เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะหยุดชะงักจริงหรือ

เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะหยุดชะงักจริงหรือ

จากการที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยืดเยื้อมากว่า 500 วัน และยังคงไม่มีความชัดเจนว่าจะยุติเมื่อใด

ส่งผลให้เศรษฐกิจของหลายประเทศขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่อง โดยมีนักวิเคราะห์บางส่วนเริ่มมองว่าเศรษฐกิจโลกอาจเติบโตใกล้ 0% กล่าวคือ เข้าสู่ภาวะซบเซาหรือชะงักงัน (stagnation) แต่ยังไม่ถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession)

หากแยกพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยการประเมินล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 2.1% เป็น 2.2% และคงคาดการณ์สำหรับปีหน้าไว้ที่ 2.0% ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์อัตราการเติบโตเฉลี่ยในระยะยาวที่ 1.9%  โดยที่ตัวเลขเศรษฐกิจหลักของสหรัฐยังคงบ่งชี้ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง เช่น อัตราการว่างงานที่อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี ค่าจ้างแรงงานยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นสัญญาณว่าการใช้จ่ายของผู้บริโภคจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง สอดคล้องกับยอดค้าปลีกที่เติบโตต่อเนื่อง  อย่างไรก็ดี ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตและภาคบริการของสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM) ที่ปรับตัวลดลง และผลกำไรของบริษัทที่เติบโตในระดับต่ำ ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐอาจกำลังจะชะลอตัวลง ซึ่งในกรณีนี้ นักวิเคราะห์บางส่วนแย้งว่าดัชนี ISM เป็นดัชนีชี้นำถึงภาวะเศรษฐกิจในอนาดตก็จริง แต่ส่วนหนึ่งมีความคาดหวังในอนาคตมาเกี่ยวข้องในการคำนวณดัชนี ซึ่งอาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ก็ได้  ในขณะที่ผลกำไรของบริษัทสหรัฐส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบมาจากการที่บริษัทสหรัฐลงทุนในต่างประเทศ จึงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ ไม่ได้มาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ

ในส่วนของยุโรป มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะชะงักงันค่อนข้างสูง เนื่องจากตัวเลขจีดีพีของยุโรปชะลอตัวลงต่อเนื่อง อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูง และตัวเลขยอดค้าปลีกออกมาอ่อนแอต่อเนื่อง ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเช่นเดียวกับดัชนี ISM ของสหรัฐ ตัวเลขล่าสุดบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจยุโรปในไตรมาส 3/62 แทบไม่ขยายตัว โดยทางมาร์กิตซึ่งเป็นผู้จัดทำดัชนี PMI ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจยุโรปในไตรมาส 3/62 อาจขยายตัวได้สูงสุดเพียง 0.1% จากไตรมาสก่อนหน้า และยุโรปยังได้รับแรงกดดันจากปัญหา Brexit รวมถึงความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐที่อาจมีมากขึ้น  ดังนั้น เศรษฐกิจยุโรปจึงอยู่ในภาวะเสี่ยงสูง แต่ผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจยุโรปต่อเศรษฐกิจโลกอาจไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ยุโรปมีการค้าขายกันในกลุ่มประเทศสมาชิกเป็นหลัก

สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างชัดเจน เนื่องจากสหรัฐและจีนเป็นคู่ค้าหลักของญี่ปุ่น อีกทั้งญี่ปุ่นมีความขัดแย้งกับเกาหลีใต้ ส่งผลให้ภาคการส่งออกของญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง  ในขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้บริโภครีบใช้จ่ายก่อนที่จะมีการขึ้นภาษีการค้าในวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา  อย่างไรก็ดี การที่ภาคส่งออกของญี่ปุ่นอ่อนแอ ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า บริษัทต่างๆที่มีการลงทุนในต่างประเทศจึงมีผลประกอบการที่ดีขึ้นจากการส่งเงินกลับประเทศ ดังนั้น จึงต้องติดตามถึงผลกระทบจากการขึ้นภาษีการค้าว่ามีผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่

ส่วนเศรษฐกิจจีน ถึงแม้ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าโดยตรง แต่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะยังคงขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 6% และเศรษฐกิจในแต่ละไตรมาสยังคงขยายตัวสูงกว่า 1% จากไตรมาสก่อนหน้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ถึงแม้ตัวเลขยอดค้าปลีกในช่วงที่ผ่านมาชะลอตัวลง แต่ก็ยังคงเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และข้อมูลล่าสุดบ่งชี้ว่ายอดค้าปลีกในช่วงวันหยุดฉลองวันชาติ (Golden week) ปีนี้เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง บ่งชี้ว่า ความสามารถในการใช้จ่ายของชาวจีนยังคงอยู่ในระดับสูง  ทั้งนี้ รัฐบาลจีนยังคงมีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับสูง หนี้สินโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ และมีการเกินดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง  ในขณะที่สงครามการค้ากับสหรัฐเป็นการเร่งให้จีนพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง รวมถึงมีการกระจายการลงทุนออกไปนอกประเทศมากขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวลงจากผลกระทบจากสงครามการค้าอย่างชัดเจน โดยหลายหน่วยงานต่างปรับลดคาดการณ์จีดีพีปีนี้ลงจากเมื่อสิ้นปีที่แล้วที่คาดว่าอาจโตใกล้ 4% ลงเหลือโตต่ำกว่า 3% โดยมีสาเหตุหลักจากการหดตัวของภาคส่งออก ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกเติบโตค่อนข้างต่ำจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท  อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายคาดว่าตัวเลขเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำ และได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ดังนั้น ในภาพรวมแล้ว เศรษฐกิจโลกยังไม่มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะ stagnation ในระยะอันใกล้นี้ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจหลักยังคงมีแนวโน้มเติบโต  อย่างไรก็ดี ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจจะยังคงเป็นปัจจัยรบกวนที่ส่งผลให้ตลาดหุ้น ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์มีความผันผวนสูง  นักลงทุนจึงควรติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิด และลงทุนให้เหมาะกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้