การปรับตัวเกษตรกร กับวิกฤติภัยแล้งยุคปัจจุบัน

การปรับตัวเกษตรกร กับวิกฤติภัยแล้งยุคปัจจุบัน

ภัยแล้งกลางฤดูฝน ปัญหาฝนทิ้งช่วง ขณะที่บางพื้นที่ฝนตกหนัก น้ำท่วม หรืออุณหภูมิที่สูงขึ้น สถานการณ์เหล่านี้

เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของประเทศอย่างมาก รวมถึงอาหารที่บริโภคนั้นเป็นผลผลิตจากภาคเกษตรทั้งสิ้น  และเป็นที่มาของการจัดทำ โครงการวิจัยการปรับตัวของการทำเกษตรกรรมจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก จ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 แม้จะดำเนินการแล้วเสร็จ ตั้งแต่ปี 2556 แต่ข้อค้นพบที่ได้สามารถใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ และเพื่อใช้วิเคราะห์ในการวางแผนป้องกันหรือหาแนวทางในการแก้ปัญหาล่วงหน้าได้ต่อไปเพราะในอีก 20 -30 ปีข้างหน้าพื้นที่อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมได้

โครงการวิจัยนี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ตามวัตถุประสงค์ คือ 1.การคำนวณค่าดัชนีความเปราะบางของการทำเกษตรกรรม (Agricultural Vulnerability Index : AVI)2.ศึกษารูปแบบการปรับตัวของการทำเกษตรกรรม และ 3.กำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบของการทำเกษตรกรรมจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยนำเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ได้แก่ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์(Geographic Information System : GIS)ซึ่งสามารถใช้ในการแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่และซับซ้อนได้ดี จึงนำมาสร้างแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์หาพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ระดับน้อยถึงมากที่สุด โดยพื้นที่ศึกษา ได้แก่ กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ถือเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

ด้วย climate change เป็นประเด็นที่สำคัญ จากภาวะโลกร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ซึ่งเหล่านี้เป็นผลพวงจากภูมิอากาศทั้งสิ้น เมื่อภูมิอากาศเปลี่ยน ส่งผลประทบต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และการท่องเที่ยว รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการน้ำเป็นหลัก เป็นที่มาที่เราต้อง สร้างแบบจำลองเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงจากสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ในแต่ละจังหวัด"

สำหรับการคำนวณค่าดัชนีความเปราะบางของการทำเกษตรกรรม หรือค่าAVIนั้น มีปัจจัยที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อการสร้างแบบจำลองความเสี่ยง ได้แก่ อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด ปริมาณน้ำท่า ปริมาณน้ำในดิน จำนวนครั้งการเกิดอุทกภัย ดินโคลนถล่ม วาตภัย ภัยแล้ง ระยะห่างจากบ่อน้ำบาดาล และแหล่งน้ำผิวดิน ซึ่งผลที่ได้ทำให้ทราบถึงระดับความเปราะบางหรือความเสี่ยงของเกษตรกรที่เกิดจากปัจจัยทางด้านภูมิอากาศเป็นรายตำบล พบว่าตำบลที่มีความเสี่ยงมากที่สุด คือ ต.นาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี , ต.บ้านค่าย อ.บ้านค่าย จ.ระยอง , ต.เขาวงกต อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี และ ต.ห้วยแร้ง อ.เมืองตราด จ.ตราด

