ถ้าผมเป็นทนายแพรวา

ถ้าผมเป็นทนายแพรวา

เขียนอย่างนี้เท่ากับเรียกแขกแน่ แต่ช้าก่อน เรื่องคดีแพรวานั้นจบไปแล้ว แต่อยากเล่าอะไรให้ฟัง เป็นอุทาหรณ์ เรื่องความรับผิดทางละเมิดกรณีประมาท

สมัยเรียนนิติศาสตร์นั้น ผมเคยสอบตกวิชาหนึ่ง (แสดงว่าไม่เก่งจริง) ตอนปี 2 วิชานั้นคือกฎหมายละเมิด ที่นักศึกษาสอบตกร่วมครึ่งชั้น กฎหมายลักษณะละเมิดนั้นมีไม่กี่มาตรา ทุกคนจำได้หมด แต่เป็นกฎหมายที่ซับซ้อนมากสุด ทุกอย่างต้องตีความและอาศัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นบรรทัดฐานมาช่วยอย่างมาก ครูที่สอนนั้นเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีการะดับสุดยอด เทคนิคแพรวพราว เรียนสนุก ทุกข์ขนาด จนสมัยนั้นพูดกันทีเล่นทีจริงว่าสอบได้เป็นเรื่องตลกสอบตกเป็นเรื่องธรรมดา อย่าไปเครียดกับมันนัก

เรื่องมีอยู่ว่าในการสอบข้อสอบวิชาละเมิดในปีนั้นดูเหมือนจะมีข้อสอบเพียง 3 ข้อเท่านั้น และถ้าผิดไปเลยหนึ่งข้อ โอกาสที่อีก 2 ข้อได้คะแนนเต็มเพื่อให้ได้ 60 คะแนนนั้นริบหรี่เต็มที จึงต้องถูกทุกข้อ เพราะถึงถูกก็ไม่ได้คะแนนเต็ม จำได้ว่ามีข้อหนึ่งเป็นเรื่องประมาทสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายโจทก์ก็กล่าวหาว่าจำเลยประมาท ฝ่ายจำเลยก็ว่าฝ่ายโจทก์ประมาท ข้อเท็จจริงมีว่าฝ่ายโจทก์ขับรถด้านหน้า ฝ่ายจำเลยขับรถตามมา ทั้งสองฝ่ายขับรถด้วยความเร็วสูงทั้งคู่ ฝ่ายจำเลยเร่งเครื่องแซงรถโจทก์แล้วหักเข้าเลนเดียวกัน แต่ก็ให้สัญญาณก่อน ฝ่ายโจทก์ก็เร่งเครื่องเพื่อไม่ให้แซงง่ายๆ เกิดเหตุรถฝ่ายโจทก์ชนรถจำเลย แล้วเสียหลักเกิดความเสียหายทั้งสองฝ่าย มีคำถามว่าใครผิด และใครบ้างต้องรับผิด คล้ายๆ คดีแพรว่าไหมครับ

เรื่องนี้ครูเฉลยว่าผิดทั้งคู่ เพราะประมาททั้งคู่ ถามครูว่ากฎหมายไม่ได้บอกว่าใครต้องรับผิด บอกแต่ว่าใครประมาทคนนั้นต้องรับผิด ก็ต้องกลับไปที่คำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นบรรทัดฐานว่ากรณีแบบนี้ใครต้องรับผิด และรับผิดอย่างไร

คดีที่เป็นบรรทัดฐานนั้นไม่ใช่คดีเกี่ยวกับรถยนต์ แต่เป็นคดีเกี่ยวกับเรือโดนกัน เพราะสมัยโน้นเราใช้เรือเดินทางกันทางน้ำ ศาลฎีกาตัดสินว่าเมื่อประมาททั้งคู่ก็ต้องดูว่าใครประมาทก่อนใครประมาทหลัง ถ้าความเสียหายเกิดจากผู้ที่ประมาทก่อน แต่ผู้ประมาทหลังอาจใช้ความระมัดระวังได้แต่ไม่ได้ใช้ให้พอเพียง ก็มีความผิดฐานประมาทด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ประมาทก่อนจะต้องรับผิดชอบกับความเสียหายทั้งหมด แต่ผู้ประมาทหลังก็ต้องมาเฉลี่ยความเสียหายด้วย และถ้าผู้ประมาทหลังนั้นมีส่วนสำคัญทำให้เกิดเหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายลง ก็ต้องรับผิดเพิ่ม และผู้ประมาทก่อนอาจไม่ต้องรับผิดเฉพาะกับผู้ประมาทหลังคล้ายๆ คดีแพรวาไหมครับ

ผมอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีแพรวาแล้วก็เห็นด้วยว่านี่เป็นช่องทางที่ฝ่ายประมาทก่อนต้องชี้ให้ศาลเห็นว่าฝ่ายโจทก์ก็ประมาทด้วย ส่วนใครประมาทมากกว่ากัน ใครต้องชดใช้ใคร หักกลบลบกันอย่างไร ศาลต้องใช้ดุลยพินิจชั่งน้ำหนัก จำเลยในคดีแพรวาใช้ช่องทางนี้จึงสู้กันถึง 3 ศาล แต่ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงแล้วเชื่อว่าฝ่ายโจทก์คือคนขับรถตู้ไม่ได้ประมาทเลย เรื่องนี้จึงจบลงที่ฝ่ายจำเลยต้องรับผิดชอบทั้งหมดแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่ถ้าศาลเห็นว่าฝ่ายโจทก์ก็ประมาทด้วยหรือประมาทบางส่วน อย่างนี้ฝ่ายจำเลยอาจรับผิดน้อยลง และฝ่ายโจทก์ที่ประมาทด้วยก็ต้องร่วมเฉลี่ยความรับผิดกับผู้ที่สูญเสียเสียหาย

เคยคิดเหมือนกันว่า ถ้าเป็นคดีทางการแพทย์ ผู้เสียหายฟ้องว่าจำเลยเป็นแพทย์กระทำการโดยประมาททำให้เกิดความเสียหาย ถ้าฝ่ายแพทย์มีทนายเก่งๆ ก็อาจนำสืบว่าความเสียหายไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยประมาทของแพทย์แต่ฝ่ายเดียว แต่เกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่ได้ทำตามคำแนะนำแพทย์ และถ้าปรากฏหลักฐานเช่นนั้นก็ถือว่าฝ่ายโจทก์ก็ประมาทด้วย แต่ดูเหมือนจะไม่เคยมีการต่อสู้แบบนี้ในคดีทางการแพทย์ เลยไม่มีบรรทัดฐาน

เขียนมายืดยาวก็เพียงแต่จะบอกว่า เวลาโทษใครต้องมั่นใจว่าเราไม่ผิดจริง เพราะถ้ามีส่วนผิดอยู่บ้าง ก็จะเป็นช่องทางให้เขาต่อสู้ได้ คดีแพรวาถึงลากยาว 3 ศาลนานเป็นสิบปี