Ways to innovate

Ways to innovate

What are the challenges for your people to innovate? อุปสรรคที่ทำให้พนักงานยังไม่คิดวิธีใหม่ ๆ คืออะไร?

ผมถามคำถามนี้กับองค์กรหนึ่ง ตั้งแต่ประธานบริษัท ไล่ลงมาจนถึงคนหน้างาน คำตอบที่ได้ช่างน่าตกใจเพราะ ให้เวลาเพียง 5 นาที ได้คำตอบมา 6 หน้ากระดาษ แสดงว่ารอโอกาสจะระบายกันอยู่แล้ว

เช่น “Afraid of being penalized if idea failed” กลัวว่าจะกลายเป็นโทษถ้าไอเดียนั้นไม่ประสบความสำเร็จ “Worry to say wrong things” กลัวจะพูดไม่ถูกหูหัวหน้า “Worry to change” ไม่กล้าเปลี่ยนแปลง และอันที่ผมทึ่งมากคือ “เรามักจะจำความผิดได้ดีกว่าเรื่องอื่น ๆ ทำความดีมากเป็นสิบๆครั้ง ทำความผิดครั้งเดียว นายจำได้ไปอีก 5 ปี”

ในปี 2012 บริษัท Google ทำงานศึกษาภายในองค์กร ชื่อว่า Project Aristotle เพื่อศึกษาการทำงานเป็นทีมอย่างประสบความสำเร็จ คนกล้าออกความเห็น ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ได้คือ 4 ปัจจัยหลัก

1) Psychological Safety ความรู้สึกปลอดภัยของสมาชิกในการออกความเห็นและมีส่วนร่วม ดังคอมเมนท์ที่ผมดึงมาข้างต้น

2) Dependability ความรู้สึกรับผิดชอบร่วมกันระหว่างเพื่อนร่วมทีม ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวเพียงลำพัง ไม่รู้สึกว่าใครเสนอคนนั้นทำ “You suggest an idea; you end up the one doing it”

3) Meaning ความรู้สึกว่างานที่ทำและไอเดียที่มีนั้นมีความหมาย “Not enough incentive and reward” ถ้าไม่มีรางวัลเราไม่ทำ

4) Impact ไอเดียที่ออกต้องนำไปสู่ผลลัพธ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มิฉะนั้นจะให้คิดไปเพื่อ? “Resistance from more experienced superiors/colleagues on top” คิดไปก็เท่านั้น ผู้ใหญ่ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว

แล้วจะแก้ปมปัญหาเหล่านี้อย่างไร?

ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

1. Everything starts at Leadership องค์กรต้องปลูกฝังภาวะผู้นำให้กับคนของตน และเราต้องปลูกฝังความหมายของ Leadership ที่ถูกต้องด้วย หลายครั้งความเป็นผู้นำถูกนำไปปนกับการเป็นผู้จัดการที่ดี หน้าที่ของผู้จัดการคือการ ‘จัดการ’ ให้งานดำเนินไปได้ด้วยความเรียบร้อย ไม่มีอุปสรรค แปลว่าต้องพยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้องที่สุด ไอเดียที่ออกนอกลู่ทาง ออกนอกธรรมเนียมปฏิบัติจึงมักถูกละเลย ในทางตรงกันข้าม หน้าที่ของผู้นำคือการท้าทายสิ่งที่เป็นอยู่ Leadership is the art of creating a better future ฉะนั้นความเสี่ยง การลองผิดลองถูก การเซย์เยสมากกว่าโน เป็นพฤติกรรมที่ต้องปลูกฝัง

2. Freedom within a Framework ผู้นำยุคใหม่ต้องฝึกให้อิสระลูกน้อง สมัยก่อนเราเคยคุยกันเรื่อง Skill กับ Will แต่เด็กสมัยนี้เก่งกว่ารุ่นเราเยอะ ความรู้ทักษะหาได้อย่างรวดเร็วทางอินเทอร์เน็ต สามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วย ส่วนเรื่องความมุ่งมั่น งานวิจัยของ Iclif บ่งชี้ว่า 75% ของพนักงานในยุคปัจจุบันทำงานเพราะตัวเองไม่ใช่เพราะหัวหน้า ดังนั้นในยุค 4.0 ผู้นำควรสนใจเรื่อง Values & Purpose เพียงวางกรอบกว้างๆให้เขาไม่ละเมิด หลังจากนั้นจงอิสระให้แต่ละคนจะได้แสดงศักยภาพออกมา ท่านใดสนใจย้อนกลับไปอ่านบท Freedom Within a Framework ที่ผมเพิ่งเขียนถึงไปไม่นานนี้ได้ครับ

3. Sustainable Happiness คำบ่น 6 หน้ากระดาษที่ผมได้รับจากคนในห้อง ทำให้นึกถึงหนังสือของอาจารย์ Adam Grant จากมหาวิทยาลัยเพนน์ เรื่อง Originals: How non-conformists change the world (2016) กล่าวถึงวิธีการที่คนใช้รับมือกับสถานการณ์ที่ตนเองไม่ชอบ 1) Exit คือเลือกออกจากสถานการณ์นั้นไปเลย 2) Voice คือการพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น 3) Persistence คือการอดทนก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุด และ 4) Neglect คือการบอกช่างหัวมัน สร้างข้อตำหนิองค์กร บ่นว่าสิ่งรอบตัว แต่ไม่ยักลาออกไปไหน Grant สรุปว่า ในระยะยาวพนักงานซึ่งมีความสุขกับการทำงานที่สุดคือคนที่เลือกวิธี Exit หรือ Voice ส่วนคนที่เลือก Persistence กับ Neglect จะเกิดสภาพเก็บกด กดดันไม่มีทางออก และสุดท้ายกลายเป็นความเครียด

หนึ่งในแบบฝึกหัดที่ผมแนะนำให้ผู้บริหารทำกับทีมคือ ลองให้ทีมเปิดใจว่าอะไรคืออุปสรรคของการนำเสนอไอเดีย หลังจากนั้นนำมาจัดหมวดว่าตรงกับข้อใดใน Google’s Aristotle: Safety, Dependability, Meaning, หรือ Impact แล้วลองนำกลยุทธ์ที่ Adam Grant ให้ไว้มาพิจารณาว่าเราจะเปลี่ยนมาใช้วิธี Voice แทนการ Persist, Neglect หรือ Exit ได้อย่างไร

ข้อสังเกตส่วนตัวอย่างหนึ่งของผมคือ เมื่อก่อนผมถามคำถามนี้ด้วยการให้คนในห้องเขียนลงฟลิปชาร์ตและนำเสนอ ความเห็นที่ได้กลับมามีเพียงไม่กี่ข้อ พอเปลี่ยนมาใช้วิธีให้ส่งทางดิจิตัลผ่านมือถือ ไม่ต้องแสดงตัวว่าใครเป็นคนเขียน คราวนี้รายการความเห็นยาวเหยียดเป็นหางว่าว

ฉะนั้น ผู้บริหารอาจลองหาวิธีให้ทีมนำเสนอไอเดียโดยไม่ต้องบอกว่าเป็นของใคร อาจจะได้ผลดีกว่าก็เป็นได้นะครับ