ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ไม่สามารถแก้ด้วยนโยบายแจกฟรีถ้วนหน้า

ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ไม่สามารถแก้ด้วยนโยบายแจกฟรีถ้วนหน้า

เคยดูการให้สัมภาษณ์ของ ศ.เจฟฟรี แซคส์ (Professor Jeffrey Sachs) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ท่านบอกว่าสหรัฐเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ (Income inequality) มากกว่าประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ความหมายก็คือประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ความแตกต่างด้านรายได้ของประชาชนจะไม่ต่างกันมากนัก แต่ของสหรัฐต่างกันมากมายมหาศาล

ยกตัวอย่างรายได้ของคนขับรถบรรทุกกับศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จะเท่าๆ กัน เสียภาษีเท่าๆ กัน และได้รับสวัสดิการจากรัฐเท่าๆ กัน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้จึงน้อยมาก ในขณะที่สหรัฐนั้นผู้บริหารองค์กรขนาดใหญ่มีรายได้ปีละ 20-30 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ประชาชนคนธรรมดากว่า 20 ล้านคนยังมีรายได้ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน เพียงปีละหมื่นกว่าดอลลาร์

ที่จริงปัญหาความเหลื่อมล้ำของสหรัฐที่หนักหนาสาหัสไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่เป็นเรื่องความมั่งคั่ง หรือ Wealth Inequality ที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก คนรวยรวยล้นฟ้ามีบ้านพักใหญ่โตขนาดเป็นร้อยๆ ห้อง ในขณะที่คนจนไม่มีสมบัติพัสถานต้องเป็นคนจรจัดไม่มีที่ซุกหัวนอน

แต่ประเทศที่ถูกจัดให้มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้สูงสุดในโลกยังไม่ใช่สหรัฐ แต่เป็นสิงคโปร์เพื่อนบ้านเรานี่เอง แต่รัฐบาลสิงคโปร์ก็ทำให้ชาวสิงคโปร์ที่มีรายได้น้อยสุดมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร ไม่มีคนจรจัดปรากฏให้เห็นในท้องถนน จึงไม่ค่อยมีใครพูดถึงสิงคโปร์มากนัก

ศ.แซคส์ เสนอว่า การแก้ไขความเหลื่อมล้ำด้านรายได้อย่างยั่งยืนนั้น ไม่สามารถใช้นโยบายการเงิน (Monetary Policy) หรือเรื่องการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในประเทศมาแก้ไขได้ เพราะฉะนั้น การที่ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามให้ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือ FED ลดดอกเบี้ย จึงไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเป็นเรื่องของโครงสร้าง ที่จะต้องแก้ไขที่ระบบโครงสร้างที่เรียกว่านโยบายโครงสร้างหรือ Structural Policy

ท่านย้ำว่าการที่รัฐบาลใช้นโยบายการเงิน (Monetary Policy) หรือนโยบายการคลัง (Financial Policy) ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะทั้ง 2 นโยบายเป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น

เรื่องนี้เคยอ่านบทความของธนาคารโลกก็พูดเหมือนกัน โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย ก็ต้องมีนโยบายด้านโครงสร้างใหม่ เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำลดลง ไม่ใช่แค่นโยบายแจกเงินถ้วนหน้าอย่างที่ทำๆ กันทุกวันนี้ ที่เป็นเรื่องเฉพาะหน้า ไม่ได้แก้ไขอะไรเลย

เรื่องของโครงสร้างเป็นเรื่องของการสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเพิ่มศักยภาพด้านการผลิต ทั้งประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และผลิตภาพ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของทุนมนุษย์ หรือ human capital ที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับจากธนาคารโลกอยู่ในระดับต่ำเตี้ยเอามากๆ

เคยเขียนเรื่อง Monetary Policy, Financial Policy และ Structural Policy เมื่อ 3-4 ปี สมัยอยู่ในคณะอนุกรรมาธิการสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ที่ยุบไปแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจมากนัก เพราะรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมามุ่งเน้นประชานิยม ใช้การลดแลกแจกแถมเป็นหลักตั้งแต่เกิดจนตาย ให้ฟรีมากมาย จนประชาชนกลายเป็นไก่ยืนกรง ไม่ต้องทำอะไร รออาหารกรอกปาก ก่อนถูกนำไปเชือด

พรรคการเมืองทุกพรรคทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านที่เสนอตัวจะมาเป็นรัฐบาลตอนนี้ก็ไม่ต่างจากรัฐบาลก่อนๆ นี้ ไม่ว่ามาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลทหารจากรัฐประหาร ที่ดูเหมือนจะไม่ค่อยคิดอะไรไกลกว่าเรื่องที่อยู่ข้างหน้า ที่เห็นแล้วก็ไม่รู้ว่าจะไปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร