หลากประเด็นมาตรการ “ชิมช้อปใช้”

หลากประเด็นมาตรการ “ชิมช้อปใช้”

ในช่วงเวลานี้ มาตรการที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ “ชิมช้อปใช้”

ที่ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีคนเข้าร่วมราว 10 ล้านคน ประเด็นหนึ่งซึ่งทำให้หลายคนตั้งคำถามกับมาตรการนี้ คือ การท่องเที่ยวของเรามันแย่จนต้องกระตุ้นกันแบบนี้จริงหรือ

การประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยว ต้องแยกดูเป็น 2 ประเด็น คือ นักท่องเที่ยวต่างชาติ และนักท่องเที่ยวในประเทศ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ การที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดในช่วง 2 ถึง 3 เดือนที่ผ่านมานี้เป็นเรื่องปกติ ถ้าหากเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยใช้ข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จะเห็นว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เพิ่มขึ้นเสียด้วยซ้ำ จากสถิติย้อนหลัง 10 ปี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้านขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน เราก็มีอันดับที่ดีขึ้น จากเดิมอยู่อันดับ 35 ของโลกในปี 2558 ตอนนี้เราอยู่อันดับที่ 31 แต่ยังเป็นรองสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่ ข่าวดีก็คือ เมื่อปี 2558 เราตามมาเลเซียอยู่ 10 อันดับ ตอนนี้เราตามอยู่แค่ 2อันดับเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าดูภาพรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เราไม่ได้อยู่ในขาลง

ส่วนนักท่องเที่ยวภายในประเทศ สถิติจำนวนนักท่องเที่ยวภายในประเทศเมื่อเดือนมิ.ย. มีประมาณ 17.25 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปีก่อนประมาณ 2 %และนักท่องเที่ยวไทยเหล่านี้มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 4.27% ความรู้สึกว่าเกิด ขาลงน่าจะมาจากการลดลงของจำนวนผู้เข้าพัก ซึ่งช่วงเวลานี้ปีก่อนมีประมาณ 12.98 ล้านคน ปีนี้ลดลงมาเหลือ 12.75 ล้านคน ลดลงประมาณ 1.8% เลยทำให้รู้สึกว่าการท่องเที่ยวไม่คึกคักเหมือนก่อน ทั้งที่จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้ลดลงเลย

อีกประเด็นที่น่าจะส่งผลต่อความรู้สึกว่าเป็นขาลง ก็คือ อัตราการเติบโตของนักท่องเที่ยวในเมืองรองส่วนใหญ่เติบโตช้ากว่าเมืองหลัก เพราะอย่างดีก็โตแค่ไม่เกิน 2% ส่วนเมืองรองที่โชคดีอยู่ใกล้เมืองหลักและเมืองหลักอาจโตได้ถึง 4% ถึง 5% แต่ถ้ามองภาพรวม ขึ้นมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าการท่องเที่ยวไทยไม่ได้อยู่ในขาลง เพียงแต่เป็นขาขึ้นที่แต่ละจังหวัดขึ้นไม่เท่ากัน จังหวัดที่ขึ้นเยอะมีน้อย จังหวัดที่ขึ้นน้อยมีเยอะ

นอกจากนี้แล้ว ด้วยวงเงินที่ให้มาคนละ 1,000 บาท ก็ไม่พอจะให้ไปเที่ยวไกล นอกเสียจากว่าคนที่ได้รับสิทธิจะควักเงินเพิ่มหรือรวมเงินกันหลายคน แถมระยะเวลาให้ใช้เงินก็น้อยเกินไป จึงไม่น่าแปลกใจที่เราเห็นการท่องเที่ยวข้ามเขต เพื่อไปซื้อของกินของใช้ ไม่ได้ไปท่องเที่ยวจริง จึงอาจกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ไม่มากเหมือนที่หวังไว้ เสียดายที่ตอนนี้ยังไม่มีสถิติรายจังหวัดออกมาว่า จังหวัดไหนมีคนได้สิทธิกี่คน และไปใช้จ่ายที่ไหนบ้าง จะได้เห็นภาพชัดขึ้น

ส่วนข้อกังวลว่าเงินจะไปเข้ากระเป๋าธุรกิจรายใหญ่มากกว่ารายเล็ก เนื่องจากมีความพร้อมทำให้ลูกค้าใช้จ่ายได้สะดวกกว่า เรื่องนี้น่ามีเค้าอยู่พอสมควร ที่สำคัญกว่านั้น หากเงินไหลเข้ากระเป๋ารายใหญ่ ถึงจะไปซื้อจากเมืองรอง แต่เงินก็ไหลกลับมาที่สำนักงานใหญ่ในกรุงเทพและปริมณฑิลอยู่ดี สุดท้ายเงินบางส่วนอาจไหลออกไปต่างประเทศเสียด้วยซ้ำ

ด้านผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำนั้น ด้วยหลักการแล้ว มาตรการนี้ไม่ได้ออกมาเพื่อ “ลด” หรือ “เพิ่ม” ความเหลื่อมล้ำ มันเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดี ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น ช่วยให้นักลงทุน นักธุรกิจสบายใจ อยากมาลงทุนในประเทศ สร้างบรรยากาศให้คนในประเทศอยากใช้เงินมากขึ้น แต่ถ้าดูจากสถิติการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายในเมืองรองของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในช่วง 1 ถึง 2 ปีที่ผ่านมา ก็พอจะเดาได้ว่า เมืองรองที่อยู่ติดเมืองหลักกับเมืองหลักที่อยู่ติดเมืองรองน่าจะได้ประโยชน์มากกว่า ส่วนเมืองรองซึ่งอยู่ไกลเมืองหลัก เงินเหล่านี้คงไปถึงไม่มากนัก มาตรการนี้จึงเกิดผลข้างเคียงด้านความเหลื่อมล้ำ 2 แบบ ผลอย่างแรกคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองหลักและเมืองรองที่ติดเมืองหลักซึ่งจะลดลงแค่ชั่วคราว ผลอย่างที่สองคือ ความเหลื่อมล้ำระหว่าง เมืองรองติดเมืองหลักและเมืองรองไกลเมืองหลักจะมากขึ้น ซึ่งอาจไม่ใช่ผลชั่วคราวก็ได้

ส่วนข้อกังวลเกี่ยวกับประชานิยมนั้น มาตรการนี้ไม่น่าจะมีผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ เราคงไม่เห็นคนออกมาเดินขบวนประท้วงขอให้มีมาตรการนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็เหมือนกับที่มีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ สิ่งที่รัฐบาลได้ไปอยู่ในมืออย่างแน่นอนก็คือ ข้อมูลของประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ คำถามก็คือ แล้วจะเอาข้อมูลเหล่านี้ไปทำอะไรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศอย่างคุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไปทั้งหมด