ชาวต่างชาติในประเทศไทย

ชาวต่างชาติในประเทศไทย

เมื่อไม่นานมานี้มีการสังสรรค์กันที่บ้าน เป็นการรวมสมาชิกครอบครัวที่นานๆ ได้เจอกันที หลายคนเป็นวิศวกร ทั้งภาครัฐและเอกชน

พี่น้องและเขยๆ หลายคนเป็นแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ทั้งภาครัฐและเอกชน แล้วก็นั่งคุยกันหลายเรื่องราวที่อาจไม่ได้ฟังจากคนนอก

ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัจจุบันธุรกิจภาคเอกชนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของเราพึ่งชาวต่างชาติมากขึ้นทุกที ฟังทีแรกก็คิดว่าเป็นเรื่องแรงงานต่างชาติ แต่ฟังไปฟังมาเป็นเรื่องบุคลากร นักวิชาชีพ ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ตั้งแต่อุตสาหกรรมก่อสร้าง วิศวกร สถาปนิก บุคลากรทางการแพทย์ นักบัญชี การเงิน คอมพิวเตอร์ โปรแกรมเมอร์ และอื่นๆ ที่มาจากต่างประเทศเต็มบ้านเราไปหมด คนพวกนี้ส่วนหนึ่งเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย ตามกฎหมายคนเข้าเมืองและกฎหมายแรงงาน แม้ว่าอาจจะเป็นนับหมื่น แต่ไม่เท่าประเภทที่ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตที่มีจำนวนมากมายกว่าหลายเท่า

สมัยที่เป็นผู้บริหารกลุ่มบริษัทที่ทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ แต่ละปีจะมีชาวต่างชาติมาติดต่อขอทำงานในระดับต่างๆ อยู่เสมอ โดยพวกนี้มักจบการศึกษาระดับสูงที่เมืองไทย บางคนจบวิศวะจาก AIT ก็มี โดยขอทำงานรับค่าจ้างที่ไม่สูงกว่าวิศวกรไทย ทั้งๆ ที่มีความสามารถสูงและใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้อย่างดี ส่วนใหญ่พวกเขามาจากบังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอีกหลายประเทศที่ถือว่าค่อนข้างยากจนกว่าเรา

เท่าที่ฟังจากวงสนทนาก็คือบริษัทเอกชนจำนวนมากยินดีจ้างบุคคลเหล่านี้ไว้ทำงานด้วยหลายเหตุผลประกอบกันคือ แก้ปัญหาขาดแคลนคนไทยไม่พอ ค่าจ้างไม่แพง พูดและใช้ภาษาอังกฤษได้ดี สื่อสารได้ดี และที่สำคัญคือพวกเขาพร้อมที่จะทำงานหนักไม่ว่าจะได้รับมอบหมายให้เสร็จภายในกำหนดเวลาแค่ไหน พวกเขาทุ่มเต็มที่เพื่อให้งานเสร็จ ไม่ปริปากบ่น

ถามว่าแล้วเหล่าพนักงานคนไทยที่เป็นนักวิชาชีพไม่ว่าวิศวกร สถาปนิก บุคลากรทางการแพทย์ เขาทำอะไร คำตอบก็คือเอาไว้รับหน้าหน่วยราชการและติดต่อราชการ และเซ็นงานเพื่อส่งมอบ

จากที่ฟังในวงสนทนาค่อนข้างมีความเห็นคล้ายๆ กันว่า พวกนี้เข้ามามีบทบาทมาก แต่อยู่เบื้องหลังการทำงาน บริษัทไม่ต้องการให้ออกหน้าโดยเฉพาะการเข้าชี้แจงต่อผู้ว่าจ้างที่เป็นหน่วยราชการ จึงกลายเป็นว่าผู้ชี้แจงไม่ได้ทำ ผู้ทำไม่ได้เป็นผู้ชี้แจง

ไม่รู้ว่าสถานการณ์แบบนี้จะยังการเกิดมากขึ้นหรือไม่ เพราะยิ่งถ้าเราต้องการบุคลากรทางด้านวิศวกรรม การแพทย์ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่ต้องสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีคนไทยรองรับมากพอ เราก็คงต้องยืมจมูกบุคลากรต่างชาติมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลคงต้องคิดเรื่องนี้ให้มากๆ