Influencer กับความรับผิดชอบต่อสาธารณะ

Influencer กับความรับผิดชอบต่อสาธารณะ

คนในโลกโซเชียลมีเดียย่อมรู้จัก “อินฟลูเอนเซอร์” หรือ ผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดเห็นต่อคนส่วนใหญ่ ซึ่งในโลกโซเชียลนี้ก็มีโลกต่างๆ แบ่งซอยกันไป

 เช่น โลกของการค้าขายสินค้าต่างๆ โลกการเมืองทั้งในและต่างประเทศ โลกบันเทิง โลกธรรมๆ ฯลฯ และก็จะมี “อินฟลูเอนเซอร์” ของแต่ละโลก คำถามคือ เกิดอินฟลูฯ ได้ไง ?

อินฟลูฯ คือ คนที่แสดงความเห็น (comments) หรือความรู้ในประเด็นต่างๆ ในโลกนั้นๆ และความเห็นหรือความรู้ของเขา/เธอมีคนเห็นด้วย(followers) มากและบ่อยๆ แต่คนเห็นด้วยที่ว่านี้อาจจะมาจากการเห็นด้วยจริงๆ ของแต่ละปัจเจกบุคคล หรืออาจจะเกิดจากการปั่นกระแสขึ้นมาก็ได้ อินฟลูฯ อาจจะเป็นคนที่มีคุณสมบัติหรือตำแหน่งแห่งที่ที่เป็นทางการในโลกนั้นๆเช่น เป็นนักการตลาดที่ประสบความสำเร็จ เป็นนักวิชาการในโลกนั้นๆ เช่น โลกการเมือง โลกวิทยาศาสตร์ ฯลฯ หรืออาจจะไม่ได้มีคุณสมบัติหรือตำแหน่งที่เป็นทางการ แต่มีความเห็น-ความรู้ที่เมื่อแสดงออกมาแล้ว คนชอบกันเยอะ

เมื่อเป็นอินฟลูฯ แล้ว คือ เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในโลกนั้นๆ ยามเมื่อเกิดประเด็นอะไรในสังคม และอินฟลูฯ แสดงความเห็นหรือความรู้ออกมา แล้วถูกจริตของคนส่วนใหญ่ หรือคนส่วนใหญ่ที่ยังงงๆ กับประเด็นที่เกิดขึ้น ก็อาจจะ รับความเห็น-ความรู้ของอินฟลูฯ มาง่ายๆ และเอาไปพูดหรือขยายความต่อๆๆ ไป โดยอาจจะไม่ได้อ้างอิงว่า เอามาจากอินฟลูฯ คนนั้นคนนี้ แต่กลายเป็นความเห็น-ความรู้ของคนที่เอาไปใช้ต่อ และเมื่อต่อๆๆ กันไป มันก็จะกลายเป็นความเห็น-ความรู้ “ส่วนใหญ่” หรือกระแสของโลกโซเชียลไปได้ 

เมื่อคนอื่นๆ ที่มาเห็น “กระแส” ก็จะเกิดความคิด 2 อย่างขึ้น นั่นคือ 1.ความเห็น-ความรู้นี้ “ใช่เลย” เพราะเป็นเสียงข้างมาก และเสียงข้างมากย่อมถูกต้องภายใต้หลักประชาธิปไตย 2.คนที่ไม่เห็นด้วยกับกระแส แต่ก็ไม่กล้าแย้ง เพราะกลัวเสียงข้างมากจะเล่นงานเอา (อย่างเอาเป็นเอาตาย ยิ่งถ้ามันเป็นการปั่นกระแสด้วยแล้ว !)

 ผู้อ่านอาจจะสังเกตได้ว่า ผู้เขียนชอบใช้คำว่า “ความเห็น-ความรู้” ! เพราะผู้เขียนเห็นว่า การแสดงออกหรือคอมเมนต์ทุกวันนี้ แบ่งออกได้เป็น ความเห็นและ ความรู้ความเห็นต่างจากความรู้อย่างไร ? เริ่มต้นจากที่ง่ายที่สุดคือ ความเห็นเป็นการแสดงออกถึง ความชอบ ไม่ชอบ การรับหรือปฏิเสธ เช่น ฉันชอบขนมไหว้พระจันทร์ งานลอยกระทงสุดยอด ส่วนความรู้ก็คือ คำอธิบายอย่างมีเหตุมีผลต่อขนมไหว้พระจันทร์ หรือต่องานลอยกระทง 

แต่บางที แม้ว่าจะอธิบายขยายความว่าชอบไม่ชอบเพราะอะไร ก็ยังจะเป็นความเห็นมากกว่าความรู้ก็มี ตัวอย่างของความเห็นที่ไม่ต้องคอมเมนต์ออกมาเป็นภาษาเขียน เช่น ภาพดารา (อินฟลูฯ) ใช้ผลิตภัณฑ์อะไรสักอย่าง หรืออาจจะมีคอมเมนต์ก็ได้ เช่น ดาราคนนั้นบอกว่า ใช้แล้วดี เห็นผลทันตา หรืออินฟลูฯ ในโลกการเมือง ถ่ายภาพตัวเองยกนิ้วกลางต่อเรื่องบางเรื่อง แต่ไม่ได้ให้ความรู้หรือคำอธิบายอย่างมีเหตุมีผลว่า ทำไมถึงต้องยกนิ้วกลาง คนอื่นๆ ที่เห็น ถ้าเป็นพวกที่ชื่นชมอินฟลูฯ คนนั้น ก็อาจจะคล้อยตามไป หรือคนอื่นๆ ที่มีจริตต้องตรงกับแนวของอินฟลูฯ คนนั้นอยู่แล้ว ก็จะกดไลค์และแชร์ต่อๆ ไป หรือเอาไปใช้เป็นของตัวเอง

การแสดง “ความเห็น” ถือว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความเห็นเท่านั้น แต่ถ้าเป็นการแสดง ความรู้ที่มีหลักฐานและมีเหตุมีผลก็จะเป็นเสรีภาพในทางวิชาการ ซึ่งคนที่ไม่ได้เป็นนักวิชาการก็สามารถมีเสรีภาพทางวิชาการได้ หากเขา/เธออธิบายขยายความและให้เหตุให้ผลในประเด็นหรือเรื่องนั้นๆ ขณะเดียวกัน ถ้านักวิชาการแสดงแค่ “ความเห็น” แม้ว่าเจ้าตัวจะเป็นนักวิชาการ แต่ก็ไม่ถือว่าการแสดงความเห็นที่บอกแค่ ชอบไม่ชอบ รับหรือปฏิเสธ เป็นการใช้เสรีภาพทางวิชาการ

นักวิชาการ คือ ผู้ที่มีคุณสมบัติ เช่น วุฒิการศึกษา ประสบการณ์ หรือมีตำแหน่งแห่งที่ เช่น เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ย่อมจะมีศักยภาพและสามารถเป็น อินฟลูฯในโลกโซเชียลได้ง่ายๆ และความเห็นของคนเหล่านี้จะมีอิทธิพลต่อผู้คน ความเห็นของอินฟลูฯ จึงเป็นความเห็นที่มีอำนาจอิทธิพลที่เป็นที่ยอมรับ (authoritative opinion) ของคนทั่วไป ดังนั้น ถ้าอินฟลูฯ แสดงความเห็นว่า ชอบไม่ชอบ รับไม่รับ ก็มักจะมีอิทธิพลต่อคนส่วนใหญ่ได้ง่ายกว่าความเห็นของคนที่ไม่ได้เป็นอินฟลูฯ

ทีนี้ มีคำถามว่า ระหว่างคนที่เป็นอินฟลูฯ คอมเมนต์การทำงานขององค์กรหรือสถาบันทางการเมืองว่า “เฮงซวยหรือหน้าด้าน” กับคนที่ไม่ได้เป็นอินฟลูฯ แต่คอมเมนต์ด้วยข้อความเดียวกัน ใครควรจะต้องมีความรับผิดชอบในการขยายความหรืออธิบายว่า องค์กรหรือสถาบันนั้นทำงาน “เฮงซวยหรือหน้าด้าน” อย่างไร ? แน่นอนว่า คำตอบย่อมต้องอยู่ที่ คนที่เป็นอินฟลูฯ มากกว่า ที่จะต้องมีความรับผิดชอบต่อความเห็นที่แสดงสู่สาธารณะ ครั้นจะบอกว่า คนทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกัน มันก็จริงในทางกฎหมาย แต่ในทางสังคม คนมีอิทธิพลทางความคิดไม่เท่ากัน เพราะเวลาคนอ่านคอมเมนต์ของอินฟลูฯ จะให้ความสำคัญหรือความเชื่อถือมากกว่าคนที่ไม่ได้เป็นอินฟลูฯ

ในโลกการเมืองในโซเชียล จะพบว่า อินฟลูฯ บางคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยจบการศึกษาจากสถาบันที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่กลับคอมเมนต์แค่ “ความเห็น” เช่น ห่วยแตก ทุเรศ ไม่ได้เรื่อง ไม่มีราคา ฯลฯ แต่ไม่มีความรับผิดชอบต่อองค์ความรู้ของตัวเองและต่อการให้ความรู้ต่อสาธารณะ

ถ้าคนในโลกโซเชียลมีความหนักแน่น ไม่ได้หลงใหลไปกับตำแหน่งแห่งที่หรือวุฒิการศึกษา ก็ไม่น่าวิตกอะไร เพราะเขาเหล่านั้นก็จะมีวิจารณญาณเพียงพอที่จะประเมินสิ่งที่อินฟลูฯ คอมเมนต์มาว่ามีเหตุมีผล มีหลักฐานมากน้อยหรือไม่ แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ในโลกโซเชียลขาดสติและวิจารณญาณ ก็จำเป็นที่จะต้องหาทางให้อินฟลูฯ ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตนแสดง ความเห็นนั้นๆ ออกมา สมมุติว่า เทพ คือ ผู้ที่มีเหตุมีผล ไม่ใช้อารมณ์ และมนุษย์ไม่ได้เป็นได้อย่างเทพ 

นักคิดทางการเมืองอย่างรุสโซจึงกล่าวว่า ถ้าพลเมืองเป็นเทพ ก็เหมาะแล้วที่จะปกครองด้วยประชาธิปไตย แต่การปกครองที่สมบูรณ์แบบเช่นนั้นไม่เหมาะสำหรับมนุษย์ ! (“A population of gods could have a democratic government. A government as perfect as that is not for men.”/ บทที่ว่าด้วยประชาธิปไตย ในหนังสือสัญญาประชาคมของรุสโซ) แต่เราไม่จำเป็นถึงกับต้องทิ้งประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยที่รุสโซว่าไว้นี้ คือ ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ที่ให้ประชาชนทุกคนมีความเท่าเทียมและมีอำนาจในการตัดสินเรื่องราวสาธารณะด้วยตนเอง โดยไม่ผ่านการเลือกตัวแทน เมื่อประชาชนไม่ใช่เทพ จึงจำเป็นต้องมีกลไกในการตรวจสอบถ่วงดุลต่างๆ และหนึ่งในนั้นก็คือ การตรวจสอบถ่วงดุลอิทธิพลความเห็นของอินฟลูฯ ที่แสดงออกอย่างไม่รับผิดชอบต่อสังคม