ปัจจัยที่ทำให้การศึกษาไทยสอบตก

ปัจจัยที่ทำให้การศึกษาไทยสอบตก

สัปดาห์หน้า การประกวดนักอ่านประจำปีครั้งที่ 14 ของโรงเรียนชั้นประถมใน อ.บ้านนา จ.นครนายก จะเวียนมาถึงอีกครั้ง

งานนี้จะมีการประกวดนักเขียนครั้งที่ 6 สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมต้นใน อ.บ้านนา รวมอยู่ด้วย ในฐานะผู้ขับเคลื่อนหลักของมูลนิธินักอ่านบ้านนา ซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวและอีกหลายอย่างของนักเรียนใน อ.บ้านนา (มีข้อมูลในเว็บไซต์ www.bannareader.com) ขอนำข้อสังเกตบางประการมาเสนอโดยเฉพาะปัจจัยที่ทำให้การศึกษาไทยถูกมองว่าอยู่ในภาวะสอบตก

ประเด็นพื้นฐานสืบเนื่องมาจากปัจจัยในบ้านซึ่งมักไม่มองว่าการศึกษาเริ่มทันทีที่เด็กเกิด พ่อแม่ที่มีการศึกษาและรายได้ไม่สูง ซ้ำร้ายมีลูกในภาวะที่ตนไม่ค่อยพร้อม หรือมีสภาพครอบครัวแตกแยก จะให้การเลี้ยงดูในแนวที่ไม่มีการเรียนรู้ของเด็กเป็นเรื่องสำคัญนัก พวกเขามักมองว่าการศึกษาเป็นหน้าที่ของโรงเรียน เด็กๆ เริ่มการศึกษาในสถาบัน หรือโรงเรียนด้วยความพร้อมแตกต่างกันมาก หลังจากนั้น การขาดความใส่ใจอย่างใกล้ชิดว่าลูกหลานของตนกำลังเรียนอะไรไม่เอื้อให้เด็กเรียนรู้สิ่งที่ครูและโรงเรียนจัดให้ได้ดังที่ควรจะได้ การไม่ใส่ใจและเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างจริงจังของพ่อแม่และสมาชิกในชุมชนในกิจการของโรงเรียนชุมชนส่งผลให้โรงเรียนและบ้านแยกกันอยู่แบบแทบสิ้นเชิง คณะกรรมการโรงเรียนมักมีบทบาทเพียงบนหน้ากระดาษเท่านั้นเนื่องจากตั้งกันขึ้นมาตามหลักการของสังคมประชาธิปไตยซึ่งคนไทยมิได้มีอยู่ในสายเลือด

เกี่ยวเนื่องกับเรื่องประเด็นพื้นฐานได้แก่ปัญหาในสังคม เด็กเรียนรู้จากการดูพฤติกรรมของผู้ใหญ่ในบ้าน ในชุมชน ในโรงเรียนและในวงกว้างซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีทำให้ขยายออกไปอีก เมื่อผู้ใหญ่ในบ้านไม่ค่อยอ่านหนังสือให้เด็กเห็นเป็นประจำ หากใช้เวลาว่างหมดไปกับจอโทรทัศน์ จอโทรศัพท์และอบายมุข เด็กย่อมเลียนแบบ เช่นเดียวกับการจัดกิจกรรมจำพวกผักชีโรยหน้า หรือแบบขึ้นป้ายถ่ายรูปแล้วจบกันทั้งในโรงเรียน ในหน่วยราชการและในชุมชนซึ่งเด็กมีส่วนร่วม หรือรู้เห็นเป็นประจำ สังคมไทยได้กลายเป็นสังคมเน้นรูปแบบเหนือเนื้อหาผ่านการจัดฉากที่มักนิยมเรียกทับศัพท์ว่า “อีเว้นท์” การจบอนุบาลยังมีการจัดงานรับประกาศนียบัตรกันอย่างเอิกเกริก

การเน้นรูปแบบเหนือเนื้อหาแสดงออกมาทางการเรียนเพื่อสอบผ่านเหนือการเรียนเพื่อนำความรู้ความชำนาญไปใช้ในการดำเนินชีวิตจริง อุตสาหกรรมกวดวิชารุ่งเรืองขึ้นมาเพื่อตอบสนองความหลงผิดนี้ อย่างไรก็ดี มันมิได้จำกัดอยู่ที่เด็กเท่านั้น หากขยายออกไปถึงครูและผู้บริหารด้วย ครูมักใส่ใจในการแสวงหากระดาษในรูปของเกียรติบัตรแสดงวิทยฐานะจากการทำปริญญา การสอบ การทำเอกสารและการไปร่วมอบรมเสวนามากว่าการทุ่มเทเวลาให้กับนักเรียน ครูจำนวนมากจึงมักขาดจิตวิญญาณของการเป็นครู สำนักงานบริหารการศึกษาเสียเวลามากมายไปกับกิจกรรมจำพวกขึ้นป้ายถ่ายรูปซึ่งผลาญทั้งงบประมาณและกำลังคนที่ล้นสำนักงานโดยส่วนหนึ่งมีความเชี่ยวชาญเพียงการแสวงหาใบปริญญาที่มีค่าแค่ประดับฝาบ้าน

ทั้งหลายทั้งปวงนี้เป็นอาการป่วยของสังคมไทยซึ่งมีความฉ้อฉลเป็นต้นเหตุ

สำหรับในระดับชั้นประถม การปล่อยให้พ่อแม่ส่งลูกไปเรียนในโรงเรียนรัฐบาลนอกชุมชนได้ส่งผลให้เกิดวงจรอุบาทว์ของโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนเหล่านี้เมื่อมีเด็กลดลง ทางการให้งบประมาณและครูน้อยลงส่งผลให้พ่อแม่ส่งเด็กไปเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่แม้โรงเรียนจะอยู่ไกล หรืออาคารสถานที่จะแออัดมากแล้วก็ตาม

สุดท้าย การเปลี่ยนนโยบายและวิธีนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนรัฐบาล การเปลี่ยนรัฐมนตรีและการเปลี่ยนผู้บริหารการศึกษาทำลายปัจจัยสำคัญในการจัดการศึกษาในสถาบัน นั่นคือ ความต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนเกิดขึ้นบ่อยมาก

ผมไม่มีความเชี่ยวชาญทางการศึกษา หากมีภูมิหลังทางการพัฒนาซึ่งมีการศึกษาเป็นองค์ประกอบสำคัญ ประสบการณ์จากทั่วโลกบ่งชี้ว่า โครงการพัฒนาจะไม่บรรลุผลดีหากไม่มีผู้เป็นเจ้าของเรื่องแบบต่อเนื่องอย่างแท้จริง ใครเป็นเจ้าของเรื่องแบบต่อเนื่องของการจัดการศึกษาไทยผมยังมองเห็นได้ไม่ชัด พ่อแม่? สมาชิกในชุมชนรอบโรงเรียน? ครู? ผู้บริหารสถานศึกษาและสำนักงานการศึกษา? รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ? หากถามว่าใครน่าจะเป็นเจ้าของเรื่องที่มีประสิทธิผลสูงสุด ผมมองว่าสมาชิกในชุมชนรอบโรงเรียน