แก่นคิดการพัฒนาจีน

แก่นคิดการพัฒนาจีน

จีนเพิ่งฉลองวันชาติไปอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา มีหลายคนถามผมว่า 70 ปีของการพัฒนาที่รวดเร็วของจีน

พวกเราไม่ว่าจะในระดับบุคคล ธุรกิจ หรือประเทศสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้าง

อันดับแรกผมต้องย้ำเน้นก่อนว่า การพัฒนาที่รวดเร็วจริงๆ ของจีนนั้น เกิดขึ้นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานี้เอง นั่นก็คือเกิดขึ้นหลังการเปิดและปฏิรูปประเทศของเติ้งเสี่ยวผิง ในปี ค.ศ. 1978

แน่นอนครับว่าเหมาเจ๋อตุง ซึ่งปกครองจีนมาก่อนหน้านั้นยาวนานเกือบ 30 ปี (ค.ศ. 1949-1976) ได้สร้างรากฐานที่สำคัญไว้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการรวมประเทศเป็นปึกแผ่น การปฏิรูปที่ดิน การเริ่มต้นพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ในขณะเดียวกัน เหมาเจอตุงก็ทำผิดพลาดไว้มากเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความล้มเหลวของนโยบายเศรษฐกิจแบบวางแผนรวมศูนย์จากส่วนกลาง รวมทั้งการปฏิวัติวัฒนธรรม ซึ่งยังคงเป็นรอยแผลลึกในประเทศจีน

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของเติ้งเสี่ยวผิงเมื่อ 40 ปีที่แล้ว อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการบริหารจัดการประเทศครับ

หลายคนบอกว่า จีนยากที่จะเป็นตัวอย่างให้เราได้ เพราะจีนเป็นประเทศขนาดใหญ่ มีความได้เปรียบเรื่องขนาด และมีรัฐบาลที่แข็งแกร่งเป็นพิเศษ แต่จริงๆ แล้วในเรื่องวิธีคิดในการบริหารจัดการประเทศของจีน ไทยเราสามารถเรียนรู้จากจีนได้ครับ

วิธีคิดดังกล่าว ผมเรียกง่ายๆ ว่า “แก่นคิด 3 E” มีจุดเน้นที่สามคำครับ

E ตัวแรกคือ เน้น Education หรือการศึกษา สิ่งแรกที่เติ้งเสี่ยวผิงทำ เมื่อขึ้นมาเป็นผู้นำ ก็คือการรื้อฟื้นระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

มีเรื่องเล่าว่าเติ้งเสี่ยวผิงเรียกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษามาสั่งให้รื้อฟื้นการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ตัวรัฐมนตรีตอบว่าจะรับไปดำเนินการให้ทันจัดสอบครั้งแรกในปีหน้า เติ้งเสี่ยวผิงตอบว่าให้เริ่มจัดสอบตั้งแต่ปีนี้เลย

เพราะฉะนั้นเมื่อปีที่แล้วที่จีนฉลองครบรอบ 40 ปี ของการเปิดและปฏิรูปประเทศ ก็เป็นปีเดียวกับที่ครบรอบ 40 ปี ของการเริ่มมีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้วย

จีนให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการศึกษาวิทยาการและเทคโนโลยีจากตะวันตก ประโยคเด็ดที่ทุกคนรู้จักดีของเติ้งเสี่ยวผิงที่เอามาจากสำนวนเสฉวนว่า “ไม่ว่าจะเป็นแมวขาวหรือแมวดำ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ” นอกจากจะมีนัยว่าไม่สนใจว่าจะเป็นระบบทุนนิยมหรือสังคมนิยม แต่ยังมีความหมายอีกนัยหนึ่งว่าไม่สนใจว่าเป็นความรู้จีนหรือความรู้ฝรั่ง ขอแค่สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์กับประเทศเป็นพอ

E ตัวที่สอง คือ Execution หรือแปลว่าการลงมือทำ คำพูดที่มีชื่อเสียงของเติ้งเสี่ยวผิงก็คือ “คลำก้อนหินข้ามแม่น้ำ” ความหมายก็คือถ้าตั้งใจจะข้ามแม่น้ำ ก็ต้องลงมือข้ามจริง ค่อยๆ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ ถ้าขืนมัวนั่งวางแผนหวังจะให้สมบูรณ์แบบก่อน คงจะไม่มีทางข้ามแม่น้ำได้สำเร็จ

ตั้งแต่เปิดและปฏิรูปประเทศเป็นต้นมา เราจะเห็นพลังของการลงมือสร้าง ลงมือทำ ลงมือขับเคลื่อนของรัฐบาลจีนและผู้ประกอบการชาวจีน แจ็คหม่าเองในการก่อร่างสร้างตัวอาลีบาบา อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีน ก็อาศัยการลงมือทำจริง และปรับปรุงพัฒนาโมเดลธุรกิจอย่างรวดเร็ว

E สุดท้าย ก็คือ Experimentation หมายถึง การลองผิดลองถูก พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการกล้าทดลอง และจำกัดความเสี่ยงด้วยการทดลองในพื้นที่หรือโครงการหนึ่งก่อน

เติ้งเสี่ยวผิงไม่ได้ต้องการเปลี่ยนประเทศจีนทั้งประเทศทีเดียว เพราะทำเช่นนั้นย่อมไม่รู้ว่า นโยบายที่คิดถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งคนที่ยังไม่เห็นผลสัมฤทธิ์ของนโยบาย ย่อมจะออกมาขัดขวางและวิพากษ์วิจารณ์มากมาย

สิ่งที่เติ้งเสี่ยวผิงทำคือทำการทดลองก่อน โดยเลือกหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ชื่อเสินเจิ้น ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งแรกของจีน โดยลองดึงดูดนักลงทุนจากเกาะฮ่องกงซึ่งอยู่ใกล้เคียง และลองจัดให้มีกฎหมายที่เอื้อให้กับนักลงทุน พอเสินเจิ้นประสบความสำเร็จ เมืองอื่นๆ ก็อยากจะปฏิรูปตามแบบเสินเจิ้น กระแสขัดขวางการปฏิรูปก็ลดน้อยลง เพราะคนเห็นตัวอย่างผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน

จริงๆ แล้วสิ่งที่เติ้งเสี่ยวผิงและทีมผู้ขับเคลื่อนนโยบายการปฏิรูปยุคแรกทำผิดพลาดก็มีมาก แต่พอเกิดผิดพลาด ก็ยังจำกัดบริเวณอยู่ในเขตทดลอง และรีบแก้ไขปรับปรุงนโยบายจนเกิดผลสำเร็จ พอนโยบายสำเร็จแล้ว จึงค่อยโปรโมทขยายผลไปใช้ทั่วประเทศ

ถ้าใครที่เคยไปเมืองจีน จะสังเกตเห็นว่า มีอนุสาวรีย์และรูปปั้นเหมาเจ๋อตงเต็มไปหมด แต่ไม่มีอนุสาวรีย์ของเติ้งเสี่ยวผิง เพราะท่านสั่งไว้ว่าไม่ต้องการอนุสาวรีย์ เนื่องจากอนุสาวรีย์ของท่านก็คือเมืองเสินเจิ้นนั่นเอง

E สามตัวที่กล่าวมานี้ จริงๆ มีความเชื่อมโยงกัน Education ทำให้มี know-how พอจะรู้ทิศทางว่าควรจะปรับปรุงและดำเนินนโยบายอย่างไร รวมทั้งมีทรัพยากรมนุษย์ที่จะขับเคลื่อนการพัฒนา ส่วน Execution ทำให้สามารถเริ่มนโยบายได้เลยโดยไม่รอช้า และ Experimentation ทำให้สามารถจำกัดความเสี่ยง ลดกระแสต่อต้าน เปิดทางให้เรียนรู้ผิดถูกได้อย่างรวดเร็วและแก้ไขปรับปรุงอย่างทันท่วงที

มีนักวิเคราะห์ฝรั่งบอกว่า กระแสความคิดใหม่ๆ ในการพัฒนาธุรกิจ เช่น การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ที่เน้นการลองผิดลองถูก ล้มเหลวให้เร็ว และรีบปรับแก้ไขจนสำเร็จ หรือแม้แต่แนวทางใหม่ของการทำนโยบายโดยให้มีสนามทดสอบนโยบาย (regulatory sandbox) ทดลองทางนโยบายก่อน พื้นฐานแนวคิดเหล่านี้จริงๆ ได้เกิดขึ้นที่จีนมายาวนาน

เพราะฉะนั้นท่ามกลางความยิ่งใหญ่ของการฉลองความสำเร็จของการพัฒนาประเทศในวาระ 70 ปีของการสร้างชาติจีน คงต้องย้ำเน้นว่า ความสำเร็จของจีนอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงวิธีคิดวิธีปฏิบัติเมื่อ 40 ปี ที่แล้วที่เน้นการเรียนรู้จากภายนอก เน้นการลงมือทำจริง และเน้นการลองผิดลองถูกนั่นเองครับ