e-Filing: ทางเลือกใหม่ การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

e-Filing: ทางเลือกใหม่ การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง

ศาลปกครองเป็นศาลที่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษา “คดีปกครอง” ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย

หรือเนื่องมาจากการดำเนินกิจการทางปกครองของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในอดีตการฟ้องทำได้เพียง 2 วิธี คือ การยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของศาล และการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน แต่ปัจจุบัน มีการเพิ่มวิธีฟ้องคดีใหม่อีก 2 ช่องทาง คือ การส่งทางโทรสาร และการฟ้องคดีทางอิเล็กทรอนิกส์(e-Filing)

การยื่นคำฟ้องทางโทรสาร (Fax) กฎหมายกำหนดให้ส่งไปยังหมายเลขโทรสาร ตามที่สำนักงานศาลแต่ละแห่งประกาศกำหนด โดยให้ถือว่าวันที่ปรากฏในหลักฐานการรับโทรสารของสำนักงานศาลเป็นวันที่ส่งคำฟ้องต่อศาลปกครอง ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้ผู้ฟ้องคดีต้องจัดส่งต้นฉบับคำฟ้องต่อเจ้าหน้าที่ของศาลในโอกาสแรกที่จะกระทำได้อีกด้วย (ดู ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 ข้อ 20)

แม้การส่งทางโทรสารจะสะดวก รวดเร็ว แต่ก็มีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ เอกสารที่ปลายทางอาจไม่ชัดเจนหรือผิดเพี้ยน กรณีที่เอกสารมีจำนวนมากย่อมต้องใช้เวลาในการจัดส่งพอสมควร นอกจากนี้ ผู้ฟ้องคดีอาจมีภาระค่าใช้จ่ายในการจัดส่ง และท้ายที่สุดก็ยังต้องจัดส่งต้นฉบับคำฟ้องให้เจ้าหน้าที่ของศาลปกครองอีก

ด้วยข้อจำกัดดังที่กล่าวมา จึงอาจทำให้ผู้ฟ้องคดีบางรายตัดสินใจกลับไปเลือกใช้วิธีการดั้งเดิม แต่อันที่จริงยังมีการยื่นคำฟ้องอีกวิธีที่สามารถทำได้ คือ การฟ้องคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Filing) โดยผู้ที่ประสงค์จะยื่นคำฟ้องต้องเข้าไปลงทะเบียนในระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ (e-Litigation Portal)ก่อน หลังจากนั้นผู้ลงทะเบียนจะได้รับชื่อผู้ใช้ระบบ (Username) และรหัสผ่าน (Password) สำหรับเข้าใช้งานในระบบ

การฟ้องคดีทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการยื่นคำฟ้องโดยส่งทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) หรือสื่อดิจิทัลอื่นใด โดยกฎหมายให้ถือว่าวันที่ข้อมูลเข้าสู่ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์เสร็จสมบูรณ์ เป็นวันที่ส่งคำฟ้องต่อศาลปกครอง ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีอาจยื่นคำฟ้องได้ทั้งในเวลาและนอกเวลาทำการปกติ แต่กรณีที่ยื่นคำฟ้องนอกเวลาทำการ กฎหมายให้ถือว่ายื่นในวันทำการแรกที่ศาลเปิดทำการปกติ (ดู ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 ข้อ 17 และข้อ 18)

การฟ้องคดีทางอิเล็กทรอนิกส์มีนัยสำคัญในทางวิธีพิจารณาที่ผู้ฟ้องคดีต้องทราบก่อนตัดสินใจเลือกใช้วิธีนี้ เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดเอาไว้ว่า “การยื่นคำฟ้องต่อศาลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ถือว่าผู้ฟ้องคดีมีความประสงค์ที่ให้มีการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ในเวลาต่อไปด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์” นั่นหมายความว่า การเลือกใช้วิธีการยื่นคำฟ้องด้วยวิธีนี้ เท่ากับเป็นการแสดงเจตนาว่าจะดำเนินกระบวนพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ หลังจากนั้นโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย

อนึ่ง กรณีที่ผู้ฟ้องคดีไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาภายหลังยื่นคำฟ้องด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ กฎหมายเปิดช่องให้สามารถยื่นคำร้องต่อศาล โดยต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งศาลจะพิจารณาเหตุผลดังกล่าว หากศาลอนุญาต ผู้ฟ้องคดีจึงจะสามารถกลับไปดำเนินกระบวนพิจารณาโดยวิธีปกติได้ (ดู ระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2562 ข้อ 19)

ระบบงานคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้เริ่มเปิดใช้งานตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.2562 เป็นต้นมา แต่เป็นการเปิดใช้งานเฉพาะในส่วนกลางคือในศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดก่อน สำหรับศาลปกครองชั้นต้นที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ จะเริ่มเมื่อใดนั้น คงต้องติดตามประกาศของอธิบดีศาลปกครองชั้นต้นแต่ละแห่ง ซึ่งจะประกาศการเริ่มใช้งานระบบต่อไป

ความพยายามที่จะผลักดันศาลปกครองไปสู่การเป็นศาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Court) แม้ปัจจุบันยังดูเป็นเรื่องใหม่และยังไม่ได้รับความนิยม แต่ภายใต้บริบทที่สังคมก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ผู้เขียนจึงเชื่อว่า การฟ้องคดีตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาทางอิเล็กทรอนิกส์น่าจะมีบทบาทมากขึ้นในระยะถัดไป ปัจจุบันไม่เพียงแต่ศาลปกครองเท่านั้น แต่ศาลยุติธรรมก็กำลังปรับตัวไปสู่การเป็นศาลอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ ประชาชนตลอดจนผู้ที่ปฏิบัติงานในภาครัฐจึงควรสนใจศึกษาและติดตามความเปลี่ยนแปลงนี้ โดยเฉพาะหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลาย พึงตระหนักว่า กรณีที่มีการออกคำสั่งเรื่องใดและคำสั่งนั้นอาจฟ้องต่อศาลปกครองได้ ผู้ออกคำสั่งต้องระบุวิธีการยื่นคำฟ้องไว้ในคำสั่งนั้น และปัจจุบันศาลปกครองได้เพิ่มช่องทางใหม่ในการฟ้องคดีซึ่งหน่วยงานและเจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องจดแจ้งเรื่องนี้ลงในคำสั่งให้คู่กรณีทราบ.

โดย... 

อนุชา อชิรเสนา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์