“ทั้ง 4 ตำบล มีรูปแบบการปลูกพืชคล้ายคลึงกัน โดยพืชที่ปลูก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง สับปะรด ปาล์มน้ำมันและผลไม้ และจากการสัมภาษณ์เกษตรกรในพื้นที่ พบว่า ภาวะภัยแล้งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรมากกว่าโดยเฉพาะการปลูกผลไม้ที่ใช้น้ำในปริมาณมาก แต่ที่ผ่านมา เกษตรกรได้มีการปรับตัวด้วยขุดบ่อน้ำเพื่อใช้ในฤดูร้อนเพื่อเป็นการแก้ปัญหา ส่วนชาวนาในพื้นที่เช่นที่ต.บ้านค่าย ก็มีการปรับตัวเช่นกัน เช่นเดิมปลูกข้าวสูงสุด 3 ครั้งต่อปี ทำนาปี 1 ครั้ง ทำนาปรัง 2 ครั้ง กรณีที่ปีไหนฝนตกน้อยก็จะชะลอหรือเลื่อนช่วงเวลาในการปลูก หรืออาจไม่ปลูกข้าวนาปี สวนนาปรังอาจอาศัยน้ำชลประทาน เป็นต้น ส่วนน้ำท่วมนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อการปลูกพืชมากนัก เพราะเป็นการเกิดน้ำท่วมเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ”

ผลการวิเคราะห์ที่ได้จะแสดงออกมาในรูปแผนที่ เช่น พื้นที่เสี่ยง ข้อมูลปริมาณน้ำฝน โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์เป็นรายปี ทำให้รู้ว่าแต่ละตำบลมีความเสี่ยงแค่ไหน โดยนำปัจจัยต่างๆ ที่ได้จากการสำรวจมาทำการวิเคราะห์รวมกัน และเลือกพื้นที่ความเสี่ยงเพื่อนำมาเป็นพื้นที่ทดลอง ข้อดีของข้อมูลที่เป็นเชิงพื้นที่ (spatial data) คือ สามารถแสดงในรูปของแผนที่ได้ ทำให้รู้ว่าแต่ละตำบลมีความเสี่ยงอยู่ตรงไหนบ้าง เพราะฉะนั้นข้อมูลทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นข้อมูลน้ำฝน ข้อมูลอากาศ ข้อมูลต่างๆ สามารถนำมาวิเคราะห์ในแผนที่นี้ได้ทั้งหมด จะทำให้เรารู้ว่าพื้นที่ตรงไหนเสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย ตำบลไหนเสี่ยงมาก ตำบลไหนเสี่ยงน้อย นี่เป็นศาสตร์ที่นำมาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลในการทำงานวิจัย”

ในแง่มาตรการเพื่อลดผลกระทบของการทำการเกษตรกรรมจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มี 3 มาตรการ คือ1) การกำหนดปฏิทินการปลูกพืชตามปริมาณน้ำในดินได้แก่ ข้าว สับปะรด และมันสำปะหลัง 2) การเปลี่ยนชนิดพืชตามปริมาณน้ำฝนและชนิดของดิน โดยในการวิจัยนี้ได้เสนอการวิเคราะห์พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกสบู่ดำและมะเยาหิน ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นพืชน้ำมันเหมือนกัน โดยปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมสำหรับการปลูกสบู่ดำเท่ากับ 900-1,200 มิลลิเมตร/ปี และเหมาะกับการปลูกในดินร่วน พื้นที่ที่เหมาะสมพบใน 3 อำเภอของจ.ชลบุรี ได้แก่ อ.ศรีราชา บางละมุง และสัตหีบ ส่วนปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมสำหรับการปลูกมะเยาหินเท่ากับ 640-1,730 มิลลิเมตร/ปี และชนิดดินควรเป็นดินทรายหรือดินร่วน พื้นที่ที่เหมาะสมส่วนใหญ่อยู่ในจ.ราชบุรี บางส่วนในจ.ระยอง และพบเพียงเล็กน้อยในจ.จันทบุรี 3) การเปลี่ยนอาชีพหรือการประกอบอาชีพเสริม

ในงานวิจัยนี้เสนอให้มีการจัดการและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จากการรวบรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเบื้องต้นของจ.ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด มีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนรวมทั้งสิ้น 142 แห่ง หากแต่ละชุมชนมีแนวคิดในการจัดการและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบในการทำการเกษตรจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือภัยพิบัติได้

โดย... 

ณรงค์ พลีรักษ์ 

คณะภูมิสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา