ในโลกนี้มีที่ไหนย้ายเมืองหลวงสำเร็จบ้าง

ในโลกนี้มีที่ไหนย้ายเมืองหลวงสำเร็จบ้าง

เรามักมีสมมติฐานว่ากรุงเทพมหานครเก่าแล้ว ปัญหาหมักหมมเกินเยียวยา ย้ายเมืองหลวงดีกว่า

 เรามาดูว่าทั่วโลกมีที่ไหนย้ายเมืองหลวงสำเร็จงดงามในยุคใหม่บ้าง ไทยเราคิดแบบฝันเฟื่องหรือเป็นไปได้ที่จะย้ายเมืองหลวง ทั้งนี้ล่าสุดเมื่อเดือนส.ค. 2562 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ก็ออกมาบอกเรื่องย้ายเมืองหลวง (https://bit.ly/2zpZCTM) ต่อมานายกฯก็ออกมาพูดบ้าง (https://bit.ly/2Qr7rDO)

การย้ายเมืองหลวงก็เป็นไปได้ด้วยเหตุผลทางการเมือง เช่น ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งถูกเผาไม่เหลือหลอซ่อมแซมไม่ไหว ก็จึงย้ายออกมาเสีย หรือการปราบดาภิเษกของรัชกาลที่ 1 พระองค์ท่านก็เพียงย้ายมาอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ดังนั้นในอนาคต หากมีเหตุผลทางการเมืองก็อาจมีการย้ายกรุงอีกก็ได้ ยิ่งในเมียนมา มีการย้ายกรุงเป็นว่าเล่นนับสิบแห่ง ทั้งนี้ก็เพราะเหตุผลทางการเมือง การช่วงชิงอำนาจเป็นสำคัญ (https://bit.ly/2m7e3c7)

ในต่างประเทศก็เช่นกัน การย้ายเมืองหลวงมักเป็นเหตุผลจากการเมือง เช่น

1.การตั้งเมืองหลวงของเยอรมนีตะวันตกที่เมืองเล็กๆ ชื่อกรุงบอน(Bonn: https://bit.ly/2m7tcdt) ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ภายหลังการรวมประเทศ ก็กลับมาใช้กรุงเบอร์ลินอีกครั้งหนึ่งในประเทศไทยก็เคยย้าย “ศูนย์อำนาจ” ในลักษณะนี้จากกรุงศรีอยุธยาไปลพบุรีอยู่ระยะหนึ่งในสมัยพระนารายณ์มหาราช แต่เมื่อผลัดแผ่นดินก็ยังใช้กรุงศรีอยุธยา แม้หลังเสียกรุงครั้งที่ 1 ก็ยังใช้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงเพราะไม่ได้ถูกเผาเช่นหลังการเสียกรุงทั้งที่ 2ล

2.กรุงวอชิงตันดีซี ของสหรัฐที่สร้างขึ้นมาใหม่หลังประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ เพราะไม่ต้องการให้อยู่ภายใต้รัฐใดรัฐหนึ่ง การที่เป็นเมืองหลวงราชการ จึงมีประชากรเพียงประมาณ 700,000 คน แต่เมื่อรวมเขตปริมณฑลมีประชากร 6 ล้านคน (https://bit.ly/2EisGRI) แต่นครนิวยอร์กที่มีอายุเกือบ 500 ปี มีประชากรถึง 8 ล้านคน ถ้ารวมปริมณฑลก็ราว 23 ล้านคน (https://bit.ly/2Fzcgm1)

3.กรุงแคนบรา (Canberra) ของออสเตรเลียได้รับเลือกเป็นที่ตั้งของเมืองหลวงประจำออสเตรเลียเมื่อ พ.ศ. 2451 (111 ปี) โดยเป็นข้อตกลงระหว่างซิดนีย์และเมลเบิร์น โดยเมืองหลวงแห่งนี้มีประชากรมากกว่า 400,000 คน (https://bit.ly/2nHVNXh ) ในขณะที่ซิดนีย์ซึ่งถือเป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจและตั้งมาตั้งแต่ปี 2331 (231 ปี) กลับมีประชากรถึง 4 ล้านคน (https://bit.ly/2nKoqTA)

4.กรุงบราซีเลีย ของบราซิลโดยเป็นเมืองหลวงในปี พ.ศ. 2503 (59 ปีก่อน) แต่ก่อนหน้านี้เมืองหลวงของประเทศได้แก่ ซัลวาดอร์ (พ.ศ. 2092-2306) และรีโอเดจาเนโร (พ.ศ. 2306-2503) การย้ายเมืองหลวงนั้น “เพื่อกระจายความเจริญให้ทั่วถึงและป้องกันการโจมตีทางทะเลจากชาติต่าง ๆ เช่น โปรตุเกส ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์” (https://bit.ly/2ory7H9) บราซีเลียมีประชากร 3 ล้านคน ในขณะที่เมืองหลวงเก่ารีโอฯ มีประชากร 6.7 ล้านคนและเมืองหลวงทางเศรษฐกิจคือนครเซาเปาโลมีประชากรถึง 12.2 ล้านคน (https://bit.ly/2orWxjT)

มาดูใกล้ๆ กับประเทศไทยของเราบ้าง มีการย้ายเมืองหลวงเหมือนกัน แต่ถือได้ว่าไม่สำเร็จ ย้ายได้เฉพาะส่วนราชการ เช่นเดียวกับในประเทศอื่น

