KM แบบเดิมถอยไป ​AI ขอร่วมแจมด้วย

KM แบบเดิมถอยไป ​AI ขอร่วมแจมด้วย

ในการทำงานใดๆให้เกิดผลที่ดี มีความชาญฉลาด และทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงแล้ว ขึ้นอยู่กับการจัดการ (management) ที่ดี

ไม่ใช่แค่มีข้อมูลดีๆมีสารสนเทศมากๆ (​data and information) แบบนักวิเคราะห์ มีความรู้จากการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเก่าๆ (academic knowledge) แบบนักวิชาการ หรือมีความสามารถในการลงมือปฏิบัติ (action) แบบคนงานหรือช่างเท่านั้น แต่ถ้าหากขาดการจัดการที่ดี ที่จะทำให้องค์ประกอบต่างๆกันนั้นมาบูรณาการสร้างสรรค์ให้เกิดความรู้ที่ถูกต้อง ตรงกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ก็คงยากที่จะแข่งขันกับผู้อื่นได้

 

การจัดการสำคัญมากขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีลื่นไหลและข้อมูลท่วมท้น จนหลายคนแยกไม่ออกด้วยซ้ำว่าสิ่งไหนดีมีประโยชน์ หรือสิ่งไหนลวงทำให้เข้าใจผิด สิ่งที่องค์กรยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญคือ (1) การจัดการเชิงกลยุทธ์ (strategic management) ที่จะช่วยองค์กรในการปิดช่องว่างระหว่างความสามารถที่เรามีในปัจจุบันกับวิสัยทัศน์ที่เราต้องการจะเป็นในอนาคต (2) การจัดการความรู้ (knowledge management) ที่ช่วยเพิ่มทักษะความสามารถให้กับคนในองค์กรได้พัฒนาตนเองให้พร้อมที่จะรับกับงานใหม่ๆ (3) การจัดการเทคโนโลยี (technology management) การลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างไรถึงจะเหมาะสมและสอดคล้องกับทิศทางที่องค์กรกำลังจะไป อะไรจำเป็นและคุ้มค่าในขณะที่เม็ดเงินที่จะใช้มีจำกัด

 

Knowledge Management ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพูดถึงและนำมาใช้ในองค์กรมานานมากกว่า 20 ปีแล้ว เป็นการจัดการเพื่อเอื้อให้เกิดความรู้ใหม่ เป็นความพยายามที่จะนำความรู้ที่มีอยู่ และประสบการณ์ของบุคคลต่างๆ ในองค์กร มาใช้ให้เกิดประโยชน์และพัฒนานวัตกรรมที่จะทำให้มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งทางธุรกิจ แต่ดูเหมือนว่ามีองค์กรในไทยที่ประสบความสำเร็จ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ แบ่งปัน และใช้ความรู้นั้นในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่มากนัก อาจเรียกว่าน้อยมากก็ได้

 

จุดเริ่มของ KM ในฐานะที่เป็นหนึ่งในการจัดการที่มีอิทธิพลและส่งผลต่อความก้าวหน้าอย่างมากทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกำลังจะมีบทบาทอย่างมากมายมหาศาลทางด้านธุรกิจในยุคนี้ เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับ 3 ท่านที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อพัฒนาการของ KM ได้แก่

  • Peter Senge กูรูที่เน้นด้านองค์การแห่งการเรียนรู้เพื่อการแข่งขัน
  • Peter Drucker เผยให้เห็นถึงกุญแจสู่ความเติบโตขององค์กรในอนาคต และผลิตภาพจะเพิ่มขึ้นได้โดยความรู้เป็นตัวนำ
  • Ikujiro Nonaka ผู้จุดประกายให้คนและองค์กรหันมามุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จาก Tacit (ความรู้ที่อยู่ในตัวคน) และ Explicit (ความรู้ที่อยู่ในระบบ)

 

จากปิรามิดของความรู้ (ภาพสามเหลี่ยม ที่มีฐานเป็นข้อมูล สูงขึ้นมาเป็นสารสนเทศ และขยับสูงขึ้นมาเป็นความรู้ และมีส่วนปลายยอดแหลมคมเป็นปัญญา) ที่นำเสนอโดย American Productivity and Quality Center ซึ่งผมอยากมาขยายความเพิ่มเติมถึงความสัมพันธ์ของ 4 องค์ประกอบของปิรามิดดังกล่าว ดังนี้

 

จากฐานล่างที่เป็น Data ส่งผ่านกลายเป็น Information  ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ (Relations) ของชุดข้อมูลผ่านการสร้างโมเดลทางคณิตศาสตร์และสถิติ นำไปสู่การพิจารณาตัดสินใจเพื่อการวางแผน พัฒนา และปรับปรุงองค์กร โดยมี Pattern เป็นส่วนสำคัญในการวิเคราะห์

 

จาก Information ต่อยอดกลายเป็น Knowledge ด้วยการลงมือปฏิบัติ (Action) ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อขยายโอกาสใหม่ๆหรือปรับปรุงแก้ไขปัญหาเดิมที่ผ่านมาขององค์กร โดยมี Principle และ Procedure เป็นแนวทางในการดำเนินการ

 

จาก Knowledge ในสถานการณ์ต่างๆ ก่อให้เกิด Wisdom จากกระบวนการเรียนรู้ (Learning) ด้วยการทบทวนแผนงาน ขั้นตอนปฏิบัติ และผลลัพธ์นับครั้งไม่ถ้วน ทั้งข้อผิดพลาดและผลสำเร็จ จนทำให้เราค้นพบบางสิ่งที่สามารถตอบคำถามทั่วไปได้แบบรู้แจ้งเห็นจริง

 

ความรู้จะแผ่ขยายและกว้างไกลออกไปทั่วทั้งองค์กร เกิดขึ้นได้ด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังสมการที่ว่า Knowledge = ((People + Information) * Action) sharing เมื่อคนนำความรู้ที่มี ไปลงมือปฏิบัติ เกิดผลลัพธ์และความเข้าใจในสิ่งนั้น แล้วนำเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแบ่งปันให้ผู้อื่น ความรู้จะแผ่ขยายกว้างไกลส่งผลออกไปในวงกว้างมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่ามีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือแบ่งปันให้แก่สังคมในวงกว้างบ่อยครั้งมากน้อยแค่ไหน ยิ่งให้ยิ่งได้ เพราะความรู้ที่เกิดขึ้นกับเรา จะก่อให้เกิดความรู้ใหม่ๆจากการปฏิบัติของผู้คนในบริบทและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไปอีกมากมาย

 

สำหรับองค์กร อาจจำแนกความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร อาจแบ่งได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้

  1. ความรู้หลัก (Core Knowledge) เป็นความรู้ในระดับพื้นฐานที่ทุกคนในองค์กรต้องการ หรือต้องรู้ เช่น ความรู้เกี่ยวกับองค์กร ความรู้ในงานและความรับผิดชอบ ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เป็นต้น
  2. ความรู้ระดับก้าวหน้า (Advanced Knowledge) เป็นความรู้ที่ทำให้องค์กรไปสู่จุดของการแข่งขันได้ เป็นความรู้ที่มีความเฉพาะเจาะจง ซึ่งแตกต่างจากคู่แข่ง
  3. ความรู้เชิงนวัตกรรม (Innovative Knowledge) เป็นความรู้ใหม่ที่ไม่เคยมีใครคิดหรือรู้มาก่อน ซึ่งจะทำให้องค์กรเป็นผู้นำทางการตลาด หรือกลายเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมนั้นๆ

 

เราจะสร้าง ส่งเสริม และพัฒนากระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (knowledge sharing) ในรูปแบบเดิม แล้วต่อยอดด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital technology) และข้อมูลจำนวนมาก (Big data) ในโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อสร้างศักยภาพและความสามารถการแข่งขันใหม่ให้แก่องค์กรได้อย่างไร แล้ว AI จะเข้ามาเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ในรูปแบบไหน ครั้งหน้ามีคำตอบ พร้อมตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม