กลศึก 4 R

กลศึก 4 R

สหรัฐฯ ทำสงครามการค้ากับจีนด้วยความเชื่อว่า แม้สงครามการค้าจะทำให้เจ็บตัวทั้งคู่ แต่จีนจะเจ็บหนักกว่า

 ส่วนจีนเองก็มีความเชื่อว่า ถ้าในระยะสั้นจีนทนได้ สุดท้ายในระยะยาว เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเริ่มเข้าสู่ขาลงและสหรัฐฯ จะแพ้ภัยตัวเองจนเลิกราไป

เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างคิดเข้าข้างตัวเองเช่นนี้ สงครามการค้าจึงไม่จบง่ายๆ

ถ้ามองจากมุมจีน ผมวิเคราะห์แนวทางในการรับมือสงครามการค้าของรัฐบาลจีนว่าใช้ “กลศึก 4 R”

R ตัวแรก คือ Resist จีนไม่ยอมโอนอ่อนตามข้อเรียกร้องสำคัญของสหรัฐฯ แต่ใช้วิธีซื้อเวลาและปลุกกระแสชาตินิยมภายในประเทศแทน

ที่ผ่านมา จีนได้เข้าสู่โต๊ะเจรจา และมีท่าทีเสมือนยอมรับฟังความเห็นและข้อเรียกร้องต่างๆ ของสหรัฐฯ แต่อย่าได้ทึกทักไปเองนะครับว่า ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ข้อตกลงที่โอนอ่อนตามความต้องการทั้งหมดของสหรัฐฯ เพราะจีนทำท่าทีรับฟังเพียงเพื่อซื้อเวลามากกว่า กล่าวคือ จีนไม่ต้องการให้สหรัฐฯ ซัดตนหนักด้วยการขึ้นกำแพงภาษีไปมากกว่านี้ แต่จีนไม่ได้มีความตั้งใจที่จะปรับปรุงตัวเองในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการอุดหนุนรัฐวิสาหกิจตามแรงกดดันของสหรัฐฯ จริงๆ

ในขณะที่ซื้อเวลาอยู่นั้น จีนก็ปลุกกระแสชาตินิยมภายในประเทศ ข่าวในจีนมักนำเสนอเปรียบเทียบสงครามการค้ากับประวัติศาสตร์ช่วงที่ชาติตะวันตกรังแกจีนในยุคสงครามฝิ่นในสมัยปลายราชวงศ์ชิง (ตอนนั้นความขัดแย้งก็เริ่มมาจากเรื่องการค้าเช่นกัน)

กระแสชาตินิยมทำให้คนจีนทั่วไปยอมรับว่า แม้วันนี้จีนจะเจ็บตัวและเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของรัฐบาลท่านสีจิ้นผิง หากเป็นเพราะมีศัตรูภายนอกมากลั่นแกล้งพวกเรา

R ตัวถัดมา ก็คือ Retaliate หรือการขึ้นภาษีตอบโต้ โดยจีนใช้วิธี “ตีให้ตรงเป้า เอาให้พอเหมาะ” จะเห็นได้ว่าการตอบโต้ของจีนมีเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นการตอบโต้ที่ค่อนข้างสมเหตุสมผลและไม่รุนแรง เพราะจีนเองก็พยายามหลีกเลี่ยงที่จะยกระดับสงครามการค้า

เป้าหมายหลักในการตอบโต้ของจีน ก็คือ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ และการเลิกซื้อสินค้าเกษตร (โดยเฉพาะถั่วเหลือง) จากสหรัฐฯ เป้าหมายคือต้องการให้กระทบเกษตรกรในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์

หลังจากหยุดซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ไปพักใหญ่ เมื่อจีนต้องการให้บรรยากาศสงครามการค้าดีขึ้น จีนก็กลับมาสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ดังข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า รัฐบาลจีนได้อนุญาตให้รัฐบาลท้องถิ่นและเอกชน สามารถซื้อถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ ได้เป็นกรณีพิเศษ โดยไม่โดนกำแพงภาษี เท่ากับว่าจีนต้องการส่งสัญญาณผูกไมตรีกับสหรัฐฯ และกดดันให้สหรัฐฯ เองยอมลดราวาศอกลง แต่ถ้าหากสหรัฐฯ ยังไม่ยอมลดราวาศอก จีนก็พร้อมจะกลับลำด้วยการเลิกซื้อสินค้าเกษตรได้ใหม่เสมอ

R ตัวที่สามคือ Reform หรือปฏิรูป มีนักวิชาการหัวก้าวหน้าในจีนหลายท่านพยายามนำเสนอสโลแกน แปลงทรัมป์เป็นโอกาส คือให้ถือว่ายิ่งพี่ทรัมป์ทำสงครามการค้ากดดันเรา ยิ่งบีบให้เราต้องรีบปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ

แน่นอนว่าจีนจำเป็นต้องยืนหยัดทัดทานข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่อาจไม่เป็นผลดีกับจีน เช่น ให้ล้มเลิกยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม การยกระดับเทคโนโลยี และการอุดหนุนของภาครัฐ แต่สำหรับข้อเรียกร้องบางอย่างของสหรัฐฯ ที่สมเหตุสมผลและเป็นประโยชน์ จีนก็ควรเดินหน้าปฏิรูป เช่น การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดบางภาคเศรษฐกิจให้นักลงทุนต่างชาติและเอกชน เพื่ออาศัยกลไกการแข่งขันทำให้เศรษฐกิจจีนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การปฏิรูปที่สำคัญอีกอย่างก็คือ ต้องรีบเดินหน้าลงทุนในการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เพื่อลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ รัฐบาลจีนต้องทุ่มสรรพกำลังเพื่อให้เทคโนโลยีจีนยืนบนลำแข้งของตัวเองได้ เพราะการหวังจะต่อยอดจากฐานของเทคโนโลยีสหรัฐฯ ดังที่ผ่านมานั้น อาจทำไม่ได้อีกต่อไป

ส่วน R ตัวสุดท้ายและเป็นตัวสำคัญที่สุด ก็คือ Reorganize นั่นก็คือ การจัดห่วงโซ่เศรษฐกิจใหม่ ซึ่งหัวใจก็คือ การจัดห่วงโซ่อุปทานใหม่ (New Supply Chain) ในด้านตลาดผู้บริโภค จีนต้องหันมาพึ่งพิงตลาดผู้บริโภคภายในจีนเองให้มากขึ้น รวมทั้งตลาดผู้บริโภคในประเทศกำลังพัฒนาตามเส้นทางสายไหมใหม่ (BRI) ส่วนจากมุมของฐานการผลิต เมื่อการส่งออกจากจีนถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษี ก็จำเป็นที่จีนต้องออกไปหาฐานการผลิตใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาอื่นที่มีศักยภาพ

คำว่า Reorganize ยังมีอีก 2 มิติ หนึ่งคือ การจัดกลุ่มวิสาหกิจใหม่ (Reorganize enterprises) เป็นการจัดทัพวิสาหกิจ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ เช่นอาจผนวกรวมรัฐวิสาหกิจที่ค้าขายกับตลาดภายในประเทศเป็นหลัก เข้ากับรัฐวิสาหกิจที่ส่งสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ เพื่อจะช่วยหาตลาดใหม่ให้กับรัฐวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้า

สอง คือ การถ่ายโอนแรงงาน (Reorganize labor force) โดยพยายามถ่ายโอนแรงงานที่ตกงานจากภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามการค้า ไปสู่ภาคการผลิตที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ภาคการผลิตที่อิงกับตลาดภายในประเทศ หรือภาคเศรษฐกิจใหม่ โดยการถ่ายโอนแรงงาน ยังรวมไปถึงการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อให้มีทักษะใหม่ มีความพร้อมสำหรับภาคเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของเทคโนโลยีจีน

หากสรุปกลศึก 4 R เราจะเห็นว่ามีทั้งส่วนที่เป็นเกมรับและเกมรุก ส่วนที่เป็นเกมรับคือ การตอบโต้สหรัฐฯ ซึ่งเป็นไปในแนวตั้งรับและไม่หวือหวาเท่าไร แต่ส่วนเกมรุกนั้น จะเป็นเรื่องการวางแผนสร้างความแข็งแกร่งภายในประเทศในระยะยาว

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายจึงมองว่า สุดท้ายจีนจะชนะหรือแพ้ในสงครามการค้า ย่อมอยู่ที่เกมรุกคือ 2 R สุดท้าย นั่นคือ จีนจะสามารถปฏิรูปตนเองและจัดห่วงโซ่เศรษฐกิจใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด