ต่อต้าน Fake News ด้วยธรรม !!

ต่อต้าน Fake News ด้วยธรรม !!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ...

ได้เขียนเรื่อง “โรคชังชาติ … ผลพิษทางสังคมที่น่าศึกษา” ลงในไทยโพสต์ ฉบับวันศุกร์ที่ผ่านมา มีกระแสตอบกลับพอสมควรตามสมัยโลกยุคไอที ที่มีเสรีภาพในการแสดงออก เชื่อมโยงไปได้ทั่วในสังคมไร้พรมแดน

จริงๆ แล้ว การเขียนวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความเห็นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม หากพูดคุยกันอย่างตรงประเด็นมีสาระ อิงอรรถ อ้างธรรม เพื่อประโยชน์แห่งการเรียนรู้ร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดความเห็นในมุมมองต่างๆ ตามประสบการณ์

โลกจะสวยงาม ... เพราะการสานความคิดที่สร้างสรรค์เป็นธรรม ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้ จนเกิดการรวมพลังความคิดเป็นหนึ่งกำลังจิตที่ทรงอานุภาพ เพื่อการขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้องตรงธรรม ให้บรรลุถึงสันติภาพ ... สันติสุข ... ที่ชาวโลกถวิลหาทุกสมัย นั่นหมายถึงการพูดคุยกันอย่างมีสาระ ... ถูกชัดตรงประเด็น เข้าใจเนื้อหาสาระและจุดประสงค์ตรงกัน

แต่หากการพูดคุย ... นำเสนอแนวความคิด กลายเป็นคนละเรื่องเดียวกัน สังคมคงวุ่นวายไม่รู้จบ เพราะการไม่ใส่ใจว่า เนื้อหาสาระนั้นเป็นอย่างไร จึงไม่ต้องกล่าวถึงการเข้าใจจุดประสงค์ ...

คนในสังคมปัจจุบัน ที่หมกมุ่นอยู่กับความคิดนึกของตนเอง จนลืมฟังว่าคนอื่นพูดอะไร เป็นโรคที่แพร่ระบาดกันมากในยุคสังคมไอที ... จนดูเหมือนว่า วัตถุเครื่องมือแห่งการสื่อสารมิได้ช่วยอะไรได้เลย ต่อการนำเสนอแนวคิดที่ดีๆ มีสาระสู่สังคม ทั้งนั้นอาจจะด้วยเพราะเทคโนโลยีมีส่วนช่วยให้การสื่อสารเดินทางได้รวดเร็ว จนภาคส่งออก มีประสิทธิภาพ ... กดข่มภาครับให้อ่อนด้อยไปโดยปริยาย

การไหลออกของทิฏฐิในจิตใจของหมู่ชนคนช่างคิด จึงแพร่สะพัดไปทั่วโลกออนไลน์ที่ส่งถึงกันอย่างไร้การยับยั้ง ในเวลาอันรวดเร็ว จากเครื่องมือทรงประสิทธิภาพ เราจึงพบเห็นการส่งข่าวสารข้อความว่อนไปในโลกกว้าง ที่เต็มไปด้วยขยะแห่งความคิด จนต้องคัดเลือกสรรพิจารณา เพื่อให้เห็นคุณโทษและทางออกที่เป็นธรรม ด้วยการกลั่นกรอง คัดเลือก สาระความคิดเหล่านั้น โดยวิธีแห่งปัญญา ที่เรียกว่า โยนิโสมนสิการในพุทธศาสนา

จริงๆแล้ว เรื่อง กระแสภาวะชังชาติ มันเป็นคนละเรื่องกับการติเพื่อก่อ ... การแสดงความเห็น เพื่อประโยชน์ของสังคมประเทศชาติ ... แม้แต่ภาวะรักชาติก็เช่นเดียวกัน ซึ่งหากมากเกินไป จนคลั่งไคล้ ลุ่มหลงก็ย่อมไม่เป็นประโยชน์

