หน้าที่พลเมืองของบริษัทใหญ่

หน้าที่พลเมืองของบริษัทใหญ่

อาทิตย์ที่แล้ว ผมไปร่วมงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในหัวข้อ “พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน”

ในฐานะอดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย ต้องชมเชยผู้จัดงาน ผู้เขียนบทความ ผู้วิจารณ์บทความ และผู้ว่าการธปท.ที่เป็นแม่งานว่างานจัดได้ดี เป็นงานวิชาการที่มีคุณภาพของประเทศ เปิดประเด็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและประชาชน ด้วยผลงานวิจัยที่สามารถนำไปสู่การทำนโยบายสาธารณะที่ถูกต้อง ทุกบทความมีพลังในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจ ก็ขอแสดงความยินดี

ที่ผมจะเขียนถึงวันนี้ คือ บทความ “ไม่แข่ง ยิ่งแพ้ อำนาจตลาดกับการยกระดับศักยภาพธุรกิจที่นำเสนอในงานสัมมนา เขียนโดยทศพล อภัยทานอาชว์ ปวีณวัฒน์กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และชานนทร์ บันเทิงหรรษา บทความพูดถึงความสำคัญของบริษัทธุรกิจในการสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ในประเด็นนี้ ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ดรั๊กเกอร์(Peter Drucker) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เคยให้ความเห็นไว้เมื่อเกือบหกสิบปีก่อนในบทความ “Big Business and the National Purpose” ว่า บริษัทขนาดใหญ่ต้องสร้างและรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในตลาดโลก เพื่อสร้างรายได้และการเติบโตของเศรษฐกิจ ทำให้สิ่งที่บริษัทขนาดใหญ่ทำ ไม่ได้มีผลเฉพาะต่อเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทเท่านั้น แต่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งก็คือความสามารถในการหารายได้และความเป็นอยู่ของคนในประเทศ นี่คือความสำคัญของบริษัทใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจ

ในกรณีของไทย ข้อมูลในบทความชี้ว่า บริษัทที่ใหญ่ที่สุด 5% มีสัดส่วนรายรับเท่ากับ 85% ของรายรับทั้งหมดของภาคธุรกิจ หมายความว่า ในแง่ธุรกิจ ภาคธุรกิจของไทยถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดใหญ่ นำไปสู่การกระจุกตัวของการผลิตในภาคธุรกิจ การกระจุกตัวของความเป็นเจ้าของโดยกลุ่มทุน และการเพิ่มขึ้นของอำนาจตลาดของบริษัทขนาดใหญ่ ข้อมูลชี้เพิ่มเติมว่าบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงจะมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพต่ำ หมายถึงความสามารถที่จะเพิ่มผลผลิตที่ไม่ได้มาจากการเพิ่มปัจจัยการผลิต เช่น ทุน แรงงาน และที่ดินมีต่ำ นอกจากนี้ บริษัทที่มีอำนาจตลาดสูง ที่ส่งออกมีโอกาสอยู่รอดต่ำ คือ แข่งขันกับต่างประเทศไม่ได้ แนวโน้มที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยใช้นวัตกรรมมีน้อย และมีอัตราการลงทุนต่ำ

จากข้อมูลเหล่านี้ชัดเจนว่า บริษัทใหญ่ของไทยมีความสามารถในการแข่งขันต่ำ ส่งออกไม่ค่อยได้ ไม่ค่อยลงทุน ทำให้ไม่มีนวัตกรรมที่จะสร้างผลผลิตใหม่ๆ ทั้งหมดมาจากอำนาจตลาดของบริษัทเหล่านี้ที่มีสูง ทำให้บริษัทใหญ่ไม่ต้องดิ้นรนเพราะสามารถหารายได้เป็นกอบเป็นกำจากตลาดในประเทศโดยไม่ต้องแข่งขันกับต่างประเทศ จึงไม่มีแรงจูงใจหรือแรงผลักดันที่ต้องมีนวัตกรรมและลงทุนเพื่อความอยู่รอด นี่คือ บริษัทใหญ่ในภาคธุรกิจไทยขณะนี้

ในระดับมหภาค ข้อมูลดังกล่าวจึงให้คำอธิบายที่ดีว่า ทำไมเศรษฐกิจไทยจึงมีอัตราการเติบโตที่ต่ำ และมีปัญหาความเหลื่อมล้ำมาก คำตอบ คือเพราะบริษัทใหญ่ที่มีสัดส่วนกว่า 85%ของภาคธุรกิจไทย ไม่ลงทุน ไม่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้า ความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงต่ำ เมื่อแข่งขันในต่างประเทศไม่ได้ บริษัทใหญ่ก็หันมาทำธุรกิจในประเทศมากขึ้น โดยใช้ความได้เปรียบของอำนาจตลาดที่มีอยู่ สร้างส่วนแบ่งตลาดให้กับกลุ่มธุรกิจของตนมากขึ้น ทั้งในธุรกิจเดิมและในธุรกิจใหม่ที่บริษัทเหล่านี้ขยายตัวเข้าไป ผลคือ ธุรกิจของประเทศอยู่ในมือกลุ่มทุนของบริษัทใหญ่มากขึ้น ความเหลื่อมล้ำในระบบธุรกิจและในระบบเศรษฐกิจของประเทศจึงเพิ่มมากขึ้น เป็นผลจากอำนาจตลาดของบริษัทขนาดใหญ่ที่เพิ่มขึ้น ที่น่าสนใจคือ ข้อมูลชี้ว่า อำนาจตลาดของบริษัทใหญ่ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมานี่เอง โดยเฉพาะหลังปี 2555 ที่อำนาจตลาด วัดโดยส่วนต่างระหว่างราคาและต้นทุนส่วนเพิ่มของสินค้าได้เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว

ทำไมอำนาจตลาดของบริษัทใหญ่จึงเพิ่มขึ้น

คำตอบในเรื่องนี้ มีคำตอบเดียว คือ การแข่งขันในระบบเศรษฐกิจมีน้อยลง จากอิทธิพลของบริษัทใหญ่ที่ทำให้การทำธุรกิจในประเทศไม่ได้ยืนอยู่บนการแข่งขันตามกลไกตลาดอย่างที่ควรจะเป็น แต่ถูกครอบงำโดยอิทธิพลของอำนาจเชิงผูกขาดที่สร้างข้อจำกัดให้กับการแข่งขัน และอำนาจดังกล่าวส่วนหนึ่งก็มาจากการทำนโยบายและการสร้างกฎเกณฑ์ต่างๆ ของภาครัฐ ที่เอื้อต่อการรักษาอำนาจตลาดของกลุ่มธุรกิจใหญ่มากกว่าสร้างการแข่งขัน ทำให้ประชาชนในประเทศต้องซื้อสินค้าในราคาแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน และผู้เล่นรายใหม่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทคนไทยหรือต่างประเทศจะมีข้อจำกัดมากที่จะเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นรายเดิมคือบริษัทใหญ่จากนโยบายและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ภาครัฐกำกับดูแลอยู่

ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปของบทความว่า ทางออกของความสามารถในการแข่งขันของประเทศคือการเปิดเสรีเพื่อสร้างการแข่งขันให้กลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจเพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับบริษัทที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศ การเสริมสร้างการแข่งขันเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการยกระดับผลิตภาพการผลิตของประเทศและความสามารถในการแข่งขัน และถ้าไม่ทำ ความบิดเบือนที่มีอยู่ก็จะยิ่งทำให้ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศลดถอยลง ซึ่งช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาความถดถอยของภาคธุรกิจไทยในระดับสากลก็มีให้เห็นมากขึ้น

หนึ่ง ขณะที่นักธุรกิจไทยติดอันดับโลกในแง่ความมั่งคั่ง ล่าสุดในรายชื่อบริษัทท็อป 50 ของเอเชีย ไม่มีบริษัทไทยติดอันดับเลย แต่ถูกแซงโดยบริษัทจากเวียดนาม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสอง ประเทศไทยไม่มีบริษัทสตาร์ทอัพ ที่มียอดขายมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือบริษัท unicorn ขณะที่อินโดนีเซียมีสี่บริษัท สิงคโปร์สองบริษัท และฟิลิปปินส์หนึ่งบริษัท สะท้อนปัญหาด้านนวัตกรรมและความสามารถที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีของภาคธุรกิจ

สาม บริษัทที่เข้าร่วมประมูลโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล จะเป็นบริษัทใหญ่ในประเทศไม่กี่บริษัท ขณะที่บริษัทต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในโครงการเหล่านี้โดยเฉพาะเลือกที่จะไม่เข้าประมูลโครงการ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะกลัวในเรื่องการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและการทุจริตคอร์รัปชั่น

ด้วยเหตุนี้การแข่งขัน จึงจำเป็นมากต่ออนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศ และการสร้างการแข่งขันต้องมาจากนโยบายรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการสร้างการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจและมองประโยชน์ต่อประเทศมากกว่าประโยชน์ของบริษัท ผมเห็นด้วยกับข้อสรุปของบทความว่า การปฏิเสธการแข่งขันอาจสร้างผู้ชนะเพียงไม่กี่ราย แต่จะสร้างความพ่ายแพ้ให้กับระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