ประเทศไทยจะมีซาฟารีแล้ว!

ประเทศไทยจะมีซาฟารีแล้ว!

ข่าวในหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 4 ก.ย.ศกนี้ เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่น่าสนใจก็คือ

กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชเปิดเผยในขณะร่วมงานรำลึก 29 ปี “สืบ นาคะเสถียร” ว่ากรมอุทยานฯ กำลังดำเนินโครงการเสริมสร้างประสิทธิภาพและแรงจูงใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก ตามแผนงานการท่องเที่ยวเชิงนิเวศสัตว์ป่าในรูปแบบซาฟารีคล้ายในทวีปแอฟริกา โดยใช้พื้นที่ป่าสงวนบริเวณรอยต่อเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งกับอ่างเก็บน้ำทับเสลาทั้งบนบกและพื้นน้ำ เป็นเนื้อที่กว่า 30,000 ไร่ ซึ่งส่วนที่น้ำท่วมถึงเมื่อน้ำลดจะกลายเป็นทุ่งหญ้า เป็นแหล่งหากินของสัตว์ป่า เช่น ช้าง วัวแดง กระทิง เสือโคร่ง นกยูง และสัตว์กีบทั้งหลาย จึงมีความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติหรือ UNDP และขณะนี้ได้มอบให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการศึกษาวิจัย และหากสามารถดำเนินการคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ซึ่ง นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขานุการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เปิดเผยว่า วัวแดงมีมากกว่า 80 ตัว นอกจากนี้ ยังมีช้างป่า หมูป่า เก้ง กวางนกยูง ละอง ละมั่ง

ผืนป่าห้วยขาแข้งมี 3 โซนคือ 1) โซนไข่แดงที่เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง 2) โซนป่าสงวนแห่งชาติป่าหน่วยป้องกันรักษาป่าที่ อน. 8 ห้วยขาแข้งและ 3) พื้นที่ชุมชนอาศัยทำกินโดยบริเวณที่มีแนวคิดซาฟารีจะอยู่โซนที่ 2) และ 3)

ผู้เขียนเคยไปซาฟารีที่เคนยาหลายครั้ง วันนี้จึงขอถือโอกาสนี้มาเอาเรื่องเบาๆ ว่าด้วยซาฟารีในเคนยามาเล่าสู่กันฟัง

ซาฟารีเป็นภาษาสวาฮิลี หมายถึง การเดินทาง ซาฟารีที่เคนย่ามีหลายแห่ง แต่ที่มีชื่อที่สุดก็คือ มาซาย มารา ซึ่งเป็นเขตพิทักษ์พันธุ์สัตว์ป่าที่มีชื่อที่สุดในโลก แต่ก่อนผู้ดีอังกฤษไปซาฟารีเพื่อไปยิงสัตว์เป็นเกมกีฬา แต่ปัจจุบันนี้เป็นยุคอนุรักษ์แล้ว คนส่วนใหญ่ใช้กล้องยิงมากกว่าปืน ฤดูยิงกล้องที่สำคัญของมาซาย มาร่าคือ ช่วงของการย้ายถิ่นของสัตว์ที่เรียกว่าThe great migration ซึ่งเป็นการย้ายถิ่นเพื่อแสวงหาอาหารของสัตว์ป่าในช่วงเดือน ธ.ค.- พ.ค. สัตว์ทั้งหลายจะย้ายไปเซรังเก็ตติประเทศแทนซาเนีย และเมื่อหญ้าวายก็จะย้ายกลับมาที่มาซา มาร่าอีกครั้งหนึ่ง

นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าสู่มาซาย มาร่าโดยใช้เรือบินเล็กไปลงที่เขตพิทักษ์พันธุ์สัตว์ป่า การนั่งเรือบินเล็กนี้มีข้อดีก็คือสามารถมองเห็นสัตว์ป่าวิ่งไปวิ่งมาได้เนื่องจากพื้นที่ของมาซาย มาร่าส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้าสะวันน่า เราจึงสามารถมองเห็นสัตว์ป่าได้อย่างสะดวกสบายจากหน้าต่างเรือบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกวางป่าและยีราฟ

ประเทศไทยจะมีซาฟารีแล้ว!

แม่แรด ลูกก็แรด

ที่มา: โปสการ์ดที่ระลึกของแอฟริกา

ซาฟารีที่โรงแรมจัดให้มีวันละ 3 ครั้งด้วยกันเช้า เย็น และกลางคืน รถที่ใช้ดูสัตว์จะเป็นรถจี๊ปที่มีประตูปิดครึ่งเดียว แต่ห้ามลงจากรถเพราะลงจากรถเมื่อไหร่เราก็จะกลายเป็นอาหารสัตว์เมื่อนั้น ทัวร์ซาฟารีที่เราไปนั้นจะพาเราเข้าสู่ทุ่งหญ้าสะวันน่า ซึ่งจะได้เห็นครอบครัวเสือชีต้า ทั้งแม่ลูกนั่งอาบแดดอยู่ โขลงช้างป่า ฝูงกระทิง แต่สัตว์ที่มีมากมายเป็นพันให้เราเห็นต่อหน้าต่อตาคือวิลเดอบีสต์ (Wildebeest) เป็นสัตว์ที่มีหน้าตาผสมระหว่างม้ากับวัวและใช้ประโยชน์ไม่ได้ดีก็เลยมีจำนวนมาก

