เมาแล้วขับกับเมาแล้วEN

เมาแล้วขับกับเมาแล้วEN

ควรต้องกำหนดระดับความเข้มข้นของเอลกอฮอล์ในเลือดไว้เท่าไร จึงจะทำให้อาชีพบริการชงเหล้า ที่ผู้ชง(entertainer)ดื่มด้วย

เพื่อความปลอดภัยในอาชีพต่อตัวเองและต่อผู้อื่น หากว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ คือระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถ้าขับขี่รถก็จะถือว่าผิดตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)จราจรทางบก พ.ศ.2560 เพราะเป็นภัยต่อตัวเองและผู้อื่น

ในฐานะผู้ว่าจ้าง ใช่ว่าจ้างใครแล้ว จะใช้งานอย่างไรก็ได้ เรามีพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 แก้ไข พ.ศ.2562 มีเจตนาป้องกันและคุ้มครองการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการใช้แรงงานด้วยการให้บริการหลากหลายรูปแบบ เป็นหลักการ แนวทางในการกำหนดเกณฑ์ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสำหรับผู้มาชงเหล้าที่ดื่มด้วย ซึ่งถ้าเกิดกรณีมากกว่าที่กำหนดถือว่ามีเจตนาทำให้ผู้รับจ้างเสี่ยงอันตราย

ผู้ประกอบอาชีพบริการชงเหล้าในเมืองหลวงเมืองใหญ่และชายแดน มีหลากหลายเพศสภาพ เป็นวัยหนุ่มสาว ผู้ควรมีชีวิตทำงานและอยู่กับครอบครัวไปอีกนาน การทำอาชีพเสี่ยงสูงมากต่อสุขภาพและชีวิตทั้งระยะเฉียบพลันและระยะยาวเพื่อรายได้สูงควรมีกฎเกณฑ์เช่นเดียวกับอาชีพในเงื่อนไขคล้ายกัน เช่น อาชีพเหมืองแร่ นักบิน ผลิตไมโครชิพคอมพิวเตอร์ที่สารหนูส่งผลระยะยาว ทั้งจากการแท้งบุตร หรือเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางเดินหายใจ มะเร็ง เป็นต้น

ผลเฉียบพลันกับผู้ดื่มหากความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ไปถึง 100 จะทำให้เดินเซไปเซมา ถ้าถึง 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ก็จะเมา อาเจียน เดินไม่ไหว หากมากขึ้นก็ขาดสติ ไม่รู้ตัว เสียชีวิตได้เมื่อเกิน 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เพราะหัวใจอาจเต้นผิดจังหวะ ทำงานหนัก

แอลกอฮอล์ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ในเลือดได้มาจากดื่มเบียร์ 2 กระป๋องโดยประมาณ ไวน์ไม่เกิน 2 แก้ว และเหล้า 6 ฝาในการออกฤทธิ์ 3 ชั่วโมง

อย่างไรก็ดี อันตรายถึงชีวิตจากหมดสติและหลับลึกของคนเมาไม่ขึ้นอยู่กับระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเพียงอย่างเดียว นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าหากหมดสติและการหลับลึกอยู่ในท่าที่ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ ก็เป็นเหตุเสียชีวิตได้เพราะเจ้าตัวไม่สามารถตื่นมาหายใจเองได้

ส่วนผลระยะยาวก็คือ ตับแข็ง พิษสุราเรื้อรัง หัวใจ สมองเสื่อม ฯลฯ

รู้อย่างนี้แล้ว ทั้งผู้จัด ผู้หา ผู้ส่ง ตลอดจนผู้ว่าจ้างและผู้รับงาน ยิ่งต้องร่วมกันกำหนดระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสำหรับผู้ให้บริการชงเหล้าและดื่ม

ควรต้องมีการวัดมีเครื่องตรวจวัดระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดว่าจำกัดไว้เท่าใด ผู้จัดหา ผู้ส่ง และผู้ให้บริการสามารถซื้อติดตัวไว้ใช้ ราคาไม่แพง

อาชีพบริการชงเหล้าโดยตนเองดื่มด้วยอย่างไม่รู้และไร้ขีดกำหนดระดับความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดของตนเอง คือ การขับรถที่ไม่เพียงไม่จำกัดความเร็วแต่ไร้กระทั่งเบรค

