การจากไปของคนในครอบครัว

การจากไปของคนในครอบครัว

มื่อไม่นานมานี้ มีญาติผู้ใหญ่จากไปหนึ่งคนที่ต่างจังหวัด ท่านเป็นสะใภ้ของตายายผม เมื่อท่านมาอยู่นั้นพวกเรายังเล็กๆ กันอยู่

สะใภ้ใหม่ของบ้านก็อยู่ด้วยกันเพราะเราเป็นครอบครัวขยาย ลูกๆ ของตายายที่มีครอบครัวก็มักมาอยู่ร่วมกันแต่ก็สร้างเรือนใหม่ติดต่อกัน บ้านของเราจึงมีหลายเรือนเชื่อมกันด้วยชานบ้าน (ที่บ้านเรียก นอกกะชาน) น้าสะใภ้ผู้นี้ เมื่อมาอยู่ที่บ้าน ก็ไม่ได้แค่ทำหน้าที่ภรรยา แต่ช่วยทุกอย่างที่บ้านหุงหาอาหารทำกับข้าวเลี้ยงเด็กๆไม่ว่าจะลูกตัวเองหรือลูกเขยสะใภ้อื่นที่อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน

กว่า 60 ปีผ่านไป และก็ถึงเวลาที่ท่านจากพวกเราไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นเพียงไม่กี่วัน แต่อาการกำเริบรวดเร็วมากเกินที่คาดคิด การจากไปของสมาชิกครอบครัวนั้น ไม่ใช่เพียงเรื่องการจัดงานศพ แต่มีอีกมากมายหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องที่เป็นเรื่องของการจัดการทรัพย์สินของผู้วายชนม์ ยิ่งมีทรัพย์สินมากก็มีเรื่องที่ต้องจัดการมาก ถึงขนาดต้องมีการจัดตั้งผู้จัดการมรดกก็มี

การจากไปของมนุษย์ทุกคนมีแค่ 2 อย่าง คือการจากไปอย่างรวดเร็ว เช่นเกิดจากอุบัติเหตุหรือโรคบางโรค เช่น โรคหัวใจ เส้นโลหิตในสมองแตก และการจากไปอย่างช้าๆ สำหรับผู้ที่เจ็บป่วยต้องรักษาตัวเป็นเวลานานนับเดือน นับปี หรือหลายปี การจากไป ไม่ว่าเร็วหรือช้า ถ้าหากผู้จากไปมีการเตรียมตัวที่ดี มีการจัดการทรัพย์สินชัดเจน ทำพินัยกรรมแบ่งแยก หรือสั่งเสียชัดเจนและบอกกล่าวว่าอะไรอยู่ที่ไหน เมื่อจากไป ผู้ที่อยู่ข้างหลังก็มักไม่มีปัญหาเรื่องการจัดการทรัพย์สินหรือมรดก

แต่ส่วนมาก การจากไปอย่างรวดเร็วหรือฉับพลันนั้น มักมีปัญหาเรื่องทรัพย์สินที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจัดการ ยิ่งมีทรัพย์สินมากก็เรื่องมาก และยิ่งผู้ที่จากไปไม่ได้จัดระเบียบ อาจเพราะไม่นึกว่าจะต้องจากไปอย่างรวดเร็วเฉียบพลันหรือเกิดอุบัติเหตุ ก็มักไม่ได้เตรียมการ

การเสียชีวิตโดยรวดเร็วนั้นมีข้อดีในแง่ที่ไม่มีเรื่องค่ารักษาพยาบาล แต่ก็อาจไม่ได้เตรียมตัวเรื่องการจัดการทรัพย์สินดีพอ ส่วนการเสียชีวิตจากการป่วยไข้นานๆนั้น ผู้ที่จะจากไปมักมีเวลาพอที่จะสั่งเสียจัดการทรัพย์สิน แต่ก็มักจะมีค่าใช้จ่ายจากการรักษาพยาบาลจำนวนมากที่ลูกๆและคู่สมรสต้องเป็นภาระ ก็เลยคิดเล่นๆว่า แล้วการจากไปแบบไหนถึงจะดีกับผู้ที่อยู่ข้างหลัง 

จำได้ว่าเมื่อครั้งคุณแม่เสียชีวิตโดยเฉียบพลันเพราะอุบัติเหตุนั้น เรื่องจัดงานศพไม่มีปัญหามากนักเพราะญาติพี่น้องช่วยกันคนละไม้ละมือ แต่ที่ยุ่งยากมากคือเรื่องการจัดการทรัพย์สิน เพราะไม่มีใครรู้ว่ามีทรัพย์สินอยู่ที่ไหนบ้าง เป็นลูกหนี้เจ้าหนี้ใครบ้าง มีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากที่ไหนบ้าง มีการทำประกันหรือฌาปณกิจที่ไหนบ้าง นอกเหนือจากเรื่องการร้องศาลตั้งผู้จัดการมรดก และคดีความเรียกร้องค่าเสียหายและดำเนินคดีกับผู้ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ

ตอนนั้นยังเรียน ป.เอก ไม่จบดี แม้จะสอบผ่านทุกอย่างแล้วแต่ก็ยังไม่เรียบร้อย การลามาบ้านเพื่อจัดการเรื่องนี้ภายใน 1 เดือนจึงบีบคั้นมาก เพราะต้องทำให้เสร็จและกลับไปทำเรื่องดุษฎีนิพนธ์ให้เสร็จ เพราะถ้าไม่จบในปีนั้นก็ต้องกลับบ้านมือเปล่า

เนื่องจากเป็นลูกคนโต อะไรๆ ก็โถมลงมาที่เรา ไม่มีใครกล้าตัดสิน มีการเจรจากับฝ่ายจำเลย มีการเจรจากับหน่วยงานราชการหลายแห่งเพื่อรับสิทธิประโยชน์ ต้องทำการแบ่งแยกมรดกขนาดใหญ่ที่สำนักงานที่ดิน และอื่นๆๆ อีกมาก แต่ที่ปวดหัวมากที่สุดคือ ระหว่างจัดการเรื่องทั้งหลายนั้น คนที่เป็นเจ้าหนี้ค้าขาย ต่างกลัวว่าจะไม่ได้รับชำระหนี้ หลายคนมาทวงถามแทบจะวันเว้นวัน ถึงแม้เราจะบอกว่าไม่ต้องห่วง ขอเวลาจัดการบ้าง แต่เหล่าเจ้าหนี้ก็ไม่มั่นใจจนกว่าจะได้รับชำระหนี้แล้ว และเราในฐานะผู้รับมรดกก็ต้องรับผิดชอบทั้งสิทธิและหน้าที่

แต่ที่แย่ที่สุดคือ ไม่ปรากฎว่ามีลูกหนี้มาใช้หนี้เลยแม้แต่คนเดียว ที่สำคัญคือ เราก็ไม่รู้ว่าลูกหนี้นั้นอยู่ที่ไหน เป็นหนี้มากน้อยเท่าไร เพราะไม่ได้มีการจัดทำรายการอะไรไว้ หรืออาจจะทำแต่ไม่รู้อยู่ไหน เรื่องจึงจบลงที่ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ถูกต้องครบถ้วนตามที่เขาแจ้ง ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นหนี้จริงมากน้อยเพียงไร แต่ไม่ได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้แม้แต่บาทเดียว

ทั้งหมดนี้ เกิดกับตัวเองและครอบครัวจากการจากไปอย่างเฉียบพลัน โดยผู้จากไปไม่ได้เตรียมการไว้ ความสูญเสียต่อการจากไปนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องการจัดการทรัพย์สินก็ยุ่งยากไม่น้อย ซึ่งหลายครอบครัวถึงขนาดฟ้องร้องกันใหญ่โต จบไม่ได้ การทำพินัยกรรมก่อนเสียชีวิตก็ดี การบริหารจัดการทรัพย์สิน การเก็บเอกสารที่ให้สมาชิกครอบครัวรู้ว่าเก็บไว้ที่ไหน เป็นสิ่งที่ทุกคนควรจัดทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ให้เหลือเฉพาะเรื่องคนข้างหลังจะต้องดำเนินการตามกฎหมายเองน้อยที่สุด

เขียนเรื่องนี้ เพราะช่วงนี้มีเรื่องการจากไปของคนใกล้ชิด และเรื่องราวที่ปรากฎในสื่อเช่นเรื่องเยาวชนขับรถเกิดอุบัติเหตุทำให้มีคนเสียชีวิตหลายคน ถูกเรียกร้องค่าเสียหายหลายสิบล้านบาท ฝ่ายผู้สูญเสียนั้นก็คงประสบปัญหามากมายไม่ใช่น้อย ไม่ใช่แค่เรื่องฟ้องร้องดำเนินคดีนานนับสิบปี

ไม่มีใครอยากให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงถึงชีวิต เราไม่ประมาท เขาประมาท ก็อาจเกิดเหตุร้ายกับเราได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือการเตรียมการต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่อยู่ข้างหลังไม่ต้องยุ่งยากมากมาย ถึงขนาดที่เรียกว่า...คนตาย ขายคนเป็น....