บุคคลผู้ทรงความรู้ท่านหนึ่งกล่าวว่า “ภาวะชังชาติ หรือรักชาติมากเกินไป จนเกิด Fanatic นี้ เป็นภัยต่อสังคม ... คือ จะนำไปสู่การใช้อารมณ์ จนจิตใจเราติดกับความชอบ ... ความชัง ละทิ้งเหตุผล ไร้สติปัญญา ที่จะรู้เท่าทันในอารมณ์นั้นๆ อันเกิดจากการเสพเรื่องราวในโลกยุคข่าวสารฟุ้งเฟ้อมากเกินไป และรวดเร็วในการรับรู้ จนไม่มีโอกาสยับยั้งชั่งใจ เพื่อพินิจพิจารณา ไต่สวน ไตร่ตรอง ใคร่ครวญก่อนจะสรุปผลว่า มีสาระหรือไม่มีสาระ มีข้อเท็จจริงเป็นประการใด ก่อนจะเสพข้อมูลเหล่านั้น ...

ในวิถีพุทธศาสนา จึงมีหลักธรรมที่ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการรับรู้โดยก่อนที่เชื่อถือเรื่องใดๆ ให้นำมาเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องรู้จักพิจารณาโดยแยบคายตามวิธีแห่งปัญญา ก่อนที่จะสรุปว่า ควรเชื่อหรือไม่ ...

เรียกหลักธรรมดังกล่าวว่า หลักกาลามสูตร (หมายเหตุ ไม่ใช่กามสูตรของทางโลก) ที่แสดงสิ่งที่อย่าพึงเชื่อ 10 ประการ ก่อนการพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงถูกต้องตรงตามธรรม ซึ่งเป็นหลักธรรมที่มีประโยชน์ที่สุด หากรู้จักนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ จะเป็นเครื่องมือต่อต้าน Fake News ในยุคการสื่อสารฟุ้งเฟ้อได้ดียิ่ง เพื่อยุติการชวนเชื่อ ให้หลงเชื่อในเรื่องที่เหลือเชื่อ ไม่ถูกต้องตรงธรรม ... ที่สารพัดบุคคลใช้สารพัดวิธี ทั้งเจตนา มิเจตนา เพื่อชักจูง ชักนำ ชักชวน ให้เข้าไปสู่ตาข่ายแห่งความคิด ที่แฝงเคลือบด้วยทิฏฐิของตนจนน่ากลัวในผลพิษภัย...

และสิ่งที่น่ากลัวมากยิ่งในสังคมปัจจุบัน ได้แก่ ความสามารถในการเปลี่ยนแปลงสาระในข่าวสารเรื่องราวที่ดีๆ ให้ผิดเพี้ยนไปได้อย่างไม่เหลือเค้ามูลเดิม โดยการนำเสนอแนวคิดให้บิดเบือนจนเปลี่ยนไปจากเรื่องเดิม ... อย่างไม่รู้เลยว่า เรื่องจริงๆ ในต้นเรื่องเดิมมีเนื้อหาสาระเป็นอย่างไร ... นี้คือ สิ่งที่เกิดปรากฏให้เห็นมากในสังคมปัจจุบัน จึงควรพิจารณา ก่อนจะเชื่อในสิ่งนั้น ...

โดยยึดหลัก อย่าปลงใจเชื่อเพราะ ... ด้วยการฟังตามกันมา ... ถือสืบๆกันมา ... ด้วยการเล่าลือ ... ด้วยการคิดเอาเอง .. ด้วยการคาดคะเน ... ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผลได้ ... ด้วยตรงกับทิฏฐิของเรา ... รูปลักษณะน่าเชื่อถือและ เพราะผู้นั้นเป็นครูของเรา ...

พึงสอบสวนให้รู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศล มีคุณประโยชน์ หรือเป็นอกุศล เป็นโทษ เพื่อการเชื่อถือปฏิบัติต่อไป !!!

เจริญพร

[email protected]