สองกับดักที่โลกต้องหลีกเลี่ยง

สองกับดักที่โลกต้องหลีกเลี่ยง

แนวคิดว่าสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐจะยืดเยื้อและอาจบานปลายไปเป็นสงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับจีน ขณะนี้เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมาก

ในกลุ่มสนทนาย่อยของผมที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วยนักวิชาการและนักธุรกิจต่างประเทศที่พำนักอยู่ในประเทศไทย เราก็ได้คุยกันเรื่องนี้เมื่อเดือนที่แล้วและพูดถึง 2 กับดักที่โลกจะต้องพยายามหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้ข้อขัดแย้งหรือสงครามเย็นบานปลายเป็นสงครามร้อนที่จะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงตามมา กับดักที่ว่าคือ กับดัก Thucydides Trap และ กับดัก Kindleberger ทั้ง 2 กับดักน่าสนใจมาก โดยเฉพาะถ้าเรามองสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในมุมของประวัติศาสตร์โลก

การวิเคราะห์ว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนอาจพัฒนาไปสู่สงครามเย็นเต็มรูปแบบระหว่าง 2 ประเทศมหาอำนาจคือ จีนกับสหรัฐ ดูจะมีเหตุผลมากขึ้นทุกวัน พิจารณาจากพัฒนาการของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น รวมถึงท่าทีของทั้ง 2 ฝ่ายในระดับนโยบายและการเมือง

หนี่ง บริบทของความขัดแย้งขณะนี้ได้ขยายผลไปมากกว่าสงครามการค้า หรือเรื่องที่เกี่ยวกับการค้าและภาษีศุลกากร แต่ได้รวมถึงการแข่งขันและการกีดกันระหว่างกันในเรื่องเทคโนโลยี การพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นสูง การค้นคว้าและวิจัย การศึกษา และการทหาร ทำให้ชัดเจนว่าจีนและสหรัฐกำลังแข่งขันกันทุกด้าน เพื่อความเป็นหนึ่งทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ซึ่งก็คือที่มาของความยิ่งใหญ่ด้านการทหารและการเมือง

สอง ท่าทีของทั้ง 2 ประเทศในระดับผู้ให้คำแนะนำด้านนโยบาย คือ ข้าราชการประจำและนักวิชาการ ก็ค่อนข้างไม่ประณีประณอม แต่ละฝ่ายพยายามให้ความเห็นในเวทีสาธารณะ ตอกย้ำว่าอีกฝ่ายหนึ่งกำลังแสวงหาอำนาจและต้องการเป็นใหญ่ เช่น สหรัฐจะพูดเสมอว่าจีนมีแผนแน่นอน เช่น นโยบาย Made in China 2025 ที่ต้องการพัฒนาประเทศให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและการผลิต และพร้อมทำทุกอย่างที่จะทำให้เป้าหมายนี้เกิดขึ้น ขณะที่ทางจีนก็ให้ความเห็นว่า จีนกำลังเป็นประเทศเติบโตและการเติบโตของจีนไปสู่การเป็นประเทศผู้นำในระบบเศรษฐกิจการเมืองของโลก ก็เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น จากที่จีนจะเติบโตและพัฒนาต่อไป แต่สหรัฐกลับมีท่าทีไม่ต้อนรับการเติบโตของจีน และมองว่าจีนเป็นคู่แข่งหรือเป็นปัจจัยคุกคามสหรัฐ

สาม ในระดับการเมือง ความรู้สึกขณะนี้คือ การเติบใหญ่ของจีนเป็นประเด็นที่พรรคการเมืองใหญ่ในสหรัฐทั้ง 2 พรรคคือ พรรคริพับลิกันและพรรคเดโมแครตให้ความสำคัญและติดตามใกล้ชิด และทั้ง 2 พรรคคงมองคล้ายกันว่า การเติบโตของจีนเป็นพัฒนาการที่จะคุกคามความเป็นใหญ่ของสหรัฐในระเบียบเศรษฐกิจและการเมืองโลก เป็นประเด็นที่สหรัฐจะต้องระวังและต้องพยายามไม่ให้จีนคืบหน้าเกินสหรัฐในฐานะผู้นำโลก ประเด็นนี้ทั้ง 2 พรรคการเมืองในสหรัฐ รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่สนับสนุนเห็นคล้ายกัน ขณะที่จีนก็แสดงท่าทีว่าพร้อมที่จะยืนระยะในเรื่องนี้ และจะมุ่งพัฒนาประเทศและเพิ่มอิทธิพลของจีนในระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกต่อไป ทำให้ประเด็นการแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนจะมีต่อไป ไม่ว่าการเมืองในแต่ละประเทศจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอย่างไร​

