ความเก่งที่อยู่ผิดที่ ย่อมไม่มีค่า

ความเก่งที่อยู่ผิดที่ ย่อมไม่มีค่า

เก่ง หรือไม่เก่งนั้น ขึ้นกับว่าที่นั้นเปิดโอกาสให้ได้ใช้ความเก่งหรือไม่ ถ้าอยากแสดงความเก่งให้ปรากฎ ต้องเลือกที่ที่ยอมรับความเก่งของเรา

เก่งภาษาไทย แต่ไปอยู่ในที่ทำงานที่เขาใช้ภาษาจีน ความเก่งนั้นก็ไม่มีประโยชน์อันใด ซึ่งถ้าดูออกเลยว่าความเก่งของเราจะใช้ได้กับที่นั่นเลยหรือไม่ ก็ง่ายที่จะตัดสินใจว่าจะอยู่ทำการงานกับที่นั่นหรือไม่ แต่ในชีวิตจริงนั้นดูไม่ง่ายนักว่า ความเก่งของเราจะใช้ได้หรือไม่ในที่นั้น คนที่คิดว่าตนเองเป็นคนเก่ง และกำลังหาที่ทางจะแสดงความเก่งให้เป็นที่ประจักษ์ ให้ดูก่อนเลยว่า ถ้าที่ไหนมีวัฒนธรรมการทำงานที่ยึดโยงอย่างแน่นหนากับความสำเร็จที่เคยเกิดมาในอดีต ที่นั่นไม่เหมาะกับคนเก่งที่อยากแสดงฝีมือ

ที่ใดก็ตามเอาความสำเร็จที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตมาแปลงเป็นวัฒนธรรมการทำงาน ที่นั่นมักยึดติดอยู่กับวิธีทำงานและแนวคิดที่ใช้ในขณะที่เกิดความสำเร็จขึ้น ผู้คนที่นั่นจะเริ่มยึดติดกับหนทางวิธีการที่ได้ทำมาแต่เดิม พร้อมกับจะสรรหาหนทางที่จะใช้เป็นเหตุในการปฏิเสธความเก่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมา เช่นบอกว่าเคยลองทำตามวิธีใหม่ๆ แล้วแต่ได้ผล เพราะเราไม่เหมือนกับใคร เรามีลัษณะพิเศษที่แตกต่างไปจากคนอื่น เมื่อเป็นวัฒนธรรมที่แปลงมาจากความสำเร็จแต่ดั่งเดิม ย่อมไม่ประสงค์ให้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น อาจทำให้วิธีทำงานการที่ทำอยู่นั้น ใช้ไม่ได้อีกต่อไป องค์กรที่เชื่อแบบนี้ ยอมล่มสลาย มากกว่าที่จะยอมปรับเปลี่ยน จึงไม่มีความต้องการความเก่งใหม่ๆ ใดๆ ไม่ต้องการคนเก่งที่จะมาช่วยให้ปรับเปลี่ยนความสำเร็จดั่งเดิมไปสู่ความสำเร็จใหม่ ๆ ถ้าจะสังเกตว่าองค์กรไหนเข้าข่ายที่คนเก่งจะไร้ค่า ถ้าไปอยู่ทำการงานด้วย ให้ดูว่าเวลามีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้น ผู้คนในองค์กรนั้นให้ความสนใจมากแค่ไหน ถ้าเห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆแล้วแค่บอกว่า เราไม่เหมือนใคร ไม่ต้องไปใส่ใจกับการเปลี่ยนแปลงนั้น ในทางตรงข้ามจะตื่นเต้นไปกับการใช้ความเก่งเดิมๆ กับการงานเดิมๆ และภาคภูมิใจที่ยังคงยึดมั่นอยู่กับความเก่งเดิมๆ นั้นไว้ ถ้ายึดมั่นกับความสำเร็จที่มาจากการขยายตลาด จนความสำเร็จนั้นกลายเป็นวัฒนธรรมการทำงาน ก็จะหลับหูหลับตาขยายตลาดไปเรื่อยๆ แม้ว่ายิ่งขยายจะยิ่งขาดทุน ก็ยังจะทำต่อไปเรื่อยๆ จึงไม่ต้องการความเก่งในการสร้างนวัตกรรมใดๆ ขอแค่ขยายตลาดได้ก็พอแล้ว ถ้าการขยายตลาดมีปัญหา ก็จะทุ่มเทเงินทองอย่างมากมายไปเพื่อการขยายตลาด แทนที่จะใช้สร้างคุณค่าใหม่ๆ ที่สร้างรายได้ให้มากขึ้น

ในทางตรงข้าม ที่ใดก็ตามที่ปรับเปลี่ยนเส้นชัยของการงานอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่เส้นชัยเดิมยังไปไม่ถึง หรือยังไม่มีอะไรที่จะทำให้เส้นชัยเดิมนั้นมีคุณค่าที่ลดน้อยถอยลง เดินหน้าไปยังไม่ถึงไหนก็ปรับเปลี่ยนอีกแล้ว องค์กรแบบนี้กระตือรือล้นกับการเปลี่ยนแปลงแทบทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่โลกนี้ และมโนไปว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเป็นความจำเป็นสำหรับองค์กร ความเก่งที่ต้องการจึงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลา ความเก่งที่เคยใช้ประโยชน์ได้ กลายเป็นความเก่งในเวอร์ชั่นเก่าภายในเวลาไม่นาน ซึ่งดูแล้วเหมือนจะดี คือมีพัลวัตสูงมาก น่าจะฉกฉวยโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงได้ดี และมีโอกาสให้คนเก่งแสดงฝีมือได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าดูกันจริงๆ แล้วจะพบว่าเป็นองค์กรที่ไม่มีความเก่งใดๆ อยู่เลย เพราะจะทำอะไรให้เก่งนั้นต้องใช้เวลาพอสมควร พยายามจะเก่งในการสร้างนวัตกรรมเรื่องรถยนต์ ยังไม่ทันเก่งจริงก็บอกว่าให้ไปเก่งเรื่องรถไฟแทน อีกสักพักก็เปลี่ยนใหม่เป็นให้ไปเก่งเครื่องบินแทน ความเก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงกลายเป็นความเก่งที่ไร้ประโยชน์ในระยะเวลาสั้นมาก ถ้าทำงานกับองค์กรแบบนี้อยู่นานวัน จากเดิมที่เป็นเสมือนนก ที่เคยบินได้เก่ง อีกสองสามวันต้องมาว่ายน้ำเก่ง ผ่านไปอีกหน่อยก็กลายเป็นต้องวิ่งเก่งแทน

จะเก่งแค่ไหน ถ้าอยู่ผิดที่ผิดทาง ความเก่งย่อมไม่ปรากฎคุณค่าใด ๆ เลือกให้ดีๆ ก่อนที่จะแสดงความเก่งใด ๆ ออกมาให้คนเห็น