พักรบสงครามเย็น

พักรบสงครามเย็น

เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ภาพตลาดการเงินโลกดูจะพลิกจากหน้ามือเป็นหลังเท้า หลังปัจจัยลบรอบด้านทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนหดหาย

เกิดเป็นกระแสระวังความเสี่ยง (Risk-off) อย่างรุนแรงในเดือน ส.ค.

ปัจจัยลบที่รุนแรงที่สุดได้แก่ สงครามเย็นด้านเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น จากทรัมป์ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนก้อนสุดท้าย และจีนตอบโต้ด้วยการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่ากว่าระดับจิตวิทยาที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์ และประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐมูลค่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งทรัมป์ก็ตอบโต้ด้วยการประกาศจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีก 5% ในทุกสินค้า

ข้ามมาเดือนก.ย. ภาพดูเหมือนอยู่กันคนละโลก แม้ทรัมป์จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนบางส่วนตามที่ประกาศไว้ แต่จีนก็ไม่ตอบโต้ ซ้ำยังเลื่อนการขึ้นภาษีสินค้าจำเป็นที่นำเข้าจากสหรัฐบางส่วนจากปีนี้เป็นปีหน้า ประกาศให้บริษัทจีนเริ่มนำเข้าหมูและถั่วเหลืองจากสหรัฐมากขึ้น รวมถึงเริ่มผลักให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้น ทำให้ทรัมป์เลื่อนขึ้นภาษีอีก 5% ไปอีก 15 วันเป็นการตอบแทน และเริ่มส่งสัญญาณว่าอาจมีการทำสนธิสัญญาการค้ากับจีนเป็นการชั่วคราว

ในฝั่งสงครามเทคโนโลยี(Tech war) ก็ไม่น้อยหน้า แม้ข่าวจะไม่โด่งดังนัก แต่ก็เป็นที่ตื่นตะลึงในวงการเทคโนโลยี คือ ข่าวที่ เหริน เจิ้งเฟย (Ren Zhengfei) CEO ของหัวเว่ย ประกาศว่าพร้อมจะขายเทคโนโลยี 5G ให้ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงสิทธิบัตร Source code พิมพ์เขียว รวมถึง Know-How ของเทคโนโลยี 5G ด้วยการจ่ายค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว โดยผู้ซื้อสามารถพัฒนาและแก้ไข Source code ใหม่ได้ ซึ่งหมายความว่า หัวเว่ยและรัฐบาลจีนไม่สามารถควบคุมหรือเข้าถึงเครือข่ายของผู้ที่ซื้อเทคโนโลยีดังกล่าวไปปรับปรุงและทำขึ้นมาใหม่ในแบบของตัวเอง

ประเด็นนี้สำคัญมาก เนื่องจาก 5G เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนโลกได้ เนื่องจากสามารถรองรับการเชื่อมโยงระหว่างบุคคล อุปกรณ์ เครื่องยนต์ คอมพิวเตอร์ และอื่นๆ ด้วยความเร็วสูงและต้นทุนถูกลง ทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยี Internet of Things (IOT) ได้อย่างเต็มรูปแบบ 

ข้อเสนอของเหรินครั้งนี้ น่าสนใจมาก เพราะ (1) เทคโนโลยี 5G ของ หัวเว่ย ก้าวล้ำหน้าคู่แข่งอื่นๆ มาก เหรินคงกลัวว่า หากสงครามเทคโนโลยีดำเนินต่อไป เทคโนโลยี 5G จะไม่ได้รับการสนับสนุนในเชิงนโยบาย ฉะนั้น การที่คู่แข่งได้รับเทคโนโลยีเช่นเดียวกับ หัวเว่ย จะทำให้ฝ่ายการเมืองกลับมาอนุญาตให้บริษัทต่างๆ หันกลับมาสนับสนุนเทคโนโลยี 5G อีกครั้ง และ (2) ข้อกล่าวหาที่หัวเว่ยได้รับคือ หัวเว่ยขโมยทรัพย์สินทางปัญญาจากคู่แข่ง ดังนั้นข้อเสนอนี้จึงเป็นการโชว์ให้เห็นว่า หัวเว่ยโปร่งใสและพร้อมให้ผู้เล่นเข้ามาแข่งใน Platform เดียวกับตนได้

คำถามคือ ภาพเหล่านี้แปลว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของจุบจบแห่งมหากาพย์สงครามเย็นระหว่าง 2 มหาอำนาจใช่หรือไม่ สำหรับผู้เขียนแล้ว มองว่าไม่ใช่ เนื่องจาก

1.ด้านสงครามการค้ามี 2 ประเด็นที่ต้องติดตาม คือหนึ่ง ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังชะลอลง โดยเฉพาะฟากการผลิตอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบจากสงครามการค้า ดังนั้น ทรัมป์จึงไม่อยากให้สงครามการค้ารุนแรงไปอย่างน้อยในช่วงนี้ ขณะที่ในส่วนของจีน แม้จะได้รับผลกระทบรุนแรงแต่มีช่องว่างเชิงนโยบาย(Policy space) ให้กระตุ้นได้มากกว่า ทำให้เศรษฐกิจจีนจึงไม่ได้ชะลอแรงมากนัก ณ ขณะนี้ และสอง ด้านการเมือง ในช่วงที่ผ่านมา คะแนนเสียงของทรัมป์ถูกผูกติดกับความร้อนแรงของสงครามการค้า โดยหากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น คะแนนนิยมของทรัมป์ก็จะมากขึ้น แต่ปัจจุบันเริ่มมีบางโพลที่ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับนโยบายการค้าของทรัมป์และเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวมากขึ้น

นอกจากนั้น ประเด็นด้านห้วงเวลาก็สำคัญ โดยจีนจะเฉลิมฉลองวันชาติและการครบรอบ 70 ปี ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จึงอยากให้ภาพความผันผวนด้านต่างๆ ดูสงบลง อย่างน้อยในช่วงสั้น ส่วนสหรัฐเองก็จะมีการเลือกตั้งในปลายปีหน้า ซึ่งหากสงครามการค้าแย่ลงมากในช่วงนี้ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ยังลดดอกเบี้ยให้ไม่ทัน ก็จะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำเร็วกว่าคาด ซึ่งจะไม่เป็นผลดีคะแนนเสียงของทรัมป์

2.ด้านสงครามเทคโนโลยีผู้เขียนมองว่าสาเหตุที่เหรินยอมเปิด Source code ครั้งนี้ นอกจากจะกังวลว่าเทคโนโลยี 5G จะไม่ได้รับการสนับสนุนแล้ว ตัวหัวเว่ยเองก็ได้รับผลกระทบจากสงครามเทคโนโลยีมากขึ้นโดยเฉพาะจากการห้ามบริษัทของสหรัฐทำธุรกรรมค้าขายกับ หัวเว่ย

โดยในส่วนของชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แม้ว่าหัวเว่ย จะสามารถหา Supplier จากเอเชียทดแทนผู้ผลิตจากสหรัฐที่ถูกแบนไป เช่น Skywork, Qualcomm และ Texas Instrument ได้บ้าง แต่ในส่วน Software ยังคงได้รับผลกระทบเต็มที่ โดยมือถือที่หัวเว่ยออกใหม่ในปัจจุบัน ไม่มี App สำคัญๆ แล้ว เช่น Gmail, Google maps, Youtube หรือ Google Play Store

นอกจากนั้น ในส่วนระบบปฏิบัติการ Android ที่ถูกแบนนั้น แม้จะสามารถผลิต Harmony OS ขึ้นมาแทน แต่ระบบปฏิบัติการใหม่นั้นยังขาดซึ่งผู้เล่นอื่นๆ ในระบบ (Ecosystem) ที่เหมาะสม ทำให้ยังไม่เป็นที่ยอมรับและยากที่จะฟื้นในระยะสั้น และเมื่อนับสัดส่วนรายได้จากการขายโทรศัพท์มือถือทั่วโลกที่เกือบ 50% ของรายได้รวมนั้น การถูกแบนในครั้งนี้กระทบต่องบการเงินของหัวเว่ยอย่างไม่ต้องสงสัย

3.ด้านสงครามค่าเงินแม้ว่าจีนจะยอมปรับให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นมาบ้าง เพื่อเป็นดั่งสัญญาณเชิงบวก (Goodwill gesture) แต่สหรัฐก็ยังไม่ปลดจีนออกจากการเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน (Currency manipulator) ซึ่งทำให้สหรัฐยังมีกระสุนที่ใช้ตอบโต้จีนได้ในระยะต่อไป เช่น ขึ้นภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดหรือ AD-CVD รวมถึงเข้าแทรกแซงค่าเงินดอลลาร์โดยตรง

นอกจากนั้น ผู้เล่นในสงครามค่าเงินมีมากกว่าจีนและสหรัฐ เนื่องจากความเสี่ยงทั่วโลกมีมากมาย ทำให้เงินดอลลาร์ในฐานะเป็นแหล่งลงทุนปลอดภัย (Safe Haven) ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ดอลลาร์แข็งค่า นอกจากนั้น การที่่ทุกประเทศผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่อง (ล่าสุดได้แก่ธนาคารกลางยุโรป ที่ลดดอกเบี้ยให้ติดลบมากขึ้นและหันกลับไปทำ QE อีกครั้ง) หลังจาก Fed ส่งสัญญาณผ่อนคลายก็จะเป็นการแข่งทำให้เงินอ่อนค่าโดยพฤตินัยเช่นกัน

สงครามสามสมรภูมิพักรบเพียงชั่วคราว อีกไม่ช้าระฆังยกใหม่ก็จะเริ่มต้นขึ้น ผู้ชมทั้งหลาย เตรียมพร้อมแล้วหรือยัง

[ บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ ]