ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ในศาลยุติธรรมไทย

ระบบศาลอิเล็กทรอนิกส์ในศาลยุติธรรมไทย

ปัจจุบันสังคมโลกได้เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ๆ ก็สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างกว้างขวาง และรวดเร็ว

สำหรับสังคมไทย คนไทยมีการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมต่าง ๆ กันอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทำให้ภาครัฐเริ่มตระหนักและรับรู้ว่า เทคโนโลยี คือ ปัจจัยที่ขับเคลื่อนและยกระดับกระบวนการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตภาครัฐจึงได้นำเอาเทคโนโลยีมาเป็นกลไกลสำคัญในการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคมไทย เพื่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระดับประเทศ และมุ่งใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริการของหน่วยงานภาครัฐแทนกระบวนการ ทำงานเดิมที่มีความยุ่งยาก ซับซ้อน เข้าถึงยาก มาสู่ยุคดิจิทัลที่การเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ จะต้องเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ ให้มีความกะทัดรัด รวดเร็ว และถูกต้อง ก่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้

ศาลยุติธรรมเป็นหนึ่งในองค์กรภาครัฐที่มีภารกิจในการพิจารณาพิพากษาคดีเพื่ออำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันศาลยุติธรรมประสบปัญหาคดีล้นศาล จึงทำให้ต้องนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาระบบงานเพื่อให้การปฏิบัติงานสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้นซึ่งเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาประยุกต์ใช้ เรียกว่า Electronic Court หรือ e-Court หรือในบางประเทศก็เรียกว่า High-Tech Court หรือ Technology Court นั่นเอง

ในประเทศเกาหลีใต้ ได้มีการศึกษาการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้กับกระบวนการพิจารณาคดีของศาลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 โดยการร่วมมือกับสถาบันชั้นสูงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกาหลี (Korean Institute of Science and Technology-KIST) ต่อมาได้มีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบจัดการสำนวนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้พิพากษาในการบริหารจัดการสำนวนและสามารถออกคำพิพากษาทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ สำหรับเหตุผลที่ประเทศเกาหลีใต้ได้มีการพัฒนาระบบ e-Court ขึ้นนั้นเนื่องมาจากประเทศเกาหลีได้มีการพัฒนาทางด้านอิเล็กทรอนิกส์เป็นอย่างมากโดยได้มีการพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (ultra high speed internet) ระบบอัตโนมัติทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ รวมถึงระบบ Social network ขึ้น ดังนั้นวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์จึงน่าจะเป็นทางเลือกนอกเหนือไปจากวิธีทางกระดาษ และได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในห้องพิจารณาคดี (e-trial) อาทิการสืบพยานผ่านจอภาพ (Video witness hearing System) การใช้ระบบยื่นคำร้องผ่านทางอินเตอร์เน็ต (e-filing) เป็นต้น ปัจจุบันประเทศเกาหลีได้ใช้ระบบ e-filing กับคดีทุกประเภทยกเว้นคดีอาญาเนื่องมาจากคดีอาญานั้นจะต้องมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับทางพนักงานอัยการดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่สามารถทำได้

ระบบ e-Court ในประเทศไทย ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2553 เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานศาลเกี่ยวกับการบริหารสำนวนคดี และอำนวยความสะดวกให้แก่คู่ความตามนโยบายของคณะผู้บริหาร โดยมีแนวคิดพื้นฐาน คือ ใช้งบประมาณให้น้อยที่สุด ใช้เครื่องมือที่มีอยู่แล้วปรับเข้ากับระบบงานของศาล โดยต้องไม่กระทบต่อการทำงานของผู้พิพากษา ระมัดระวังผลกระทบของกฎหมาย และการรักษาความลับของคู่ความ

ในปัจจุบันศาลยุติธรรมได้หันมาพัฒนาเรื่องการนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการคดีและบริการประชาชน โดยเชื่อมโยงระบบเทคโนโลยีของศาล จำนวน 255 แห่งทั่วประเทศเข้าด้วยกัน  ภายใต้โครงการพัฒนาระบบบูรณาการข้อมูลคดีศาลยุติธรรม Electronic Court Database และเชื่อว่าระบบนี้จะเชื่อมโยงข้อมูลกับศาลทั่วประเทศได้ภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการพิจารณาคดีมากยิ่งขึ้น

จากที่กล่าวมาข้างต้น สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในการใช้งานระบบ e-Court คือ กฎหมาย และข้อกำหนดต่าง ๆ ของศาลในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้งาน ซึ่งได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 120/4 ที่กำหนดให้ “คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจขอให้ศาลทำการสืบพยานบุคคลที่อยู่นอกศาลโดยระบบกำรประชุมทางจอภาพได้...” ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 59 วรรคสาม ที่กำหนดว่า “ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนซึ่งมีเหตุอันควรโดยผู้ร้องขอไม่อาจไปพบศาลได้ ผู้ร้องขออาจร้องขอต่อศาลทางโทรศัพท์โทรสารสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่เหมาะสมเพื่อขอให้ศาลออกหมายจับหรือหมายค้นได้...”

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ. ศ. 2551 มาตรา 16 กำหนดว่า “การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใดหรือการแจ้งวันนัดฟังคำสั่งของศาลหรือข้อความอย่างอื่นไปยังคู่ความหรือบุคคลอื่นใดในคดีผู้บริโภค ซึ่งปกติจะต้องดำเนินการโดยทางเจ้าพนักงานศาลนั้นศาลอาจสั่งให้ดำเนินการโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโทรศัพท์โทรสารไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่นใด...” ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญาพ. ศ. 2548 ก็เช่นกัน ได้กำหนดถึงการร้องขอและการออกหมายจับ หมายค้นโดยทางเทคโนโลยีสารสนเทศไว้ในข้อ 28 ที่กำหนดว่า “ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนและมีเหตุอันสมควร ซึ่งผู้ร้องขอไม่อาจไปพบผู้พิพากษาได้ ผู้ร้องขออาจร้องขอต่อผู้พิพากษาทางโทรศัพท์ โทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่เหมาะสม เพื่อขอให้ศาลออกหมายจับหรือหมายค้นได้” เป็นต้น

แต่การใช้ระบบ e-Court ดังกล่าวยังจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อจำกัดอีกหลายประการ เช่น การเชื่อมสัญญาณระหว่างศาลยุติธรรมในท้องที่ต่างจังหวัด การออกกฎระเบียบใหม่จำนวนมากในลักษณะข้อบังคับ ความเข้าใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ความสำคัญของการป้องกันการจารกรรมข้อมูล ข้อบังคับอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล (ซึ่งต้องมีการพิจารณาถึงกระบวนการเข้ารหัสลับ การกรอกข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ โดยต้องมีคณะทำงานที่คอยดูแลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ) รวมถึงประชาชนในการดำเนินการตามกฎระเบียบ และประการสำคัญสุดท้ายคือ การขาดการรับรู้ของประชาชนทั่วไปของการมีอยู่ของระบบ e-Court ในกระบวนการพิจารณาในชั้นศาลอีกด้วย

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและเข้าใจถึงระบบ e-Court เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ระบบดังกล่าวได้ อีกทั้งควรมีการนำเสนอข้อมูลเป็นขั้นตอนอย่างเป็นระบบ เข้าใจง่าย โดยอาจเริ่มจากการประชาสัมพันธ์ตามสื่อสาธารณะต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้ระบบ e-Court อันจะเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อภาครัฐและประชาชนทั่วไป

โดย... ดร.อรัชมน พิเชฐวรกุล