ต้องสร้างอุปนิสัยแบบนักวิชาการ จึงจะปฏิรูปประเทศได้

ต้องสร้างอุปนิสัยแบบนักวิชาการ จึงจะปฏิรูปประเทศได้

อุปนิสัยแบบนักวิชาการ หมายถึง การรักการอ่าน การเรียนรู้ใหม่ สนใจค้นคว้าวิจัย พิสูจน์ด้วยข้อมูลหลักฐาน/เหตุผลยืนยันได้อย่างเป็นระบบ

เพื่อมีความรู้ข้อมูลข่าวสารที่ดีพอจะแก้ปัญหาและแข่งขันกับคนอื่นได้

คำว่านักวิชาการ ในที่นี้รวมถึงการวิจัยข้อเท็จจริงในสนามจริง การฝึกเรียนรู้จากภาคปฏิบัติด้วย ไม่ได้แปลว่าพวกชอบพูดที่ตามตำรา ทฤษฎี อย่างที่ข้าราชการบางคนชอบค่อนแคะว่าตนเป็นนักปฏิบัติ ไม่ใช่ “นักวิชาการ” นักปฏิบัติที่เก่งจริงต้องคิดและทำงานเชิงวิชาการ (หรือเชิงวิจัยค้นคว้าด้วยหลักฐาน เหตุผล ข้อมูล) เป็นด้วย

เอกสารยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ข้อเสนอการปฏิรูปด้านต่างๆ ของคณะกรรมาธิการ คณะทำงานกรรมการชุดต่างๆ และนโยบายของพรรคการเมืองอาจใช้นักวิชาการหรือความรู้เชิงวิชาการในการเขียนในระดับหนึ่ง แต่ผมเห็นว่าส่วนใหญ่แล้ว เป็นเอกสารที่มีองค์ความรู้ ความเข้าใจเรื่องสภาพปัญหาและแนวทางปฏิรูปในเชิงตั้งเป้าแบบอุดมคติแบบกว้างๆ ลอยๆ มากกว่าที่จะมีการวิจัย อธิบาย และเสนอแนะปัญหาเชิงโครงสร้างและแนวทางปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากพอ

ปัญหาที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ข้าราชการชั้นสูง นักวิชาชีพของเราดูยังไม่ฉลาดและเก่งพอที่ปฏิรูปประเทศได้จริง เพราะพวกเขาส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอุปนิสัยแบบนักวิชาการ พวกเขาเรียนรู้มาในระบบการศึกษาแบบฟังคำบรรยายเพื่อท่องจำไปสอบ ไม่ได้ฝึกการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ไม่ได้ฝึกการแก้ปัญหา และฝึกทำโครงการ การทดลองแบบนักวิทยาศาสตร์ ไม่ชอบอ่านหนังสือและค้นคว้าเรียนรู้ต่ออย่างจริงจัง หลายคนจบมหาวิทยาลัยมาแล้วก็ไม่ค่อยได้อ่าน ไม่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ มากไปกว่าอ่านฟังข่าวคราวบางเรื่องที่ตนสนใจบ้างเล็กน้อย

การวิจัยและพัฒนาของไทยยังมีน้อย/ใช้งานได้น้อย ไม่ใช่เพราะประเทศใช้งบประมาณเพื่อการนี้น้อยเท่านั้น แต่เป็นเพราะมีผู้คนที่รักการวิจัย และชอบทำงานวิจัยน้อยด้วย คนส่วนใหญ่สามารถใช้ความรู้ ทักษะที่เรียนมาทำงานหาเงินและก้าวหน้าในวิชาชีพได้ โดยไม่ต้องอ่าน ค้นคว้าวิจัยอะไรใหม่ มหาวิทยาลัยเรียกร้อง/ส่งเสริมให้อาจารย์ใช้เวลาทำงานสอนมากกว่าทำวิจัย ในบริษัท องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่นิยมซื้อความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศมากกว่าที่จะจัดตั้งแผนกวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเอง

องค์กรวิจัยแบบข้าราชการไม่สามารถรักษาและพัฒนานักวิจัยมืออาชีพเก่งๆ ได้ ได้แต่ให้ทุนอาจารย์หรือนักวิจัยองค์กรเอกชน เช่น ทีดีอาร์ไอเป็นผู้ทำวิจัยให้ ดีบ้าง ปานกลางบ้าง เป็นงานวิจัยเพื่อขอตำแหน่งวิชาการ เพื่อผลตอบแทน เพื่อสนองความต้องการของหน่วยงานบางหน่วยงานบ้าง งานวิจัยส่วนใหญ่คือวิจัยเก็บไว้ในหิ้ง ในห้องสมุดต่างๆ ที่คนสนใจอ่านมีเฉพาะพวกนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาเอก ที่ต้องเขียนวิทยานิพนธ์หัวข้อคล้ายกัน

คนไทยชอบมองเรื่องความเจริญก้าวหน้าแบบเป็นเส้นตรง คิดว่าประเทศตะวันตกเขาพัฒนาอุตสาหกรรมวิชาการไปมากกว่าเรา ดังนั้น แทนที่เราจะลงทุนวิจัยและพัฒนาเองซึ่งต้องลงทุนสูง ทำได้ยากกว่าหรือใช้เวลานาน ก็ใช้วิธีการซื้อความรู้เทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมแทน เพราะคิดว่าวิธีการซื้อความรู้ เทคโนโลยีแบบสำเร็จรูปมาเลยจะคุ้มกับการลงทุนมากกว่า