ในทุ่งหญ้าสะวันน่ามีสัตว์หลายอย่างอยู่รวมกันและบางครั้งก็อยู่ใกล้กัน เมื่อผู้เขียนไปเที่ยวนั้นปรากฏว่าสิงโตเดินผ่านฝูงวิลเดอบีสต์อย่างสง่างามเหมือนนายพลเดินตรวจแถวทหารยังไงยังงั้นไกด์บอกว่าสิงโตตัวนี้กินอิ่มแล้วจึงไม่ล่าอีก นับว่าเป็นสัตว์ที่ยึดหลักพอเพียง เมื่ออิ่มก็ไม่เบียดเบียน โลภมากเหมือนมนุษย์ เจ้าวิลเดอบีสต์ก็รู้แกวว่าเมื่อเจ้าป่าอิ่มแล้วก็ไม่หนีไปไหน เมื่อสิงโตมาใกล้ก็เพียงถอยออกมาเล็กน้อย ไม่วิ่งหนี แต่ที่คาดไม่ถึงก็คือฮิปโปโปเตมัส ซึ่งไกด์บอกว่าด้วยฟันที่แข็งแรงและน้ำหนักที่มากทำให้เป็นสัตว์ที่สามารถทำร้ายคนได้มากกว่าสิงโตเสียอีก

การไปซาฟารีนี้ต้องพักภายในเขตพิทักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งมีที่พักให้เลือกหลายอย่างเหมาะสมกับกระเป๋าของผู้พัก ถ้าอยากไปแบบมหาราชาก็สามารถเลือกเต็นท์กระโจมผ้าไหม เฟอร์นิเจอร์บุนวมผ้าไหม มีเก้าอี้ไม้มานั่งจิบไวน์ข้างนอกเหมือนผู้ดีอังกฤษรุ่นเก่า หรือจะเลือกสบายสบายแบบล็อกเคบิน ซึ่งบางที่จะมีสระว่ายน้ำในรีสอร์ทด้วย ที่พักที่เคนยาจะมีลวดไฟฟ้าล้อมไว้รอบๆ เพื่อป้องกันสัตว์ป่าไม่ให้เข้ามารบกวนตอนกลางคืน ส่วนที่พักของผู้เขียนก็จะเป็นเต็นท์แบบนักล่าสัตว์ แต่ข้างในเต็นท์มีห้องน้ำทันสมัยสะดวกสบาย ไกด์ที่เราใช้บริการในทุกครั้งที่มาเที่ยวเรียกได้ว่าทักษะภาษาอังกฤษเพอร์เฟ็กหรือบางทีทักษะนั้นอาจมากกว่าคนไทยที่ไปเยือนเสียอีก และสามารถให้ความรู้เกี่ยวกับสัตว์ได้เป็นอย่างดี

ประเทศไทยจะมีซาฟารีแล้ว!

ห้องนอนเต็นท์สไตล์ซาฟารี

ในช่วงที่ผู้เขียนไปชมสัตว์ป่าที่มาซาย มาร่านั้น จะต้องจ่ายค่าเข้าชมถึง 25 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อวันให้รัฐบาล ซึ่งจะเป็นเงินที่นำไปสู่การดูแลเขตพิทักษ์พันธุ์สัตว์ป่า ค่าเข้าชมนี้บวกอยู่ในค่าทัวร์ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวไม่รู้สึกว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด

ผู้ดำเนินการศึกษาซาฟารีสำหรับประเทศไทย ต้องตอบคำถาม 6 ข้อก็คือ 1) ทุ่งหญ้าสะวันน่าของไทยในห้วยขาแข้งมีจำนวนสัตว์มากมายน่าดึงดูดใจเช่นในแอฟริกาหรือไม่และเพียงพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกมาชมให้คุ้มกับการลงทุนหรือไม่ หรือไม่เช่นนั้นก็ลองศึกษากรณีไนท์ซาฟารีของเราเทียบกับสิงคโปร์ดูก่อนก็ได้ 2) หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบพื้นที่จะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร เพื่ออนุรักษ์และรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในเขตซาฟารี 3) รัฐจะมีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับการมีที่พักและการให้มีการเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อชีวิตสัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะ 4) จะมีมาตรการเกี่ยวกับการเก็บค่าธรรมเนียมอย่างไรและจะมีแนวทางการใช้ค่าธรรมเนียมนี้อย่างไร 5) ลูกค้าเป้าหมายของเราคือใคร และถ้าเป็นชาวต่างชาติคนในชุมชนสามารถจะรับรองนักท่องเที่ยวต่างชาติ และรับประโยชน์จากโครงการนี้ได้มากน้อยเพียงใด และ 6) โครงการนี้จะมีความคุ้มทุนด้านเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือไม่

ผู้เขียนและประชาชนชาวไทยก็ได้แต่หวังว่า โครงการนี้จะมีการประชาพิจารณ์ทั้งในและนอกพื้นที่นะคะ ประเทศไทยจะได้มีโอกาสเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วมเสียที!