เมื่อ “ข้อมูลส่วนตัว” ถูกติดตามได้ในโลกดิจิทัล

เมื่อ “ข้อมูลส่วนตัว” ถูกติดตามได้ในโลกดิจิทัล

ยิ่งบริการนั้นผูกกับบัตรประชาชนหรือข้อมูลใดที่สามารถระบุตัวตนได้ก็ยิ่งมีความเสี่ยง

“มีเบอร์สมาชิกไหมครับ” คือ คำถามที่พนักงานสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง ถามผมทุกครั้งที่ชำระค่าสินค้า

ทุกวันนี้ผมเป็นสมาชิกของร้านค้าและบริการต่างๆ มากมาย รวมทั้งการใช้บัตรเครดิตทั้ง โมบาย เพย์เม้นท์ อีกมากมาย นอกจากนี้ยังมีการใช้อุปกรณ์อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ หรือไอโอที เช่น อุปกรณ์สมาร์ทโฮม และอุปกรณ์แวร์เอเบิล (Wearable) รวมถึงการใช้โมบาย แอพพลิเคชั่น อีกหลายอย่าง ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า ความเป็นส่วนตัวหายไปอย่างมาก

เหตุผลที่ผมสมัครเป็นสมาชิกของร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านกาแฟ สถานีบริการเติมน้ำมัน หรือแม้แต่บริการออนไลน์ต่างๆ อย่าง แกร็บ, แรบบิทไลน์เพย์ หรือการใช้ไอโอทีและการใช้โมบายแอพต่างๆ เพราะต้องการความสะดวกสบาย และอาจมีข้อดีที่จะได้บริการหรือสิทธิพิเศษอื่นๆ เช่น ของแถม ส่วนลด แต่ทั้งหมดนี้ อาจต้องแลกมาด้วยความเป็นส่วนตัวที่ต้องถูกผู้ให้บริการเหล่านั้นนำข้อมูลไปวิเคราะห์

ดังเช่นการเป็นสมาชิกสตาร์บัคส์ เมื่อเปิดดูข้อมูลที่แสดงในเว็บไซต์ จะพบว่า แต่ละวันมียอดค่าใช้จ่ายอย่างไร ผมเองเชื่อว่า ข้อมูลนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่นำมาแสดงให้ผู้บริโภคเห็น แต่ความเป็นจริงในฐานข้อมูลอาจจะเก็บรายละเอียดมากกว่านี้ โดยสตาร์บัคส์ อาจทราบว่าผมไปทานกาแฟร้านใด และสั่งอาหารอะไรบ้าง

ผมเป็นสมาชิกเน็ตฟลิกซ์ มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว เมื่อเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ ก็พบว่าเน็ตฟลิกซ์ จะแสดงรายชื่อหนังที่ดู แต่เมื่อไปค้นข้อมูลด้านการทำบิ๊กดาต้า อนาไลติกส์ ของเน็ตฟลิกซ์ ทำให้ทราบว่ามีการเก็บข้อมูลลูกค้ามากกว่านี้ มีทั้งรู้ว่าเลือกหนังอะไร ได้ชมเรื่องนั้นจริงหรือไม่ มีการหยุดหรือไม่ หรือมีการข้ามไปหรือไม่

ผมซื้อของอีคอมเมิร์ซหลายแห่ง ทั้งลาซาด้า, อาลี เอ็กซ์เพรส, อะเมซอนดอทคอม ผมสามารถเห็นข้อมูลการสั่งซื้อในอดีต และเชื่อว่าผู้ให้บริการเหล่านี้เก็บข้อมูลไว้มากกว่านี้ คงมีข้อมูลว่าคลิ๊กรายการสินค้าอะไรบ้าง ให้ความเห็นอะไรบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ก็น่าจะเกิดขึ้นกับบริการออนไลน์อื่นๆ ที่ใช้เช่น ไม่ว่าจะเป็นไลน์แมน, แกร็บ, อโกด้า, คายัค (Kayak)

ส่วนบัตรทางด่วนอีซี่พาส ซึ่งจัดว่าเป็นอุปกรณ์ไอโอที เมื่อเปิดดูข้อมูลตัวเองในเว็บไซต์ ก็จะเห็นรายละเอียดว่า ผ่านทางด่วนด่านใด เวลาใด

ขณะที่อุปกรณ์สมาร์ทโฮมของเสี่ยวหมี่ ซึ่งติดตั้งไว้ภายในบ้านหลายจุด เมื่อเข้าไปดู Log ก็จะเห็นได้ว่า ประตูบ้านเปิดปิดเวลาใด มีโมชั่น เซ็นเซอร์ที่มี Log ให้เห็นการเคลื่อนไหวภายในบ้าน มีเครื่องไฟฟ้าที่ต่ออินเทอร์เน็ต และมีกล้องวงจรปิด เหล่านี้ผู้ให้บริการเก็บข้อมูลไว้ทั้งหมด

สำหรับอุปกรณ์แวร์เอเบิล เพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพ ทั้งการออกกำลังกาย การเดิน มีเครื่องวัดความดัน เครื่องชั่งน้ำหนัก ข้อมูลเหล่านี้เก็บไว้บนคลาวด์ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้

ผมใช้บริการการเงินสารพัดอย่างตั้งแต่ บัตรเครดิต, โมบายแบงกิ้ง, ทรู วอลเล็ต, เพย์พาล, ลาซาด้า วอลเล็ต, แรบบิทไลน์เพย์ ทุกครั้งที่ชำระเงิน ผู้ให้บริการก็เก็บข้อมูลไว้ ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ว่ามีการเก็บข้อมูลอย่างไรผ่านโมบาย แอพ หรือเว็บไซต์ จึงไม่แปลกใจว่าทำไมผู้ให้บริการสามารถวิเคราะห์ข้อมูลของลูกค้าได้

ยังมีบริการออนไลน์ หรือไอโอทีอีกหลายอย่างที่ผมใช้ทั้ง กูเกิล โฮม, กูเกิล แอสซิสแทนท์ (Google Assistant), อะเมซอน แอคโค่ (Amazon Echo), สปอทิฟาย (Spotify) ซึ่งบริการเหล่านี้ก็คงเก็บข้อมูลอีกมากมายเช่นกัน

ใช่ครับ...วันนี้เราคงต้องคิดให้ดีกับการจะสมัครเป็นสมาชิกหรือการใช้บริการเหล่านี้ เพราะความเป็นส่วนตัวของเราจะหายไป จะถูกติดตามและตรวจสอบได้ทั้งหมด ยิ่งหากบริการนั้นผูกกับบัตรประชาชนหรือข้อมูลใดที่สามารถระบุตัวตนได้ก็ยิ่งมีความเสี่ยง แม้ว่าเราอาจจะดีใจที่ได้ส่วนลดหรือบริการที่ดีขึ้น แต่คงต้องระวังกันพอสมควร ทำให้ผมนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Enemy of the State ที่พระเอกถูกตรวจสอบและติดตามตลอดเวลา แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้สร้างขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันทุกอย่างกำลังเป็นเรื่องจริงแล้ว