ผลกระทบ Brexit กับนักเรียนไทยในอังกฤษ

ผลกระทบ Brexit กับนักเรียนไทยในอังกฤษ

การเตรียมออกจากประชาคมยุโรปของอังกฤษ (Brexit) ส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่ใช่แค่เพียงการต่างประเทศ เศรษฐกิจและการลงทุน แต่ยังรวมถึงการศึกษา

ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าในสหราชอาณาจักรนั้นมีนักศึกษาต่างชาติอยู่ถึง 460,000 คน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ได้นับรวมนักศึกษาที่มาจากยุโรปอีกจำนวนมาก โดยนักศึกษาเกือบครึ่งล้านนี้ซึ่งรวมถึงคนไทยหรือคนเอเชียด้วยนั้นจำต้องเสียค่าเทอมในอัตราที่สูงกว่าคนอังกฤษหรือคนในยุโรปมากเป็นเท่าตัว ซึ่งความไม่แน่นอนจากกรณี Brexit นี้เอง ทำให้นักศึกษาในยุโรปเกิดความไม่มั่นใจว่าเมื่อสหราชอาณาจักรได้ออกจากประชาคมยุโรปแล้ว อัตราค่าเทอมจะถูกคิดออกมาเช่นไร

Brexit อันเป็นผลมาจากการทำประชามตินั้นได้ส่งผลกระทบแก่สหราชอาณาจักรและคู่ค้ามิตรประเทศในทุกมิติ ที่เห็นภาพชัดที่สุดก็คือหลังจากมีประชามติแล้ว เปลี่ยนนายกฯมาแล้วถึง 3 คน ความไม่แน่นอนถึงผลกระทบในการออกจากประชาคมยุโรปทำให้ภาคธุรกิจไม่มั่นใจ ไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ค่าเงินปอนด์ตกต่ำที่สุดในประวัติการณ์ ข้าวของราคาสูงขึ้น

หากมองในแง่ดี ผ่านแว่นขยายทางเศรษฐศาสตร์ Brexit ทำให้ค่าเงินอ่อน ดึงดูดให้สินค้าจากอังกฤษมีแต้มต่อในเชิงการแข่งขันเพิ่มขึ้น ค่าเล่าเรียน ค่าท่องเที่ยวในอังกฤษต่ำลงเพราะค่าเงินลดลง ดึงดูดนักลงทุนเพื่อมาลงทุนในอังกฤษ แต่ในความเป็นจริงนักลงทุนกลับชะลอดูทิศทางว่าอังกฤษจะไปทางไหน และไม่น้อยที่ภาคอุตสาหกรรมได้มีแผนรองรับเพื่อย้ายฐานการผลิตหรือสำนักงานใหญ่ไปยังภาคพื้นยุโรปแล้ว

Brexit ส่งผลให้รัฐบาลอังกฤษต้องทำงานหนักขึ้น เดินสายทั่วโลกเพื่อทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี เพื่อการันตีตัวเลขและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจว่าจะไม่ได้ด้อยไปกว่าเมื่อครั้งที่ยังอยู่กับสหภาพยุโรป ทั้งนายกฯและรัฐมนตรีหลายคนก็ต่างเดินสายกระชับความสัมพันธ์กับมิตรประเทศทั่วโลก

เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญจากท่านเอกอัครราชทูตอังกฤษ ร่วมโต๊ะอาหารในโอกาสต้อนรับรัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศ และคณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับทูตไทยประจำอังกฤษ ซึ่งบทสนทนาก็วนเวียนอยู่ในเรื่อง Brexit และผลกระทบในเชิงรูปธรรม เชิงเศรษฐกิจและสังคม ที่จะเกิดขึ้นทั้งในอังกฤษและไทย

Brexit ไม่เพียงส่งผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ ในแง่ของการเมืองนั้นก็ยิ่งร้อนแรง อานุภาพของ Brexit ทำการเปลี่ยนนายกฯมาแล้วถึง 3 คน เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดในทางการเมืองอังกฤษหลายเหตุการณ์ อาทิ การสั่งพักสภาซึ่งศาลสูงเพิ่งตัดสินว่าการสั่งพักนั้นไม่ถูกกฎหมาย หรือจะเป็นกรณีส.ส.งูเห่าในพรรครัฐบาลที่แหกโหวตเป็นต้น พูดได้ว่าเดาทางยากมากว่าในทางการเมืองแล้วจะไปลงเอยที่จุดไหน

ในความสับสนวุ่นวายนี้ มีความพยายามที่จะดึงแรงงานชั้นดีและปัญญาชนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งแก่อังกฤษผ่านนโยบายอนุญาตให้นักศึกษาต่างชาติที่มาเรียนที่สหราชอาณาจักรนี้อยู่ต่อเพื่อหางานทำอีก 2 ปี ซึ่งรัฐบาลกำลังจะประกาศใช้ในเร็ววัน เพื่อดึงดูดเม็ดเงินจากค่าเทอม และดึงดูดจำนวนนักศึกษาจากเดิม 460,000 คน สู่เป้าหมาย 600,000 คนในระยะเวลา 10 ปี

นโยบายนี้แท้จริงไม่ใช่อะไรใหม่ แต่เป็นการนำนโยบายเดิมที่ถูกยกเลิกเมื่อปี 2555 โดยนางเทเรซา เมย์อดีตนายกฯ สมัยเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยอังกฤษ มาปัดฝุ่นและนำกลับมาใช้ภายใต้ฐานความเชื่อที่ว่าจะเกิดผลเชิงบวกต่อประเทศ

ถึงแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในสหราชอาณาจักรที่ดูไร้เสถียรภาพและส่งผลลบต่อประเทศเพียงใด สิ่งที่คนอังกฤษภูมิใจและคนทั่วโลกยังคงมีความมั่นใจคือ ระบบการศึกษาและสถาบันการศึกษาของสหราชอาณาจักร ที่คงคุณภาพมาตรฐานมั่นคงสม่ำเสมอตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เป็นหน้าเป็นตาดึงดูดเม็ดเงินจำนวนมหาศาลและนักศึกษาต่างชาติได้อย่างไร้ข้อกังขา อันเป็นที่มาของการรื้อฟื้นนโยบายนี้ภายใต้ความไร้เสถียรภาพในประเทศอันเป็นผลพวงมาจาก Brexit