ผู้ว่าจ้างที่บริสุทธิ์ใจย่อมต้องเข้าใจ ผู้รับจ้างที่บริสุทธิ์ใจทำอาชีพนี้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดจะได้รู้ความเสี่ยงต่อสุขภาพทั้งระยะเฉียบพลันและระยะยาว ผู้ประกอบอาชีพก็ใช่ว่าทุกคนจะอยากก้าวข้ามการเป็น entertainer ไปสู่การเป็น entertainer บวกวีไอพี คือบริการทางเพศด้วย แต่การต้องดื่มโดยไร้เบรคไร้ขอบเขตใดๆ จนเซหมดสติ ทำหน้าที่ชงเหล้าไม่ได้เลยเช่นนั้น เจตนาของผู้จัดหาและผู้ว่าจ้างคืออะไรกันแน่ กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา การเสียชีวิตของ “ลัลลาเบล” น่าจะเข้าข่ายหลายมาตรา ในพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ฯ

กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้ อย่ามัวเสียเวลาเรียกร้องกฎหมายควบคุมและคุ้มครองอาชีพบริการดังกล่าว ไล่เรียงดูเถิดอดีตถึงปัจจุบันเกี่ยวกับความเสี่ยงของผู้ให้บริการบันเทิง ทั้งสุรายาเมาและบริการทางเพศ กฎหมายล้วนใช้หลักเดียวกัน คือ ควบคุมลงโทษผู้ให้บริการ “ที่ไม่รักดี” และปกป้องผู้ใช้บริการ “ตามธรรมชาติทางเพศ” ได้แก่ พ.ร.บ.สัญจรโรค ร.ศ. 127 ในรัชกาลที่ 5 พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 และ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 สมัยจอมพลสฤษดิ์ซึ่งแก้ไขมาเป็นลำดับ ตลอดจนการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ ฉบับ “ลุงตู่” ตั้งแต่อยู่ในรัฐบาล คสช. และจะเสนอในรัฐบาลเลือกตั้ง โดยดำริจดทะเบียนผู้ให้บริการแทนที่จะยกเลิกทั้งฉบับเขียนใหม่ให้ทันข้อเท็จจริง ทุกวันนี้มือถือ แชทไลน์ เฟซบุ๊ค ฯลฯ  และ ผู้ยินดีจ่ายบริการใหม่ๆ ทำให้ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2546 ล้าสมัยไร้น้ำยาที่ควบคุมแค่สถานบริการเหล้าสุรามีพนักงานประจำ ปัจจุบันจัดห้องในบ้านมีโซฟานั่งดื่มสบายเลือกล็อคชั่วโมงผู้มาชงเหล้าตอนกลางวันแสกๆ หลบงาน หลบครอบครัวมาได้สะดวกแชร์กันถูกกว่าดื่มที่สถานบริการ ต่อไปอาบอบนวดก็เรียกมาที่อ่างอาบน้ำบ้านได้ จะอาบเดี่ยว หรือเอี่ยวกับเพื่อนก็ตามแต่ผู้มีเงินใช้เงิน ตามเสรีและ“ธรรมชาติทางเพศ”

อย่าออกมาเสียเลยจะดีกว่ากฎหมายที่อวดว่าเป็นผลงานทางนิติบัญญัติฉบับที่สองร้อย สามร้อย ของรัฐสภาในสมัย ลุงตู่หากในด้านสิทธิเสมอภาคความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศจะตกที่นั่งลำบากขึ้น  อย่างเช่น สนช.ผ่านร่างกม.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.... ที่หญิงถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวจะตกนรกทั้งเป็น ด้วยการถอดกลไกอำนาจหน้าที่ตำรวจให้ผู้ถูกกระทำต้องตกอยู่ในภาวะ “ถูกไกล่เกลี่ย” โดยเจ้าหน้าที่ พม. มากกว่าการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหายซึ่งจะเสี่ยงถูกผลิตซ้ำความรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้ ยังดีที่คัดค้านมากมายเกิน 20 องค์กรจึงออกพระราชกำหนดชะลอการใช้ พ.ร.บ.นี้ไปก่อน

จึงควรเข้าใจและอำนวยให้ผู้เกี่ยวข้องกำหนดกฎเกณฑ์ควบคุม(และกำหนดโทษ)อาชีพบริการชงเหล้าให้ชัดเจน ดีกว่ารอกฎหมายจากรัฐสภาประชา(ย)ธิปไตยที่ต้องรอชงเรื่องจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม.ที่พลาดหน้าแตกมาแล้วประเด็นความรุนแรงในครอบครัว แสดงถึงความไม่เข้าใจและล้าหลังข้อมูลความเป็นจริงอย่างยิ่ง.