U & I จับมือร่วมกันสร้างนวัตกรรมก้าวไกล

U & I จับมือร่วมกันสร้างนวัตกรรมก้าวไกล

ผมได้มีโอกาสได้ไปเข้าร่วมงานสัมมนาเปิดโครงการที่เป็นความร่วมมือสำคัญจากหลายองค์กรเพื่อผลักดันให้ SMEs ไทย

หันมาปรับปรุงและพัฒนาองค์กรด้วยการต่อยอดธุรกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสู่นวัตกรรม ภายใต้ชื่อโครงการ Research Connect โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำของประเทศ (Research University Network) ซึ่งถือเป็นการดำเนินการที่ดีที่ภาครัฐหันมาดำเนินการโครงการที่เน้นความร่วมมือมากขึ้น โดยนำจุดแข็งจุดเด่นของแต่ละองค์กรเข้ามาประสานสร้างประโยชน์ แทนที่จะต่างคนต่างทำ ที่สำคัญเป็นการบูรณาการงานแบบข้ามกระทรวงด้วย

 

ถ้าเราติดตามการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี จะเห็นได้ว่าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมที่แต่เดิมส่วนใหญ่จะผลิตแต่สินค้าและให้บริการในรูปแบบเดิมๆต่อเนื่องกันมาหลายทศวรรษ ปัจจุบันเริ่มปรับโครงสร้างธุรกิจหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ และการนำงานวิจัยพัฒนามาต่อยอดเพื่อสร้างนวัตกรรมมากขึ้น ถึงแม้ว่าภาคอุตสาหกรรมจะมีความเชี่ยวชาญชำนาญในการผลิต ใกล้ชิดตลาด เข้าใจความต้องการลูกค้า แต่ไม่สามารถนำแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงนั้นๆมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้ เพราะไม่มีบุคลากรด้านวิจัยพัฒนา อีกทั้งยังขาดองค์ความรู้

 

ในขณะที่มหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยนักวิจัย แม้ว่าส่วนใหญ่จะคุ้นชินกับการวิจัยพื้นฐานหรือวิจัยเชิงวิชาการ แต่ปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อยที่หันเหมาเน้นการวิจัยเชิงประยุกต์ แต่ยังขาดเงินทุนวิจัย จะเห็นได้ว่าทั้งฝั่ง university และฝั่ง industry มีจุดอ่อนและจุดแข็งที่เอื้อซึ่งกันและกัน ถ้าภาครัฐออกมาตรการหรือมีหน่วยงานเข้ามาทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อม อาทิ สวทช และ สนช ที่ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว ตอนนี้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้เข้ามาส่งเสริมอีกทางหนึ่งเพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างกัน เกิดความร่วมมือที่เรียกว่า University and Industry Collaboration

 

หลายมหาวิทยาลัยมีหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ หน่วยงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา หน่วยงานด้านนวัตกรรม หรือหน่วยงานด้านการอนุญาตให้สิทธิ์ในเทคโนโลยี (Technology Licensing Office – TLO) ส่งเสริมและผลักดันอาจารย์และนักวิจัยด้วยการนำผลงานวิจัยของอาจารย์มาจดสิทธิบัตร ขึ้นทะเบียน และอธิบายผลงานนั้นด้วยคำพูดที่เข้าใจได้ง่ายไม่เป็นศัพท์เทคนิคจนเกินไป รวบรวมผลงานทั้งหมดมาอยู่ที่เดียวกันให้ภาคเอกชนได้ช้อปปิ้งโดยง่ายแบบ One Stop Shopping

 

ผลงานใดที่ผู้ประกอบการให้ความสนใจเป็นพิเศษสามารถมาเจรจาพูดคุยถามไถ่ในเชิงลึก มีบริการด้านกฎหมายเพื่อให้คำแนะนำ มีบริการด้านการนำผลงานไปสู่มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือมาตรฐานด้านอาหารและยา มีหน่วยบริการด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เมื่อเจรจาซื้อสิทธิในผลงานวิจัยแล้ว หรือจะร่วมกับทางมหาวิทยาลัยจัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจใหม่ร่วมกันก็แล้วแต่ เงินทุนก็เป็นสิ่งสำคัญเท่าที่เห็นมีสถาบันการเงินทั้งของรัฐและของเอกชนก็เข้ามาให้การสนับสนุนส่งเสริม เมื่อประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วยการประเมินความเป็นไปได้ทางเทคนิค (Technology feasibility) เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถขยายสเกลจากห้องแล็บไปสู่การผลิตในโรงงานจริงได้ การประเมินความเป็นไปได้ทางการตลาด (Market feasibility) มีความต้องการในตลาดและมีขนาดของตลาดที่ใหญ่เพียงพอที่จะสร้างมูลค่าทางธุรกิจได้ และสุดท้ายคือการประเมินความเป็นไปได้ทางการเงิน (Financial feasibility) คือมีความคุ้มค่าทางการลงทุนเกิดผลตอบแทนที่สูงพอ (Return on Investment) และมีระยะเวลาคืนทุนที่รับได้ (Payback period) สถาบันการเงินก็คงจะปล่อยกู้ได้ไม่ยาก

 

แต่ถึงอย่างไรถ้าติดขัดไม่สามารถกู้เงินได้อันด้วยเหตุผลใดๆก็แล้วแต่ ปัจจุบันมีนวัตกรรมทางการเงินในการที่จะระดมทุนสำหรับงานด้านนวัตกรรมได้อีกหลายทาง อาทิ ความช่วยเหลือทางการเงินของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กองทุนร่วมลงทุนเอกชน (Venture capital) ทั้งที่เป็นกองทุนเฉพาะ (funding agent) กองทุนจากบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate Venture Capital - CVC) และจากนักลงทุนอิสระ (Angle investor) รวมไปถึงการระดมทุนผ่านเว็บระดมทุน Crowdfunding) และรูปแบบอื่นๆที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต

 

นอกจากนั้นทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมน่าจะผลักดันต่อไปสู่การผลิต ใช้ประโยชน์จากศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต หรือ Industry Transformation Center ซึ่งตอนนี้เท่าที่ทราบมีการขยายบริการไปในศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมในภูมิภาคด้วย นอกจากภารกิจในการปรับปรุงระบบการผลิตไปสู่ 4.0 แล้ว ภายในศูนย์ดังกล่าวยังมีบริการด้านการออกแบบชิ้นงานด้วย 3D printing ก็ควรจะนำมาใช้ประโยชน์ในโครงการ Research Connect ได้อีกทางหนึ่ง เป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐที่ลงทุนไปแล้วให้เกิดความคุ้มค่ามากขึ้น

 

แนวทางการสร้างความร่วมมือที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการของไทยให้ก้าวไกลในการใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับและปรับปรุงกระบวนการผลิต ควบคู่พร้อมไปกับการเชื่อมโยงผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยไปสู่การผลิตจริงในภาคอุตสาหกรรมถือเป็นสิ่งที่ดี ควรแล้วที่กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ขยับลุกขึ้นมาช่วยผลักดันอีกแรงหนึ่ง