แต่ความรู้เทคโนโลยีที่จะใช้งานได้ดีนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เหมาะสมสำหรับแต่ละประเทศด้วย ความรู้จากต่างประเทศที่เป็นสากล เช่น วิทยาศาสตร์ธรรมชาติอาจพอใช้งานได้ แต่ต้องรู้จักวิจัยสถานการณ์เฉพาะในประเทศไทยและรู้จักการประยุกต์ความรู้ เทคโนโลยีจากที่อื่นมาใช้อย่างเหมาะสมกับบริบทของไทย เทคโนโลยีที่ดีคือ เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับแรงงาน ทรัพยากร องค์ประกอบต่างๆ ของประเทศ ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด ที่จะทำอะไรได้มากที่สุด เร็วที่สุด ฯลฯ เสมอไป เพราะในหลายกรณี เช่น การใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ทันสมัยในการทำการเกษตรนั้น ทั้งต้นทุนสูง การบำรุงรักษาสูง ไม่คุ้มค่าในระยะยาว มีปัญหาการลดการจ้างงานคนลง ทำให้คนว่างงานเพิ่มขึ้น

ปัญหาเศรษฐกิจการเมืองสังคมไทย เป็นปัญหาของประเทศระดับรายได้ปานกลางประเทศหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะ แตกต่างไปจากประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมตะวันตก ดังนั้นนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ที่ชอบอ้างอิงแต่ทฤษฎีตะวันตกอาจไปเห่อทฤษฎีที่อธิบายโลกตะวันตกมาใช้อธิบายสังคมไทยแบบคลาดเคลื่อนผิดพลาดได้ นักวิชาการจะต้องวิจัยค้นคว้า แสวงหาและพิสูจน์ข้อเท็จจริง สำหรับกรณีของไทยและทางออกที่เหมาะสม ไม่ใช่แค่ศึกษาเปรียบเทียบและเลือกหยิบแนวทางการแก้ปัญหาของประเทศของประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมประเทศใดประเทศหนึ่ง แบบใดแบบหนึ่งหรือแบบผสมกันตามใจชอบเพื่อกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม (เช่นการร่างรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา)

ชนชั้นนำไทยได้รับการศึกษา ข้อมูลข่าวสารจากประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและศรัทธาในแนวนโยบายการพัฒนาประเทศแนวทุนนิยม ที่เน้นการเติบโตของธุรกิจ ราวกับแนวทางว่าการพัฒนาประเทศในโลกนี้มีอยู่แนวทางเดียวนี้เท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ความจริง

ระบบการศึกษาไทยก็สอนแนวคิดจารีตนิยมและการผลิตคนที่มีความรู้ทักษะสำหรับไปทำงานในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมมากกว่าการศึกษาเพื่อการคิด วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์อย่างมีเหตุผล มีภูมิปัญญา เพื่อการแสดงหาความรู้ความจริงที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยส่วนใหญ่อย่างยั่งยืน

ไทยลงทุนด้านการศึกษามาก มีประชากรที่จบปริญญาตรีขึ้นไปราว 10 ล้านคน และยังพวกจบระดับมัธยมปลายอนุปริญญา ฯลฯ อีกหลายล้านคน มีโทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ที่ช่วยให้สื่อสารและค้นคว้าหาความรู้ได้สะดวกรวดเร็วขึ้น แต่คนไทยทุกระดับรวมทั้งคนมีการศึกษาใช้เครื่องมือเหล่านี้ในเรื่องส่วนตัวและการค้ามากกว่าเพื่อการศึกษาเรียนรู้

มีการใช้สื่อทางสังคมผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองและทางสังคมบ้าง แต่เป็นการนินทาหรือโจมตีกันแบบใช้อารมณ์ความรู้สึกแบบเลือกข้างพวกใครพวกมันมากกว่า การถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล อย่างมีข้อมูลหรือวิจารณ์อย่างเป็นธรรม ทั้งแง่บวกแง่ลบอย่างให้แง่คิดเห็นเป็นเรื่องเป็นราว คนไทยอ่านหนังสือน้อย สนใจการอภิปรายเชิงวิชาการหรือปัญหาสังคมหนักๆ น้อยมาก ชอบเรื่องบันเทิง เรื่องซุบซิบนินทา ข่าวคนขัดแย้งทะเลาะกันมากกว่า

การอ่านหนังสือจะทำให้เราได้เนื้อหาสาระจริงจังมากกว่าข้อความสั้นๆ ในสื่อทางสังคม การอ่านนวนิยายดีๆ ก็ทำให้เราเรียนรู้เรื่องชีวิตและสังคม มีความเข้าใจเรื่องชีวิตของตัวเองและคนอื่นเพิ่มขึ้น ปัญหาที่คนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือ การถกเถียง การวิพากษ์วิจารณ์ทางวิชาการ ทำให้ไทยไม่สามารถพัฒนาสติปัญญารวมหมู่ในการหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม หรือแม้แต่เรื่องทางเทคนิค เช่น ปัญหาน้ำท่วม/ภัยแล้ง ปัญหาพลังงาน ฯลฯ อย่างรู้จริง และแก้ไขได้ทั้งระบบโครงสร้างได้อย่างจริงจัง

เราต้องส่งเสริมให้คนไทยรักการอ่าน การเรียนรู้ มีอุปนิสัยแบบนักวิชาการหรือนักวิทยาศาสตร์ รู้จักคิดวิเคราะห์วิจัยปัญหาต่างๆ ในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง เพื่อหาแนวทางรูปธรรมที่ปฏิรูปเชิงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ แบบกระจายทรัพย์สิน รายได้ การศึกษา การมีงานที่เหมาะสม ให้เกิดความเป็นธรรม พัฒนาคนและองค์กรให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเท่านั้น เราจึงจะแก้ไขปัญหา/พัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืนจริง