จับตาการเคลื่อนย้าย "ธุรกิจทางการแพทย์" มาประเทศไทย

จับตาการเคลื่อนย้าย "ธุรกิจทางการแพทย์" มาประเทศไทย

การเคลื่อนย้ายของกลุ่มธุรกิจทางการแพทย์ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้ากับสหรัฐ

 ไม่ว่าญี่ปุ่น จีน กำลังส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายธุรกิจไปประเทศอื่นอย่างน่าสนใจ

ดูจะเป็นเรื่องประจวบเหมาะที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลไทย เรื่องการให้ทุนนักเรียนแพทย์ของโรงเรียนแพทย์ที่จะถูกยกเลิกในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ทำให้ไม่ต้องผูกมัดทำงานใช้ทุนเมื่อเรียนจบ การเพิ่มจำนวนแพทย์ของโรงเรียนแพทย์ของรัฐอีกเกือบ 50% จากที่เคยผลิตปีละ 2,000-2,500 คนจะเพิ่มเป็น 3,000-3,500 คน การเปิดโรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยเอกชนทั้งภาคปกติและอินเตอร์ และการเปิดตัวอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพที่ EEC หรือระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่คาดว่าจะมีการลงทุนจากบริษัทต่างชาติมหาศาลทางการแพทย์และสุขภาพ อุปกรณ์ทางการแพทย์ งานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพต่างๆ

โดยเฉพาะญี่ปุ่นได้เริ่มเข้ามาลงทุนและเข้าถือหุ้นในบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมสุขภาพมากขึ้น บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกของญี่ปุ่นเช่นมิตซุย ซูมิโตโม มิตซูบิชิ มารูเบนิ ซึ่งบริษัทเหล่านี้เคยยิ่งใหญ่ในธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่เรื่องสุขภาพการรักษาพยาบาลก็หันมาให้ความสนใจและเพิ่มการลงทุนธุรกิจรักษาพยาบาลมหาศาล IHH ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจดูแลสุขภาพใหญ่ระดับ Top 5 โลก ที่รัฐบาลมาเลเซียเป็นหุ้นส่วนใหญ่ก็ถูกบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาถือหุ้นถึง 30% แล้ว

สภาวะเปลี่ยนแปลงทางการค้าโลกก็ดี การเพิ่มขึ้นของสังคมผู้สูงอายุก็ดี หรืออัตราการเจริญเติบโตของประเทศเศรษฐกิจใหม่ในกลุ่ม ASEAN ก็ดี ถือเป็นแรงดึงดูดใจที่ทำให้หลายประเทศต้องการเข้ามาปักฐานในกลุ่มประเทศอาเซียน และแน่นอนว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในอาเซียนที่กำลังเนื้อหอมอย่างยิ่ง

ธุรกิจอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทยเป็นเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่จะให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนไปพร้อมๆกับธุรกิจท่องเที่ยวที่กำลังถึงขั้นสูงสุดและนับวันจะเริ่มลดลง และจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อความสำราญอย่างเดียวจะไม่สูงขึ้น มีแต่ธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพที่มีโอกาสเติบโตและนำเงินเข้าประเทศทดแทน

ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด