ลุ้นหุ้นแบงค์ดัน SET Index ปีหน้า

ลุ้นหุ้นแบงค์ดัน SET Index ปีหน้า

การบังคับใช้มาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ TFRS 9 ในวันที่ 1 มกราคม 2020 จะส่งผลกระทบทั้งบวกและลบต่อบริษัทจดทะเบียนในหลายๆ กลุ่ม

โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และไฟแนนซ์ ที่ต้องเปลี่ยนวิธีการคำนวณสำรองหนี้สงสัยจะสูญใหม่ จากเดิมที่ทยอยตั้งเมื่อลูกหนี้เริ่มผิดนัดชำระ มาเป็นตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญตั้งแต่วันแรกที่ปล่อยกู้ โดยประมาณการจากความน่าจะเป็นที่ลูกหนี้รายนั้นๆ จะผิดนัดชำระ และจากยอดที่คาดว่าผิดนัดชำระ เป็นต้น ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องตั้งสำรองมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน มาตรฐานใหม่นี้ น่าจะทำให้ธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ทำให้หนี้เสียน่าจะมีแนวโน้มน้อยลงในอนาคต

 ธนาคารพาณิชย์ของไทย ได้เตรียมการปรับใช้มาตรฐานบัญชี TFRS 9 มาตั้งแต่ปี 2016 โดยการทยอยกันสำรองส่วนเพิ่ม ที่เรียกว่า General Reserve เพิ่มขึ้นจากการยอดการตั้งสำรองปรกติจากวิธีคำนวณเดิม ทำให้อัตราส่วนกันสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก และอยู่ในระดับเกิน 100% เกือบทุกแห่ง ด้วยเหตุนี้ กำไรของธนาคารพาณิชย์จึงถูกกดดันจากค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สงสัยจะสูญค่อนข้างมากในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม การเตรียมตัวที่ค่อนข้างดีของธนาคารต่างๆ ทำให้ปัจจุบัน General Reserve ของแต่ละธนาคารมีปริมาณสูงมาก แม้ว่าหลังเริ่มใช้มาตรฐานใหม่ ปริมาณการกันสำรองปรกติจะต้องเพิ่มขึ้น แต่สำรองส่วนเกินน่าจะยังคงเหลืออยู่มาก ซึ่งส่วนที่เกินนี้ มาตรฐานบัญชีใหม่ไม่ได้กำหนดให้มีไว้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจออกประกาศมาเพื่อเป็นแนวทางให้ธนาคารพาณิชย์สามารถจัดการกับเงินสำรองส่วนเกินนี้ได้ ซึ่งแนวทางที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เสนอในการประชาพิจารณ์ล่าสุด คือการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ทยอยลดสำรองส่วนเกินตามวิธีเส้นตรงเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยการกลับรายการสำรองผ่านงบกำไรขาดทุน ทำให้ธนาคารจะมีกำไรมากขึ้นจากส่วนนี้ แต่หากธนาคารแห่งประเทศไทยไม่อนุญาตให้ธนาคารต่างๆ กลับรายการสำรอง เงินสำรองส่วนนี้ก็จะเป็นส่วนรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจ เสริมให้ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

 นอกจากนี้ แม้ว่ามาตรฐานบัญชี TFRS 9 ทำให้ธนาคารต้องตั้งสำรองหนี้สูญมากขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองของธนาคารน่าจะมีแนวโน้มลดลงจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากธนาคารไม่จำเป็นต้องตั้ง General Reserve อีก ทำให้ค่าใช้จ่ายที่ลดลงส่วนหนี้ เมื่อรวมกับการกลับรายการสำรองเดิมที่เกิน (หากทำได้) จะทำให้อัตราการเติบโตของกำไรของธนาคารพาณิชย์เติบโตอย่างก้าวกระโดดในปี 2020 โดยเฉพาะในธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีสำรองส่วนเกินอยู่มากกว่าในธนาคารขนาดเล็ก

ถึงแม้ว่ากำไรจากการดำเนินงานหลักของธนาคารยังไม่แข็งแรงนัก จากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มเป็นขาลง และการเติบโตของสินเชื่อยังชะลอตัว จากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตลดลง ทำให้ความต้องการสินเชื่อลดลง รวมถึงตัวธนาคารเองใช้ความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น NPLs จึงมีแนวโน้มทรงตัว แม้ไม่ลดลง แต่ไม่น่าจะปรับขึ้นสูงในระดับที่น่ากังวล

และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของธนาคารมีแนวโน้มลดลง นอกเหนือจากส่วนของค่าใช้จ่ายสำรองที่ได้กล่าวไปแล้ว ธนาคารยังลดค่าใช้จ่ายผ่านการใช้เทคโนโลยี การลดจำนวนพนักงาน และการปิดสาขาที่ไม่ก่อรายได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย ดังนั้น เมื่อหักลบกับส่วนของรายได้ธนาคารที่อาจลดลงไป กำไรสุทธิของธนาคารน่าจะยังเติบโตได้ และอาจเติบโตในระดับ 2 หลักหากมีการกลับสำรองส่วนเกินได้จริง

ด้วยราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารที่ปรับตัวลงมามากกว่า 10% ในปีนี้ สาเหตุหลักมาจากการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ Valuation ของหุ้นธนาคารหลายๆ แห่งเริ่มกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง และการที่กำไรมีแนวโน้มเติบโตสูงในปีหน้า อาจทำให้หุ้นกลุ่มนี้ Outperform กลุ่มอื่นๆ ได้

ตลาดหุ้นไทยเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบบริเวณ 1,600 -1,680 จุด ในรอบเดือนที่ผ่านมา  โดยตลาดหุ้นยังถูกกดดันจากการปรับลดคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียน ที่ยังคงถูกปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกกลุ่มธุรกิจ หลังการประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 โดยกลุ่มที่ถูกปรับลดกำไรลงมากที่สุดคือกลุ่มพลังงาน จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง อีกทั้งภาวะเศรษฐกิจยังอ่อนแอ ตัวเลขการส่งออกล่าสุดยังติดลบ -4% ในเดือนสิงหาคม ทำให้จีดีพีของไทยในปีนี้มีแนวโน้มที่จะโตต่ำกว่า 3% รัฐบาลจึงมีการใช้นโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ทำให้ SET Index ไม่ได้ปรับตัวลงมากนักจากต้นปี แต่ในระยะจากนี้  หากหุ้นในกลุ่มธนาคารที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ก็อาจทำให้ SET Index ปรับขึ้นไปบริเวณ 1,750 จุด ได้อย่างไม่ยาก นักลงทุนจึงอาจพิจารณาลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารได้ครับ