อำนาจอธิปไตย ในโลกดิจิทัล

อำนาจอธิปไตย ในโลกดิจิทัล

สงครามการค้าในยุคดิจิทัล ไม่ได้มีแต่เพียงระหว่าง สหรัฐ และ จีน เท่านั้น

สัปดาห์ที่ผ่านมา ฝรั่งเศส และ เยอรมนี ได้ร่วมแถลงการณ์ ต่อต้าน ลิบร้า เงินสกุลดิจิทัลของ เฟซบุ๊ค ธุรกิจสัญชาติอเมริกัน โดยให้เหตุผลว่า ธุรกิจเอกชน ไม่ควรมีอำนาจเหนือสกุลเงิน เพราะโดยเนื้อแท้แล้วเป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศชาติ ทั้งยังกล่าวด้วยว่า เงินสกุลดิจิทัลของเฟซบุ๊คไม่ควรได้รับอนุญาตให้บริการในยุโรป เพราะความเสี่ยงต่ออำนาจอธิปไตย และเสถียรภาพทางการเงิน

บ่อยครั้งขึ้นเรื่อยๆ ที่เรามักได้ยินคำว่า อำนาจอธิปไตย กับ เทคโนโลยียุคดิจิทัล อยู่ในประโยคเดียวกัน ซึ่งปรากฎการณ์ของโลกการเงิน เช่นในกรณีของลิบร้า ถือเป็นบริบทที่ใหม่ล่าสุด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแรก

โดยก่อนหน้านี้ มีตั้งแต่เรื่องราวของ ข้อมูลส่วนบุคคล โอทีทีและสื่อโซเชียลมีเดียที่ได้กลายมาเป็นสื่อกระแสหลักในยุคปัจจุบัน และกระทั่งโครงสร้างพื้นฐานของการให้บริการในระบบดิจิทัลอื่นๆ เช่น เสิร์ชเอินจิน แพลตฟอร์มของอีคอมเมิร์ซ ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ที่อยู่ในมือของต่างชาติ และได้ให้บริการผ่านโครงข่ายดิจิทัลเข้ามาในประเทศ โดยที่ไม่ต้องมีตัวตนทางกายภาพหรือนิติบุคคลอยู่ในประเทศ และสามารถหลบเลี่ยงกฎหมายของประเทศนั้นๆ จนเกิดเป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จึงไม่เพียงแค่ส่งผลต่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือความมั่นคงของชาติ แต่ยังส่งผลต่ออำนาจอธิปไตยของชาติได้โดยตรง

ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดถึง เงินตราที่รั่วไหลออกจากประเทศ จนเกิดเป็นผลลบต่อผลิตภัณฑ์รวมในประเทศ และการที่ไม่สามารถเก็บภาษีจากธุรกิจเหล่านี้ได้อีก

สัปดาห์ที่ผ่านมาอีกเช่นกัน ได้มีพิธีลงนามความร่วมมือเครือข่ายภาครัฐกับภาคเอกชน เพื่อการระดมทุนเพื่อขับเคลื่อนบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) โดยมีเป้าหมายสร้างสตาร์ทอัพ 1 ปีแรกให้ได้ 300 ราย นับเป็นข่าวดีของประเทศไทย ที่รัฐบาลได้มียุทธศาสตร์ในเชิงรุก ที่จะผลักดันประเทศไทย ให้ก้าวเข้าสู่การเป็นแนวหน้าของประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยการสร้างนวัตกรรมใหม่

แต่การมียุทธศาสตร์ในเชิงรับ เพื่อรับมือกับกรณีของ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ความมั่นคงของชาติ หรือการรุกล้ำอำนาจอธิปไตยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ก็ยังคงมีความสำคัญ และเป็นปัญหาของโครงสร้างพื้นฐานของการให้บริการในระบบดิจิทัลในปัจจุบัน ที่หากไม่ได้รับการแก้ไข ย่อมจะส่งข้อจำกัดสู่โอกาสและความสำเร็จของสตาร์ทอัพ ที่กำลังจะเกิดขึ้นจากอินโนสเปซ

ซึ่งไทย สามารถศึกษาจากตัวอย่างของนานาอารยะประเทศ เช่นการต่อต้าน ลิบร้า ของ ฝรั่งเศส และ เยอรมนี การออกภาษีกูเกิลของหลากหลายประเทศ การบังคับให้ข้อมูลส่วนบุคคลของคนในชาติต้องถูกเก็บอยู่ภายในประเทศของหลากหลายประเทศอีกเช่นกัน

นอกจากนี้ ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีน กับหัวเว่ยก็เป็นกรณีศึกษาที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง ที่ถึงแม้หัวเว่ย และธุรกิจที่เกิดขึ้นมาจากสตาร์ทอัพในประเทศจีนจะสามารถพัฒนาสมาร์ทโฟนจนเป็นที่ต้องการของชาวโลก แต่ก็ยังคงต้องอาศัย โอเปอเรติ้ง ซิสเต็ม จากสหรัฐ​ เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ สำหรับระบบนิเวศน์ของสมาร์ทโฟนทั้งหมดของจีน ซึ่งเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศห้ามกูเกิลทำธุรกิจกับหัวเว่ย จึงเกิดเป็นปัญหาที่ยังไม่สามารถหาทางออกได้อยู่ทุกวันนี้

แต่ก็ยังดีสำหรับประเทศจีน ที่ เสิร์ชเอินจิน สื่อโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มของอีคอมเมิร์ซ ระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง ที่มีใช้อยู่ในประเทศจีน เกิดขึ้นมาจากสตาร์ทอัพของจีนเอง ยังเหลือแต่เพียง โอเปอเรติ้ง ซิสเต็ม แอนดรอยด์​ที่จีนยังคงต้องอาศัยจากธุรกิจข้ามชาติ

อะไรจะเกิดขึ้น หากโครงสร้างพืื้นฐานของการให้บริการในระบบดิจิทัลของประเทศหนึ่ง เป็นของธุรกิจข้ามชาติสัญชาติอเมริกันทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึง เงินสกุลดิจิทัลที่มีใช้อย่างแพร่หลายที่สุดในประเทศด้วย และวันหนึ่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ สั่งห้ามธุรกิจสัญชาติอเมริกันเหล่านี้ให้บริการต่อไปในประเทศนั้น แน่นอน ย่อมนำมาสู่การล่มสลายของระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้น อย่างที่มิอาจจะแก้ไขได้

สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ก็ไม่ได้แตกต่างจากตัวอย่างดังกล่าวมากนัก

ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ความมั่นคงของชาติ หรือกระทั่งอำนาจอธิปไตยในโลกดิจิทัล จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่นานาอารยะประเทศต่างให้ความสำคัญ และมีมาตรการณ์ตอบรับ จึงหวังว่าภาครัฐของไทย จะได้มียุทธศาสตร์ในเรื่องดังกล่าว ก่อนที่สถานการณ์จะสายเกินไปกว่านี้