เมื่อ "คำพูด" เป็น "นายคน"

เมื่อ "คำพูด" เป็น "นายคน"

ไม่กี่วันมานี้มีกรณี "คำพูดเป็นนายคน" อยู่สองเรื่องใหญ่ เรื่องแรกเมื่อฝ่ายกฎหมายของคุณธรรมนัส พรหมเผ่า ออกมาชี้แจงข้อกล่าวหาต่างๆ

อาทิ เรื่องของการได้รับพระราชทานยศ “ร้อยเอก” ทำให้เกิดกระแสถกเถียงจากการย้อนดูภูมิหลังของคุณธรรมนัส ผ่านประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีกรณีที่ต้องนำมาพิจารณาให้ความรู้โดยยึดหลักวิชาการแบบไม่เลือกข้างได้ดังต่อไปนี้ 

ในกรณีคำชี้แจงของฝ่ายกฎหมายของคุณธรรมนัส ได้ระบุรายการของช่วงเวลาต่างๆ ที่สังคมตั้งข้อสังเกตอย่างละเอียดลออ เรื่องนี้ขอให้ทุกฝ่ายทำใจให้นิ่งและพึงทำความเข้าใจระเบียบวิธีการทางราชการ เพราะแต่ละหน่วยงานมีกระบวนการขั้นตอนว่าด้วยการเลื่อนยศตำแหน่ง โดยเฉพาะข้าราชการตำรวจ ทหาร ที่อาจมีข้อแตกต่างจากทางพลเรือนทั่วไป จะต้องไปดูระเบียบของกองทัพหรือกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการแต่งตั้งและเลื่อนยศทหารว่า มีข้อกำหนดอย่างไร 

เรื่องนี้โดยส่วนตัวจากประสบการณ์มองว่าเป็นอำนาจ “ดุลยพินิจ” ของหน่วยงานอยู่ส่วนหนึ่ง ดังเคยมีปัญหาที่ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุ มองเรื่องการล้างมลทิน ถือว่าเป็นการล้างโทษแต่ไม่ได้ล้างการกระทำความผิดที่ได้กระทำไป ซึ่งสามารถใช้ดุลยพินิจไม่รับกลับเข้ารับราชการได้ โดยมองถึงปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมความเหมาะสมอื่นๆ แต่หาก “ต้นสังกัด” รับแล้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่หน่วยงานมีดุลยพินิจเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะแตกต่างกันไป

ส่วนเหตุที่จะนำไปสู่การพ้นจากตำแหน่งเมื่อเป็นรัฐมนตรีเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีกรณีเป็นไปได้หลายกรณี อาทิ การขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 เช่น เรื่องการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกขณะอยู่ในตำแหน่ง หรือการไปพบเจอลักษณะต้องห้ามในมาตรา 186, 187 ในเรื่องเกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังกรณีที่ฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาลกำลังเผชิญอยู่กับเรื่องของหุ้นสื่อต่างๆ เป็นต้น ในกรณีของคุณธรรมนัส มีเรื่องคุณวุฒิการศึกษา ไม่ขาดคุณสมบัติจริงเพราะการเป็นรัฐมนตรีต้องการคุณวุฒิปริญญาตรี แต่สำหรับปริญญาบัตรนอกเหนือจากนี้หากตรวจสอบพบว่าเป็นไปดังคำกล่าวหาก็อาจเทียบเคียงได้กับความผิดในเรื่องจริยธรรมหรือไม่ 

ดังกรณีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี นายคาร์ล กุ๊ตเตนเบอร์ก นักการเมืองหนุ่มอนาคตไกลที่หลายคนเชื่อว่าจะก้าวมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ต้องพ้นตำแหน่งไปเมื่อพบว่าถูกกล่าวหาเรื่องการคัดลอกวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเมื่อปี 2011 ซึ่งเขาตัดสินใจยอมรับผิดและดำเนินการลงโทษตนเองด้วยการ “ลาออก” ไป 

กรณีคุณธรรมนัส ทราบว่าฝ่ายค้านตั้งกรรมาธิการพร้อมทั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบกรณีดังกล่าวอยู่ถึง 2 ชุด หากไม่มีมูลความจริง คุณธรรมนัสมีสิทธิโดยชอบที่จะดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กล่าวหาเขาอย่างถึงที่สุด แต่หากพบการกระทำที่เป็นการละเมิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถือว่าบุคคลนั้นจะขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีไปโดยปริยายไม่ต้องไปร้องขอให้องค์กรใดมาถอดถอนแต่อย่างใด หากยังมีข้อสงสัย และขาดความชัดเจน ทางสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังสามารถเข้าชื่อเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญทำการวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติหรือไม่ นี่คือเรื่องแรกอันเกิดจากการพูด การแถลง ให้ถ้อยคำหรือชี้แจง ที่สังคมจับตามอง

เรื่องถัดมาที่ “คำพูดยังคงเป็นนายคน” ได้แก่การที่ ส.ส.ท่านหนึ่งได้วิจารณ์ “รัฐธรรมนูญ” ด้วยถ้อยคำเป็นภาษา “ต่างประเทศ” (แต่คนไทยคุ้นเคยดี) อย่างรุนแรง มีผู้ตั้งคำถามว่าเรื่องดังกล่าวใครเป็นผู้เสียหาย เพราะรัฐธรรมนูญที่มีการร่างขึ้นโดยกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถ้าจะว่า กรธ.เป็นผู้เสียหายในฐานะผู้ยกร่าง แล้วมีผู้มากล่าวหาว่าไม่ดีบกพร่องเช่นนั้นเช่นนี้ หากเป็นการกล่าวเกินเลยให้เสียหาย หรือทำให้ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็ถือเป็นผู้เสียหายได้ทางหนึ่ง แต่มั่นใจว่า กรธ.ในฐานะที่ได้มีการชี้แจงให้สังคมรับทราบถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็น วิธีการในการจัดทำ เผยแพร่รัฐธรรมนูญ ไปถึงกระบวนการผ่านประชามติแล้ว ก็คงมีความชัดเจน ทำให้สังคมได้รับรู้และสามารถเปรียบเทียบวุฒิภาวะกันได้เองว่า อะไรดีอะไรเลวเป็นอย่างไรเรื่องนี้ถึงกับมีบางคนถามว่าเป็นเรื่องที่ผิดต่อมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ 

สำหรับโดยส่วนตัวมองว่า การคิดเชื่อมโยงเช่นนี้เป็นสิ่งไม่บังควร เพราะกระบวนการทางการเมืองในวันนี้ เหตุผลหนึ่งของการมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นเจตนารมณ์หรือความชัดเจนให้เห็นตรงกันว่า การบริหารราชการแผ่นดินและการเมืองนั้นไม่พึงนำไปเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะพระองค์ได้ทรงมอบอำนาจต่างๆ ให้องค์อำนาจหลักแห่งอำนาจอธิปไตยทั้ง 3 ตามรัฐธรรมนูญไปดำเนินการแล้ว

ดังนั้น หากจะมองกรณีที่เกิดขึ้น ผู้ที่จะต้องถือว่าได้รับความเสียหายมากที่สุดคือ นายกรัฐมนตรี แต่ด้วยวุฒิภาวะของท่าน แม้การที่ท่านถูกละเมิดจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ท่านคงเชื่อมั่นและมองออกว่าสังคมจะเป็นผู้ตัดสินได้เอง จึงไม่มีการตอบโต้หรือถือสาหาความ เพราะยิ่งเราเป็น “ผู้ทรงเกียรติ” มากเท่าใด การรับรู้ ตัดสินใจ การแสดงออกทาง กาย วาจา ใจ พึงต้องมีความสำรวม จึงไม่น่าแปลกใจที่บางครั้งเคยได้ยินคนในกระบวนการยุติธรรมพูดให้ได้ยินในกรณีที่หาเหตุมายกเว้นไม่ดำเนินคดีหรือยกเว้นการกล่าวโทษได้ยาก ทำนองว่า “เข้าข่ายขาดเหตุอันควรปราณี

พวกเราในฐานะพุทธศาสนิกชนจึงยึดมั่นใน “กฎแห่งกรรม” ซึ่งชี้ชัดว่าผู้ใดกระทำกรรมใดย่อมได้รับผลจากการกระทำนั้นเอง