จะให้ตายอีกกี่ศพจึงจะกระจายอำนาจการบริหารงานบุคลท้องถิ่น

จะให้ตายอีกกี่ศพจึงจะกระจายอำนาจการบริหารงานบุคลท้องถิ่น

จากกรณีนายนิยม ภูผานม อายุ 43 ปี สามีของครูปิยวดี ภูผานม ครู คศ.2 สังกัดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.โนนศิลาเลิง อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ผูกคอตาย

 โดยครูปิยวดี ได้เล่าว่า ก่อนที่สามีจะผูกคอตาย ได้บ่นกับตนและญาติให้ฟังบ่อยครั้งว่า อยากผูกคอตายที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.) เพื่อให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้ความทุกข์ของครอบครัว เนื่องจากสามีเครียดมากจากที่ สถ.มีหนังสือแจ้งให้ตนออกจากราชการ เพราะสงสารตนและครอบครัวที่ต้องทนทุกข์กับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งกรณีนี้ได้เป็นประเด็นที่เกิดความไม่พอกันอย่างกว้างขวางในแวดวงขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)

สืบเนื่องจากการที่สำนักงาน ก.ท./ก.อบต.มีหนังสือด่วนที่สุดที่ มท 0809.4/ว.33 ลงวันที่ 23 ส.ค.2562 แจ้งให้นายกเทศมนตรี/นายก อบต.โดยความเห็นชอบของ ก.ท.จ./ก.อบต.จังหวัด มีคำสั่งให้ครูผู้ดูแลเด็ก(ครู ผดด.) ซึ่งได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นระหว่างปี 2554 - 2556 รวม 98 ราย ออกจากราชการโดยพลัน โดยอ้างเหตุคุณวุฒิที่ใช้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน ไม่ตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและไม่มีเหตุเยียวยา ทั้งที่บรรจุมาแล้วเกือบ 10 ปี

ซึ่งจากการตรวจสอบของสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย เห็นว่าการสมัครเข้ารับการคัดเลือกที่มีการกำหนดไว้ว่า “มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาทุกสาขาวิชาเอก หรือทางอื่นที่ ก.ท.กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้” ของเทศบาลและ อบต.หลายแห่ง มีการแนบรายละเอียดตำแหน่งและคุณวุฒิของผู้สมัครคัดเลือกไว้ด้วย ซึ่งผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกได้ปฏิบัติตามประกาศ โดยครบถ้วนสมบูรณ์ เหตุบกพร่องดังกล่าวจึงมิได้เกิดขึ้นจาก ครู ผดด.ทั้ง 98 คนแต่อย่างใด แต่อาจเกิดจากข้อผิดพลาดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อ คือ

1..สำนักงาน ก.ท./ก.อบต.โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น(สถ.)ได้มีหนังสือเวียนแจ้งการจัดสรรตำแหน่งข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น ตำแหน่งครู ผดด"ไปยังเทศบาลและ อบต.ทั่วประเทศ ผ่านสำนักงานท้องถิ่นจังหวัดแต่ละแห่ง โดยมีระยะเวลาเร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลาจะดำเนินการยึดอัตราตำแหน่งดังกล่าวคืน โดยมีข้อแนะนำในการดำเนินการคัดเลือกเป็นกรณีมีเหตุพิเศษโดยไม่ต้องสอบแข่งขัน ซึ่งมิได้แนบรายละเอียดเกี่ยวกับคุณวุฒิอื่นที่ ก.ท.กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งครู ผดด. มาด้วยแต่อย่างใด

2.คณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัด(ก.ท.จ.)คณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัด(ก.อบต.)และฝ่ายเลขานุการ(กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น)ของคณะกรรมการทั้ง 2 คณะมีมติให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก โดยฝ่ายเลขานุการของ ก.ท.จ.และ ก.อบต.จังหวัดได้รับรองต่อคณะกรรมการทั้ง 2 คณะว่าผู้ผ่านการคัดเลือกมีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จึงถือเป็นมติที่ถูกต้องสมบูรณ์แล้ว เมื่อมติดังกล่าวถูกส่งไปยังเทศบาลหรือ อบต. ผู้บริหารเทศบาลหรือ อบต.จึงได้ออกคำสั่งบรรจุแต่งตั้งครู ผดด.ตามมติดังกล่าว

3.เทศบาลหรือ อบต. ได้ใช้แนวทางของสำนักงาน ก.ท.ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ มท 0809.4/1433 ลงวันที่ 7 มิ.ย.2548 ซึ่งได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการตรวจสอบคุณวุฒิของผู้สมัครตำแหน่งครูผู้ช่วย มาเป็นแนวทางในการตรวจสอบคุณวุฒิของผู้เข้ารับการคัดเลือกตำแหน่งครู ผดด.โดยมีความเข้าใจว่าเป็นคุณวุฒิที่ ก.ท.ได้กำหนดไว้ใช้เทียบเคียงกัน(เนื่องจากขณะนั้น ก.ท.มิได้กำหนดคุณวุฒิอื่นสำหรับตำแหน่งครู ผดด.) ทำให้เป็นสาเหตุสำคัญของข้อบกพร่องดังกล่าว โดยที่สำนักส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดซึ่งรับผิดชอบเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดและคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดมิได้ทักท้วงแต่อย่างใด

กรณีดังกล่าวข้างต้นในระยะสั้นทางออก ก็คือการทบทวนมติของ ก.ท.และก.อบต.ซึ่งหากไม่ทบทวนเรื่องก็ต้องไปถึงศาลปกครองอย่างแน่นอน แต่ในระยะยาวเป็นเรื่องที่เราจะต้องมาพิจารณาว่าระบบบริหารงานบุคคลของ อปท.ที่ประเทศไทยเราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นเหมาะสมถูกต้องตามหลักของการปกครองท้องถิ่นหรือไม่ อย่างไร โดยผมจะยกตัวอย่างจากต่างประเทศทั้งหลายว่าเขาใช้ระบบไหนกันบ้าง คือ

1.ระบบที่รวมการบริหารงานบุคคลของ อปท.ไว้กับระบบข้าราชการ พลเรือน(Integrated National and Local Government Personal System) เช่น ไต้หวัน เอกวาดอร์ โมร็อกโค เป็นต้น ข้อดี ประหยัดและลดอิทธิพลของการเมืองท้องถิ่น ข้อเสีย การที่รัฐบาลกลางเป็นผู้ดำเนินการเองนั้นขัดหลักการกระจายอำนาจให้กับท้องถิ่น

2.ระบบบริหารงานบุคคลที่รวมอำนาจไว้ในองค์กรระดับชาติ(Unified Local Government Personal System) เช่น ไทย ศรีลังกา ไอร์แลนด์ จาไมกา แทนซาเนีย เป็นต้น ข้อดี เป็นแบบแผนเดียวกันทั่วประเทศ(Uniformity) ข้อเสีย สนองความต้องการของรัฐส่วนกลางมากกว่าความต้องการของท้องถิ่นและเกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรบริหารงานบุคคลระดับชาติกับผู้บริหารท้องถิ่น เนื่องจากอำนาจเด็ดขาดเป็นของส่วนกลาง และเจ้าหน้าที่มีความรับผิดชอบต่อท้องถิ่นน้อย ผู้บริหารท้องถิ่นไม่สามารถเลือกบุคคลที่จะมาทำงานตามนโยบายของตนได้ ดังเช่น กรณีครู ผดด.ที่เป็นข่าวข้างต้น

3.ระบบบริหารงานบุคคลที่ให้ อปท.แต่ละแห่งมีอำนาจบริหารเอง(Seperated Personal System for Each Local Authority) เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น อังกฤษ ประเทศต่างๆแถบลาตินอเมริกา เป็นต้น เป็นระบบที่การปกครองท้องถิ่นพัฒนาแล้ว ซึ่งมีรายละเอียดแบ่งย่อยไปได้หลายแบบ แต่สรุปรวมได้ว่า ข้อดี เจ้าหน้าที่มีความจงรักภักดีและปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถ เพราะอยู่ใต้การบริหารงานบุคคลของผู้บริหารหรือสภาท้องถิ่น แต่ที่ดีที่สุดคือเป็นการส่งเสริมการปกครองตนเองของท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจการปกครอง ข้อเสีย อปท.ขนาดเล็กจะจำกัดด้วยบุคคลากรในพื้นที่และงบประมาณ

จากที่กล่าวมาทั้งหมดน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น อย่าให้ต้องเกิดการเสียชีวิตเพราะการรวมศูนย์อำนาจกันอีกเลย