ดังนั้น โลกขณะนี้จึงอยู่ในช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุด ที่อาจเป็นยุคของการเปลี่ยนผ่านอำนาจการเป็นผู้นำจากประเทศกลุ่มผู้นำเดิม ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมือง ไปสู่ยุคของกลุ่มผู้นำใหม่ และการเติบโตของจีนก็ท้าทายการเป็นอยู่และความชอบธรรมของกลุ่มมหาอำนาจเดิมคือสหรัฐและกลุ่มประเทศตะวันตก คำถามคือ แล้วการแข่งขันหรือการเปลี่ยนผ่านอำนาจนี้จะจบอย่างไร

ในประเด็นนี้ ประวัติศาสตร์การเมืองโลก มีบทเรียนสำคัญ 2 บทเรียนที่กำลังถูกพูดถึงมาก ที่อาจชี้แนะถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นและสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในบริบทของการเปลี่ยนผ่านอำนาจของประเทศที่เป็นผู้นำ

บทเรียนแรก คือ กับดัก Thucydides (อ่านว่า ทู ซิ ดิ ดิส) ที่ให้ข้อสังเกตุว่า การเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยอำนาจใหม่ที่จะมาทดแทนอำนาจเก่า มักจะจบด้วยการเกิดขึ้นของสงคราม เป็นข้อสังเกตุของนักประวัติศาสตร์ชาวกรีกชื่อ Thucydides ในศตวรรษที่ห้าก่อนคริสตกาลที่อธิบายการเกิดขึ้นของสงคราม Peloponnesian ซึ่งเทียบได้กับสงครามโลกสมัยนั้น ระหว่างเอเธนส์กับสปาร์ตาว่า เกิดจากการเติบโตของกรีซที่เป็นอำนาจใหม่ และความกลัวของสปาร์ตา ที่เป็นอำนาจเดิมต่อการเติบใหญ่และศักยภาพที่เอเธนส์อาจมีในฐานะอำนาจใหม่ จนนำไปสู่การแข่งขันระหว่าง 2 อำนาจ เกิดเป็นความขัดแย้งและจบลงด้วยการเกิดขึ้นของสงคราม เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องช่วยกันหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายรุนแรง ในภาวะที่โลกมีการแข่งขันระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ นี่คือบทเรียนแรก

บทเรียนที่สอง คือ กับดัก Kindleberger เรียกชื่อตามนักประวัติศาสตร์ ชาวอเมริกัน ศาสตราจารย์ Kindleberger แห่งมหาวิทยาลัย MIT ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Manias, Panics, and Crashes ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์วิกฤตเศรษฐกิจที่ดังมาก เมื่อสี่สิบปีก่อน กับดับนี้ให้ข้อสังเกตุว่า สถานการณ์โลกที่เปราะบางช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำช่วงปี 1930s และการเกิดขึ้นของสงครามโลก เกิดจากภาวะสูญญากาศของการเมืองโลก เมื่อประเทศมหาอำนาจซึ่งขณะนั้นคือ สหรัฐอเมริกา ไม่ทำหน้าที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในฐานะประเทศมหาอำนาจที่ควรต้องรักษาความสงบและกฎระเบียบต่างๆ เพื่อปกป้องประโยชน์ร่วมกันของประเทศต่างๆ ในโลก แต่เมื่อไม่ทำก็เปิดพื้นที่ให้ผู้นำแบบอำนาจนิยมและชาตินิยมเติบโตขึ้นในหลายประเทศจนนำไปสู่การเกิดขึ้นของสงคราม

บทเรียนหลังนี้ชี้ว่า ประเทศผู้นำไม่ว่าจะเป็นสหรัฐหรือจีนต้องมีความรับผิดชอบเชิงสาธารณะที่มากับบทบาทและความรับผิดชอบของการเป็นประเทศผู้นำหรือประเทศมหาอำนาจ เช่น การรักษากฎกติกาต่างๆ ที่จะให้ประเทศในโลกอยู่ร่วมกัน การรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงินโลก และเป็นผู้นำการแก้ไขปัญหาที่เป็นภัยคุกคามต่อความเป็นอยู่ของชาวโลก เช่น ปัญหาโลกร้อนที่การแก้ไขต้องการความร่วมมือจากทุกประเทศ แต่ถ้าประเทศผู้นำไม่สนใจเรื่องเหล่านี้ โลกก็จะล่อแหลมต่อการเกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างที่ได้เคยเกิดขึ้น

นี่คือ 2 บทเรียนที่ผมคิดว่าสำคัญและน่าสนใจ เป็นบทเรียนที่โลกต้องพยายามหลีกเลี่ยงและต้องไม่ให้เกิดขึ้น