สัญญาณเตือนเศรษฐกิจโลก

สัญญาณเตือนเศรษฐกิจโลก

ผู้เขียนเคยเชื่อมาตลอดว่าเศรษฐกิจโลกระยะต่อไปจะเข้าสู่ระยะ “ไม่แตก ไม่ตาย แต่ไม่โต” หรือ Low rate, low growth

 แต่ ณ ปัจจุบัน ผู้เขียนเริ่มกังวลมากขึ้นว่าเศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือ Recession ได้

จากงานวิจัยเชิงลึกของ บล.ไทยพาณิชย์ ที่วิเคราะห์ภาวะ Inverted Yield Curve (IYC) หรือภาวะดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าระยะสั้น อันเป็นสัญญาณเตือนของเศรษฐกิจถดถอยทุกครั้งในรอบ 50 ปีของสหรัฐ โดยวิเคราะห์ IYC ที่เกิดขึ้นในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เทียบกับครั้งก่อนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 ครั้งหลัง อันได้แก่ ก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ก่อนฟองสบู่ดอทคอมแตกในปี 2001 งานวิจัยพบว่าเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตจะชะลอต่อเนื่องและเข้าสู่ Recession ในปี 2021-22 ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) จะต้องลดดอกเบี้ยจนเหลือ 0-0.25%

แม้ผู้เขียนเองจะเชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจการเงินในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกัน ทำให้การเกิด IYC ครั้งนี้อาจไม่ได้นำไปสู่วิกฤต โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องภาวะฟองสบู่ โดย 2 ครั้งที่แล้ว เกิดจากภาวะฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯ ที่ลามไปสู่ภาคการเงิน และจากฟองสบู่ในตลาดหุ้น (ผ่านหุ้นกลุ่มดอทคอม) ในขณะที่ครั้งนี้ไม่มีฟองสบู่ในตลาดใดอย่างจริงจัง แต่หากพิจารณาสัญญาณเศรษฐกิจในปัจจุบัน กลับพบว่าน่ากังวลกว่าเป็นอย่างยิ่ง โดยมีจุดน่ากังวลใน 3 จุด

  1. สงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจมากกว่าที่หลายฝ่ายคาด โดยปัจจุบันเห็นสัญญาณชัดเจนใน 2 จุด

(1) การค้าระหว่างประเทศ โดยดัชนี CPB ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ที่ติดตามการส่งออกทั่วโลกนั้นพบว่า ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ ต.ค. 2017 และปัจจุบันหดตัวเข้าสู่แดนลบแล้ว และเป็นผลจากการส่งออกที่หดตัวลงของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป ตะวันออกกลาง ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างๆ มองว่า สัญญาณเช่นนี้ปกติจะเกิดขึ้นในช่วง Recession เท่านั้น

ดังที่ทราบกันดีว่า การส่งออกทั่วโลกที่เข้าสู่แดนลบเป็นผลสำคัญมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐเป็นหลัก โดยทำให้การแข่งกันขึ้นภาษีนำเข้าของทั้ง 2 ประเทศ ทำให้อัตราภาษีนำเข้าสินค้าเฉลี่ยที่จีนเก็บจากสหรัฐอยู่ที่ 23% จาก 7% ในปีก่อน ขณะที่ของสหรัฐอยู่ที่เกือบ 30% จาก 3% ในปีก่อนเช่นกัน ซึ่งภาษีที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้การส่งออกทางตรงและทางอ้อม (เช่น เอเชียที่ผลิตสินค้าขั้นกลางและส่งออกให้จีน เพื่อประกอบและส่งไปยังสหรัฐอีกทอดหนึ่ง) หดตัวลง

(2) ภาคการผลิตต่อเนื่องไปสู่การลงทุน จากภาวะสงครามการค้าที่ลามไปสู่สงครามเทคโนโลยีและด้านการเงินนั้น ทำให้ “ตำบลกระสุนตก” ได้รับความเสียหาย โดยเหยื่อสงครามรายแรกได้แก่ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและยอดขายที่ตกลง ทำให้เครื่องชี้วัดภาคการผลิตทั่วโลกตกต่ำ ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วโดยเฉพาะประเทศที่เน้นการผลิตภาคอุตสาหกรรม เช่น จีน เยอรมนี ญี่ปุ่น และตลาดเกิดใหม่สำคัญ โดยเฉพาะในเอเชีย ทั้ง Asia NICS และกลุ่มอาเซียน-5

ภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวลง ทำให้การลงทุนของบริษัทต่างๆ ลดลง โดยดัชนีชี้วัดการลงทุนในประเทศขนาดใหญ่ เช่น คำสั่งซื้อสินค้าคงทน การลงทุนสินทรัพย์ถาวร รวมถึงการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักรในหลายประเทศ ชะลอลงหรือเข้าสู่แดนลบชัดเจน อันเป็นผลทั้งจากคำสั่งซื้อที่น้อยลง ทำให้ผู้ผลิตต่างชะลอการผลิต ส่งผลให้สินค้าคงคลังเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความไม่แน่นอนในสงครามการค้า ทำให้ผู้ผลิตไม่กล้าที่จะลงทุนใหม่ แม้จะมีแผนที่จะหนีไปลงทุน ณ ประเทศที่ไม่ได้อยู่ใน “ตำบลกระสุนตก” เช่น จีน ก็ตาม

2.ปัจจัยเฉพาะในแต่ละประเทศ ที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจเช่น (1) ญี่ปุ่นที่กำลังจะขึ้นภาษีการค้า จาก 8% เป็น 10% ทำให้ในช่วงก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคมีการซื้อสินค้าเพื่อสต๊อกของไว้บ้าง ทำให้การบริโภคสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากช่วงก่อนหน้า และเป็นไปได้สูงที่จะหดตัวหลังจากการขึ้นภาษีในวันที่ 1 ต.ค. นี้

(2) ภาคการผลิตในเยอรมนี ที่กว่า 3 ใน 4 หดตัวถึงกว่า 20% ตั้งแต่ปี 2018 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเรื่องอื้อฉาวของบริษัทรถยนต์ที่บิดเบือนสถิติการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

(3) ในจีน ภาระหนี้ (ทั้งภาครัฐ เอกชน ครัวเรือน และสถาบันการเงิน) ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องถึงประมาณ 300% ต่อ GDP ในปัจจุบัน ทำให้ทางการกังวล และไม่กล้าที่กระตุ้นภาคการเงินอย่างเต็มที่ โดยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี ประมาณ 5 bps แม้ว่าประเทศอื่น ๆ จะลดดอกเบี้ยมากกว่าก็ตาม โดยทางการจีนยังกลัวการเพิ่มขึ้นของหนี้ รวมถึงฟองสบู่จากภาคอสังหาฯ

3.ผู้กำหนดนโยบายที่ไม่เต็มใจ (Half-hearted) ในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยส่วนหนึ่งเห็นว่าเศรษฐกิจไม่มีความจำเป็นต้องกระตุ้นขนานใหญ่ ขณะที่อีกส่วนหนึ่งก็เห็นว่าจะกระตุ้นอย่างไรก็ไม่ได้ผล เช่น แม้ว่าธนาคารกลางของทั้งสหรัฐ (Fed) และยุโรป (ECB) จะมีการลดดอกเบี้ยและเสริมสภาพคล่อง แต่ก็มีผู้กำหนดนโยบายหลายท่านที่ไม่เห็นด้วยกับเสียงส่วนใหญ่ และได้แสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ ในขณะที่บางที่ เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ หรือแม้แต่ในไทยเอง ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะที่ในส่วนนโยบายการคลังที่ควรจะกระตุ้น ยังไม่ได้ทำเต็มที่ เช่น ในเยอรมัน (แม้ดอกเบี้ยพันธบัตรจะติดลบก็ตาม) ส่วนในญี่ปุ่นก็กลับขึ้นภาษี นอกจากนั้น ในประเทศใหญ่อย่างสหรัฐเอง ที่กำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง ทำให้กระแสการแข่งขันทางการเมืองรุนแรงขึ้น (โดยล่าสุดมีสภาคองเกรสเริ่มมีกระบวนการไต่สวนประธานาธิบดีหรือ Impeachment process) ทำให้โอกาส ที่สภาคองเกรสและทำเนียบขาวจะร่วมมือกันออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีหรือสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ทำได้ยากขึ้น

ภาพเหล่านี้ทำให้การพร้อมสู้ศึก Recession ในครั้งนี้ ไม่ชัดเจนเท่าในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ครั้งที่แล้ว นอกจากนั้นกระสุนในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่น้อยลง ประกอบกับปัจจัยเชิงลบในแต่ละเขตเศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนด้านสงครามการค้าและการลงทุนอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ Recession เร็วขึ้นได้

เศรษฐกิจโลกปีหน้าไม่น่าจะเติบโตดี แต่จะตายหรือแตกหรือไม่นั้น ฟ้าเท่านั้นที่จะรู้

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]