดูแผนที่และพิจารณาภูมิรัฐศาสตร์แล้วจะเห็นใจรัฐบาลภูฏาน นอกจากอินเดียจะเป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่สุดรายเดียวและภูฏานนำเข้าสินค้าจากอินเดีย 80% แล้ว อินเดียยังเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคที่มีประชากรถึง 1,300 ล้านคน การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับอินเดียเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นพิเศษ

ลองพิจารณาเรื่องประเทศสิกขิม (Sikkim) ดูแล้วจะเข้าใจเสียงที่ดังของนักท่องเที่ยวจากอินเดีย ก่อนหน้าปี 1975 สิกขิมเป็นประเทศเอกราชที่อยู่ติดกับภูฏานทางทิศตะวันตก แต่ด้วยอิทธิพลของอินเดียก็ได้กลายเป็นรัฐที่ 22 ของอินเดียไปในที่สุด ภูฏานเห็นประวัติศาสตร์ชัดเจนและตระหนักดีกว่าเป็นประเทศเล็กที่มีอาณาเขตติด 2 มหาอำนาจของโลกคือจีน (ธิเบตเพื่อนบ้านก็ถูกยึดครองโดยจีนในปี 1950) และอินเดีย

การจำยอมรับนักท่องเที่ยวจากอินเดียซึ่งแตกต่างจากอดีตที่ใช้จ่ายเงินกันสูงโยงใยกับการเมืองระดับประเทศอย่างมิต้องสงสัย อย่างไรก็ดี ล่าสุดรัฐบาลใหม่ของภูฏานวางแผนที่จะกำหนดโควต้านักท่องเที่ยวจากภูมิภาคหรืออินเดียในแต่ละปี และให้มีการขอวีซ่าออนไลน์ก่อนเข้าเมืองสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาทางถนนและเก็บค่าธรรมเนียมเข้าประเทศเฉกเช่นเดียวกับที่ปฏิบัติกับนักท่องเที่ยวอื่น ๆ แผนการนี้ในที่สุดจะเป็นจริงเพียงใดและภูฏานจะยังรักษาชื่อเสียงของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยสดบริสุทธิ์อยู่ตลอดไปหรือไม่ ต้องเฝ้าดูกันต่อไป

ลองหันมาดูนักท่องเที่ยวเข้าไทยกันบ้าง ในปี 2009 เรามีนักท่องเที่ยว 14 ล้านคน และเพิ่มเป็น 38.3 ล้านคนในปี 2018 หากแยกรายประเทศก็พบว่าในปี 2018 อันดับ 1 คือ จีน 10.5 ล้านคน (เพิ่มจาก 826,000 คน ในปี 2008) / อันดับ 2 คือ มาเลเซีย 4 ล้านคน / อันดับ 3 เกาหลีใต้ 1.8 ล้านคน / อันดับ 4 ลาว 1.75 ล้านคน / อันดับ 5 ญี่ปุ่น 1.7 ล้านคน / อันดับ 6 อินเดีย 1.6 ล้านคน / อันดับ 7 รัสเซีย 1.4 ล้านคน / อันดับ 8 สหรัฐอเมริกา 1.12 ล้านคน / อันดับ 9 คือ ฮ่องกง สิงคโปร์ เวียดนามประเทศละ 1 ล้านคน ส่วนรองลงมาใกล้หลักล้านคือ อังกฤษ ออสเตรเลีย กัมพูชา ถ้าพิจารณานักท่องเที่ยวจากประเทศอาเซียนก็พบว่าเพิ่มขึ้นจาก 3.9 ล้านคน ในปี 2008 เป็น 10.3 ล้านคน

3 ประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมากกว่าประชากร คือ ฝรั่งเศส สเปน และอิตาลี ประเทศเหล่านี้มีปัญหาเพราะคนพื้นถิ่นไม่พอใจ รู้สึกอึดอัดกับการแย่งชิงทรัพยากร เพิ่มภาระการจราจร ต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ราคาที่ดินสูง ฯลฯ ซึ่งตรงข้ามกับความรู้สึกของคนอีกส่วนหนึ่งที่ทำมาหากินกับนักท่องเที่ยว

ในสเปนมีความรู้สึกลบต่อนักท่องเที่ยวจนมีการจัดตั้งขบวนการต่อต้านเพราะทำให้ที่พักแพง ความกินอยู่และคุณภาพของคนบางส่วนเลวร้ายลง ชาวเวนิชในอิตาลีก็ไม่พอใจนักท่องเที่ยวเพราะทำให้ค่าเช่าบ้านสูงขึ้นในขณะที่เมืองกำลังจมน้ำจนมีคนย้ายออกปีละนับพันคน

เมืองดูบรอฟนิกในโครเอเชียมีโควต้าสำหรับนักท่องเที่ยวในแต่ละวัน อัมสเตอร์ดัมในเนเธอร์แลนด์ โรมในอิตาลีก็เหนื่อยหน่อยกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมากเกินไปจนมีความรู้สึกที่เป็นลบมากขึ้น

บนเรียนเกี่ยวกับนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาไม่นานเหล่านี้ประเทศไทยควรเรียนรู้และป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกที่เป็นลบกับการท่องเที่ยวซึ่งกลายเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย