จับตา “ทีวีผ่านเน็ต” ดิสรัป !!! ผู้ประกอบการคนกลาง

จับตา “ทีวีผ่านเน็ต” ดิสรัป !!! ผู้ประกอบการคนกลาง

ในอนาคตสื่อแบบเดิมๆ ที่เป็นตัวกลางและไม่มีเนื้อหาของตัวเองก็อาจจะค่อยๆ หายไป

ผมเป็นแฟนกีฬารักบี้และติดตามการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่จัดมาทุกๆ 4 ปี โดยดูการถ่ายทอดสดผ่านเคเบิ้ลทีวีมาตลอด ในปีนี้จัดแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น โดยเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา และจะแข่งขันทั้งหมด 48 คู่ ผู้ที่ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดในครั้งนี้คือ Bein sports และมีช่องเคเบิ้ลทีวีในประเทศไทยเป็นตัวแทนนำสัญญาณถ่ายทอดสดมายังผู้ชม

แต่ในปีนี้คนที่จะชมรักบี้ชิงแชมป์โลก สามารถเลือกซื้อบริการโดยตรงจากเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ผ่าน Bein Sports connect ที่ให้บริการในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งผมก็เลือกที่จะทำการซื้อดูรายการรักบี้ชิงแชมป์โลกทั้ง 48 คู่ โดยตรงไปยังเจ้าของลิขสิทธิ์แล้วชำระเงินผ่าน “แอพสโตร์” ด้วยเหตุผลของความง่ายต่อการใช้งาน และการซื้อบริการ เมื่อเทียบกับการที่จะซื้อผ่านผู้ให้บริการในไทย ที่มีปัญหาของความซับซ้อนการซื้อบริการ

ผมเองในตอนแรกก็พยายามที่จะทดลองซื้อผ่านผู้ให้บริการทีวีในบ้านเรา แต่พบปัญหาและอุปสรรคมากมายทั้งการเข้าไปหาข้อมูลจากเว็บไซต์และติดต่อคอล เซ็นเตอร์ สุดท้ายต้องล้มเลิกความตั้งใจเดิมและตัดสินใจซื้อตรงไปยัง Bein Sports

นอกจากนี้ Bein Sports ยังมีลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลอีกหลายลีกในต่างประเทศ รวมถึงฟุตบอลเอฟเอคัพของอังกฤษ ซึ่งผู้ที่ต้องการชมสามารถจ่ายบริการเป็นรายเดือนเสมือน เน็ตฟลิกซ์ ทางด้านกีฬา ปรากฎการณ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์กีฬาเลือกที่จะใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตมาถ่ายทอดสัญญาณตรงให้กับผู้ชมในบ้านเราไม่ใช่เรื่องใหม่ เมื่อปีที่แล้วก็มีทีวีช่องโซเชียลที่ชื่อ DAZN ที่ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกและยูโรป้าลีก ซึ่งเลือกที่จะให้แฟนบอลในไทยได้ชมฟรีผ่านทางยูทูบ หรือเฟซบุ๊ค โดยอาจมีรายได้จากค่าโฆษณา

สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนประสบการณ์ในการดูรักบี้ชิงแชมป์โลกของผมในรอบนี้ คือ การเรียกดูจากอุปกรณ์ใด ที่ใด ก็ได้ ไม่ว่าเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือการเชื่อมสัญญาจากสมาร์ทโฟนเข้ากับทีวี เปรียบเทียบกับในอดีตที่ต้องดูสดผ่านหน้าจอทีวีเท่านั้น

เมื่อวิเคราะห์จากพฤติกรรมการชมรายการทีวีของผู้คน เริ่มเห็นได้ว่าช่องทีวีปกติกำลังถูกดิสรัป (Disrupt) ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่ผ่านมาผมชื่นชอบกับการดูทีวีปกติทั้งรายการข่าว บันเทิง กีฬา และซื้อบริการช่องทีวีเคเบิ้ลมาตลอด ซึ่งช่วง 4-5 ปีมานี้ได้เลิกรับเคเบิ้ลทีวี แต่กลับเลือกซื้อบริการเน็ตฟลิกซ์ และชำระเงินโดยตรงกับผู้ให้บริการที่อยู่ต่างประเทศ

ส่วนช่องรายการทีวีปกติก็ไม่ได้เลือกดูผ่านช่องทีวีแบบเดิมๆ แต่กลับมาดูรายการทีวีสดผ่านยูทูบ เช่น ช่องทีวี ซีเอ็นเอ ,อัลจาซีราร์ หรือซีเอ็นเอ็น หรือแม้แต่รายการทีวีไทย วิธีการดูรายการทีวีเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง กลายเป็นการดูที่ใด เวลาใด ด้วยอุปกรณ์ใดก็ได้

วันนี้ผู้มีเนื้อหาและรายการทีวีย่อมได้เปรียบ เจ้าของรายการสามารถที่จะส่งตรงมายังผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยไม่จำเป็นต้องผ่านคนกลางหรือช่องทีวีรูปแบบเดิมๆ และยิ่งเมื่อเห็นปรากฏการณ์เจ้าของลิขสิทธิ์ขายรายการไปยังผู้บริโภคโดยตรง ยิ่งทำให้เห็นได้ว่าในอนาคตสื่อแบบเดิมๆ ที่เป็นตัวกลางและไม่มีเนื้อหาของตัวเองก็อาจจะค่อยๆ หายไป และค่าใช้จ่ายในการดำเนินรายการก็อาจจะสูงกว่าทีวีช่องโซเชียลมาก

นอกจากนี้ ทีวีช่องเหล่านี้ยังมีโอกาสเก็บข้อมูลผู้ชมได้ดีกว่าทีวีรูปแบบเดิม เพราะสามารถจะทราบได้ว่าผู้ชมเป็นใคร ดูบ่อยแค่ไหน และดูผ่านช่องทางไหน ก็ยิ่งทำให้ทีวีรูปแบบเดิมๆ แข่งได้ยากยิ่งขึ้น

ผมยังมองไม่ออกด้วยว่า ในอนาคตทำไมผู้บริโภคจะต้องซื้อรายการทีวี รายการบันเทิง หรือกีฬา จากช่องทีวีปกติที่เป็นคนกลาง ในเมื่อผู้ชมสามารถเลือกชำระเงินโดยตรงให้กับเจ้าของรายการ และเลือกดูผ่านออนไลน์ได้จากอุปกรณ์ใดๆ วันนี้รายการรูปแบบเดิมที่ยังพอขายได้ คงเป็นเพราะมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งที่ยังมีช่องว่างในการใช้เทคโนโลยี

รวมทั้งสัญญาณไวไฟยังไม่ทั่วถึง หรือมีปัญหาในรูปแบบการชำระเงิน แต่หากในอนาคตเทคโนโลยีการสื่อสาร 5จี เกิดขึ้น ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลดีขึ้น บริษัทที่เป็นคนกลางในทุกๆ ด้านก็อาจถูกดิสรัปชั่น สุดท้ายผู้ที่ยังแข่งขันได้คือเจ้าของรายการหรือผู้ที่มีเนื้อหาต่างๆ นั่นเอง