1.กรุงเนปยีดอ (Naypyidaw) ของเมียนมาซึ่งเป็นย้ายเฉพาะส่วนราชการเป็นสำคัญ ก่อตั้งในปี 2551 หรือเมื่อ 11 ปีก่อนเท่านั้น มีพื้นที่ 7,054.37 ตร.กม. มีประชากร 924,608 คนซึ่งถือว่าหนาแน่นน้อยมาก ตั้งอยู่ห่างจากย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าและเป็นเมืองหลวงทางเศรษฐกิจราว 320 กิโลเมตร (https://bit.ly/2sf560i) ในขณะที่ย่างกุ้งมีประชากร 5.2 ล้านคน ถ้ารวมปริมณฑลด้วย ก็จะมี 7.4 ล้านคน (https://bit.ly/2nDHK53)

2.ปุตราจายา (Putrajaya) ของมาเลเซียซึ่งถือเป็นเมืองใหม่และศูนย์กลางการปกครองของประเทศมาเลเซีย มีการย้ายที่ตั้งรัฐบาลจากกัวลาลัมเปอร์มายังปูตราจายาเมื่อปี 2542 หรือ 20 ปีก่อน เนื่องจากความแออัดในเมืองหลวง มีพื้นที่ราว 49.32 ตร.กม. มีประชากรคาดการณ์ ราว 350,000 คน ปุตราจายาอยู่ห่างจากกัวลาลัมเปอร์ไปทางใต้ ประมาณ 25 กม. ห่างจากท่าอากาศยานระหว่างประเทศกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งเป็นสายการบินแห่งใหม่ที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาค ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ประมาณ 20 กม. (https://bit.ly/2md0uYS)

3.เกซอนซิตี้ (Quezon City) ของฟิลิปปินส์เคยเป็นเมืองหลวงของฟิลิปปินส์ระหว่างปี 2491-2519 ตั้งอยู่ติดกับกรุงมะนิลาบนเกาะลูซอน ในเมืองนี้มีอาคารรัฐสภา และศูนย์ราชการ (https://bit.ly/2mWrCvk) แต่โดยที่อยู่ติดกับเมืองหลวงเก่า สุดท้ายก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหลวงเดิมไป

บทเรียนจากการย้ายเมืองหลวงก็คือการไม่ได้วางแผนให้รอบคอบ อย่างปุตราจายา ก็คงไม่ประสบความสำเร็จนัก เมืองนี้ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างสนามบินนานาชาติกับกรุงกัวลาลัวเปอร์ การจัดผังเมืองที่นี่จัดไว้หลวมมาก ต้องเดินทางกันด้วยรถยนต์สถานเดียว ตามแผนเดิมปุตราจายาจะมีรถไฟฟ้ามวลเบาระยะทาง 18 กิโลเมตร 23 สถานี แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะมีการกระจัดกระจายตัวของส่วนต่างๆ ของเมืองมากเกินไปนั่นเอง

กรุงเนปยีดอ ก็ทุ่มทุนสร้างมหาศาล เคยมีการประมาณการไว้เฉพาะบางส่วนราว 155,000 ล้านบาท (https://nyti.ms/2olW2aM) แต่ถ้ารวมทั้งสนามบิน ฯลฯ ก็คาดว่าน่าจะใช้เงินมากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว เงินเหล่านี้เอามาเพื่อตอบสนองต่อภาครัฐบาลเป็นสำคัญ ข้าราชการคงได้บ้านใหม่ ที่ทำงานใหม่ที่โอ่โถง ผู้รับเหมารายใหญ่ได้งานสบายแฮ แต่ใครต่อใครก็ต้องเดินทางไปติดต่อด้วย แทนที่จะรับใช้ประชาชนในเมืองหลวงทางเศรษฐกิจเดิม ยิ่งเป็นประเทศยากจน การสร้างเมืองหลวงแบบนี้ยิ่งสร้างภาระแก่ประชาชน

สิ่งหนึ่งที่น่าฉุกคิดก็คือทำไมเขาไม่ย้ายกรุงลอนดอนออกไปบ้าง หรือย้ายเฉพาะส่วนราชการออกนอกเมืองเช่นที่ประเทศไทยหรือประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เขาทำกันมาแล้ว ท่านทราบไหมลอนดอนมีอายุประมาณ 2,000 ปี ปารีสก็มีอายุพอๆ กัน นครหลวงในยุโรปล้วนมีอายุนับพันปี กรุงโรมมีอายุถึง 2,800 ปี ทำไมเขาไม่คิดย้ายเฉกเช่นที่นักผังเมืองไทยคิดต่อกรุงเทพมหานครที่มีอายุเพียง 237 ปีบ้าง เมืองในยุโรปที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลก็มีมากมาย (https://bit.ly/2mST4dz) แนวคิดการย้ายเมืองหลวงคงมีข้อผิดพลาดอย่างแน่นอน

อันที่จริงเราควรจะถมทะเลสร้างเมืองใหม่ในอ่าวไทยเชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานครโดยทางด่วนและรถไฟฟ้า อย่างสนามบินโอซากาของญี่ปุ่น สนามบินเช็คแลบก๊อกของฮ่องกง และเขตเมืองใหม่ๆ ของสิงคโปร์ก็ได้จากการถมทะเล เราจะป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้ด้วย สูบเอาน้ำจืดที่ไหลลงทะเลอย่างสูญเปล่ามากักเก็บไว้ใต้เมืองใหม่ทำประโยชน์แทนที่จะหนีปัญหา ลองพิจารณากัน