Social Lab แบบไหนที่ใช่และดีต่อใจ?

Social Lab แบบไหนที่ใช่และดีต่อใจ?

Social Lab หรือห้องปฏิบัติการทางสังคม เป็นความหวังหนึ่งที่ประเทศต่างๆ พยายามสร้างขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการร่วมกัน

แก้ไขปัญหาสังคมที่สลับซับซ้อนและสามารถดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั้งระบบมาร่วมค้นหาคำตอบที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติจริงอย่างสร้างสรรค์และสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นจริงในสังคมในวงกว้าง

กรณีตัวอย่าง Social Lab ที่ได้รับการยอมรับและชื่นชมจากทั่วโลก คือ Sustainable Food Lab ซึ่งเริ่มดำเนินการปี 2547 ในรูปแบบขององค์กรเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร มีเป้าหมายที่ชัดเจนเพื่อสร้างระบบอาหารของโลกที่มีความยั่งยืน เน้นให้เกิดการลงมือทำจริงในสังคม

Social Lab แห่งนี้ได้ช่วยทำระบบห่วงโซ่อาหารของโลกมีความยั่งยืนมากขึ้น จากอดีตภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้เล่นในระบบอาหารที่สำคัญและมีอิทธิพลสูงมักจะมีทัศนคติต่อเรื่องนี้ในเชิงตั้งรับ เน้นเพียงทำตามข้อบังคับหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ขาดการมองในเชิงรุกว่า การสร้างความยั่งยืนคือการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในกิจการหรือเป็นบทบาทสำคัญของความเป็นพลเมืองโลก ผลงานเชิงประจักษ์ที่สำคัญของ Sustainable Food Lab แห่งคือ บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Unilever ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายความยั่งยืนของบริษัทสู่การกำหนดเป้าหมายลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environment Footprint) ลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2020 และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมี Social Lab อีกหลายแหล่งทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จ อาทิ Socia Lab ในชิลี ที่เน้นสร้างวิสาหกิจใหม่เพื่อกำจัดความยากจน Resilient Japan ที่เน้นแก้ปัญหาที่ชุมชนชาวญี่ปุ่นได้เผชิญจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและซึนามิ เมื่อปี 2554 หรือ Living Lab ในฟินแลนด์ที่เน้นการออกแบบบริการรูปแบบใหม่สำหรับผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตาม มี Social Lab ในประเทศพัฒนาแล้วจำนวนไม่น้อยที่ประสบกับปัญหาและต้องปิดตัวลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ความท้าทายของการบริหาร Social Lab 

Social Lab เป็นแพลตฟอร์มการออกแบบโซลูชั่นที่ใช้ได้จริงให้กับสังคมที่มีความยากในการบริหารจัดการในระยะสั้นหลายมิติ ทั้งในด้านการมีลูกค้าหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่มที่มีมุมมองและความต้องการที่ต่างกัน แพลตฟอร์มนี้จึงต้องการการวิเคราะห์ที่เป็นระบบสูงมาก ต่างจาก Design Lab ที่เน้นลูกค้าที่เป็นผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลางเป็นหลัก

นอกจากนี้ Social Lab ยังมีความซับซ้อนสูงจากการที่ต้องใช้ความรู้จากหลายสาขาวิชา ความชำนาญจากบุคลากรในหลายด้าน และการทำงานร่วมกันระหว่างตัวแทนจากภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคส่วนอื่นๆ

ความท้าทายในระยะยาวที่สำคัญของการบริหาร Social Lab คือ ความชัดเจนของทิศทางการดำเนินงานและผลลัพธ์ ทั้งนี้เนื่องจาก Social Lab มักถูกมองจากสังคมในรูปแบบที่ต่างกัน เช่น เป็นองค์กรที่ต้องมีบุคลากร งบประมาณและสายบังคับบัญชา หรือ เป็นภารกิจที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งของสังคม หรือ เป็นกระบวนการที่สามารถนำไปใช้เพื่อออกแบบระบบเพื่อแก้ไขปัญหาความท้าทายอื่นๆได้

ดังนั้น ความไม่ชัดเจนในประเด็นข้างต้นผลให้ Social Lab หลายแหล่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากมีผลลัพธ์จากการดำเนินงานงานที่กระจัดกระจาย ไม่ชัดเจน ไม่เป็นรูปธรรม

ปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญของ Social Lab

ความสำเร็จและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับ Social Lab หลายแห่ง ทำให้เราสามารถถอดบทเรียนถึงปัจจัยสู่ความสำเร็จที่สำคัญ ได้ดังนี้ ประการแรก การมีประเด็นปัญหาหรือความท้าทายที่ชัดเจน ความสำคัญสูง และสามารถดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วม ประการที่ 2 การมีเครือข่ายการทำงานที่ครอบคลุมทั้งในมิติด้านกลุ่มเป้าหมายจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคอื่นๆ

ประการที่ 3 การมีทีมงานที่มีศักยภาพสูงใน 3 มิติคือ Head มีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะในการคิดเชิงระบบ เชิงออกแบบ เชิงสร้างสร้างสรรค์ และเชิงกลยุทธ์ Heart มีความตั้งใจและเต็มใจที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคม มีใจที่เปิดกว้างรับฟังความเห็นที่แตกต่าง ยอมรับให้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจาการลองผิดลองถูกได้เพื่อการเรียนรู้ อดทนได้ต่อความกำกวมและคลุมเครือที่ยังไม่ชัดเจน และ Hand ลงมือทำจริงมากกว่าเพียงแค่คิด พูด หรือเขียนบรรยาย

ประการที่ 4 มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวในการทำงานสูงเพื่อรองรับการแก้ปัญหาที่มีความซับซ้อน ไม่แน่นอนและไม่ชัดเจน เน้นการทำงานโดยมองคนเป็นศูนย์กลาง (Human-centered) มากกว่าผู้บริหาร องค์กร หรือสินค้าและบริการ และประการที่ 5 การสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายที่มีส่วนร่วม ทั้งในด้านการมีผลลัพธ์จากการดำเนินงานที่ชัดเจนและเกิดขึ้นจริง การส่งมอบคุณค่าร่วมที่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ต้องการไปพร้อมกับความสำเร็จของการออกแบบระบบเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายทางสังคมนั้นๆ

ปัญหาสังคมที่นับวันจะทวีความซับซ้อนและมีพลวัตมากยิ่งขึ้น จำเป็นอย่างจริงที่เราจะต้องมี Social Lab ที่จะเป็นแพลต์ฟอร์มในการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามาร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ สร้างทางออกที่สร้างสรรค์ ลดความขัดแย้งและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างแท้จริง

โดย... 

ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ประกาย ธีระวัฒนากุล

สถาบันอนาคตไทยศึกษา

https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/