รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป

รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ไม่ได้เลวร้ายเสมอไป

ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กับทุกวันที่นั่งดูข่าวทีวีช่องต่างๆ รายงานเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

แล้วก็วิพากษ์วิจารณ์ว่า รัฐบาลแบบนี้น่าจะเปราะบาง มีโอกาสแพ้โหวตในสภา อยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวก็ต้องยุบสภาเลือกตั้งกันใหม่ และจินตนาการไปถึงโอกาสที่จะเกิดงูเห่า ย้ายพรรค ซื้อขายเสียงในสภา และอื่นๆ สรุปก็คือว่า รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำนี่ไม่ดี ไม่มั่นคง ไม่อยากให้เกิดขึ้น

จริงๆแล้ว การตั้งรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำนี้มีข้อดีเหมือนกัน ที่สำคัญคือดีกับประชาชน ไม่ใช่ดีกับนักการเมืองและพรรคการเมืองในสภา เพราะเสียงปริ่มน้ำทำให้การทำงานของรัฐบาลต้องทำอย่างรอบคอบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เช่นนั้นฝ่ายค้านจะหยิบยกขึ้นมาตรวจสอบได้ตลอดเวลา และการที่มีเสียงก้ำกึ่งกันทำให้ฝ่ายค้านมีพลัง การตรวจสอบของฝ่ายค้านอย่างมีพลังเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างยิ่ง

ในต่างประเทศ สิ่งที่นักวิชาการกลัวและไม่อยากเห็นคือการที่พรรคการเมืองชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอย ที่เรียกว่า Mandate นั่นคือชนะแบบถล่มทลาย ได้ผู้แทนราษฎรมาจำนวนมาก และมาเป็นรัฐบาล เพราะรัฐบาลที่ควบคุมเสียงส่วนใหญ่จำนวนมากทำให้มีโอกาสที่จะถูกตรวจสอบน้อยลง และนโยบายหรือโครงการของรัฐบาลจะผ่านสภาทั้งหมดโดยง่าย ลักษณะนี้ทำให้สภาตกอยู่ภายใต้อำนาจบริหารแบบสิ้นเชิง เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่สามารถตรวจสอบรัฐบาลได้ ผู้ที่เสียหายไม่ใช่พรรคฝ่ายค้านที่มีเสียงน้อยเกินไป แต่เป็นประชาชนผู้ที่ได้รับผลจากโครงการหรือนโยบายของรัฐบาล

ที่อังกฤษ เยอรมัน สหรัฐและอีกหลายประเทศ พยายามที่จะไม่ให้เกิดลักษณะของรัฐบาลเสียงส่วนใหญ่มากเกินไปจนมีอำนาจควบคุมรัฐสภาอย่างสิ้นเชิง หรือที่เรียกว่า Mandate ทุกครั้งที่พรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่งได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นที่เรียกว่า Landslide จะถูกจับจ้องวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประชาชนจะถูกปิดปาก จากการที่รัฐบาลมีอำนาจมากเกินไป และอาจทำอะไรที่ตรวจสอบยาก จนเกิดความเสียหายขึ้น

การทำงานของรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นการทำงานเพื่อประชาชน แต่หลายๆ ครั้งเป็นเรื่องของนโยบายที่ทำให้เกิดผลกระทบกับเสียงส่วนน้อย แต่รัฐบาลไม่ยี่หระ เพราะคิดว่าสร้างความพอใจให้กับฐานเสียงของตน และเท่ากับสร้างความมั่นใจว่าจะทำให้ได้รับการเลือกตั้งครั้งต่อไปอีกนานเท่านาน

สำหรับนักการเมืองแล้ว การมีเสียงข้างมากอย่างชนิดที่เรียกว่าไม่ต้องแคร์เสียงฝ่ายค้าน เพราะโหวตเมื่อไรก็ชนะทุกทีเป็นเรื่องที่ต้องการ แต่ในแง่ประชาชนแล้ว อาจไม่มีประโยชน์เท่าไรนัก เพราะประชาชนจำนวนมากอาจถูกมองข้าม และไม่ได้ประโยชน์จากโครงการหรือนโยบาย และแม้กระทั่งประชาชนที่สนับสนุนพรรคการการเมืองที่ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น ก็อาจมีบางโครงการหรือบางนโยบายที่ไม่เห็นด้วย แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ เหมือนกับว่า ถ้ารัฐบาลเดินลงเหว ประชาชนก็ต้องลงเหวด้วย รัฐบาลประชานิยม (Populism) คือตัวอย่างของความเลวร้าย อันเกิดจากรัฐบาลเสียงข้างมากลากลงเหว ที่หลายประเทศกำลังประสบปัญหา

แต่ถ้ามีการตรวจสอบจากฝ่ายค้านที่มีพลังก้ำกึ่งกัน แบบนี้การทำงานของรัฐบาลก็ต้องฟังเสียงส่วนน้อยเสมอ ประชาชนโดยรวมได้ประโยชน์ รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำจึงอาจไม่ใช่รัฐบาลที่เลวร้าย มีแต่จุดอ่อนเสมอไป