Circular Economy กับอีกหนึ่งทางเลือกของกลยุทธ์องค์กร

Circular Economy กับอีกหนึ่งทางเลือกของกลยุทธ์องค์กร

ในระยะหลังจะได้ฟังข่าวเกี่ยวกับ Circular Economy หรือแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนจากองค์กรยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยกันมากขึ้น

และนำไปสู่คำถามว่า Circular Economy คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และจะบูรณาการเข้ากับกลยุทธ์ขององค์กรได้อย่างไร?

แนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มจากปัญหาที่โลกทั้งใบกำลังประสบอยู่นั้นคือ วิกฤตของทรัพยากรที่กำลังจะเกิดขึ้นเนื่องจากคนบริโภคกันมากขึ้น และปัญหาปริมาณขยะที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อสภาวะแวดล้อมในหลากหลายมิติ ทั้งนี้เมื่อประชากรของโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ทรัพยากรของโลกก็มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทรัพยากรที่ขาดแคลน และในเวลาเดียวกันคนก็สร้างขยะกันมากขึ้น ข้อมูลจากเอสซีจีซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเรื่อง Circular Economy ที่สำคัญในไทยระบุเลยว่าในแต่ละวัน คนไทย 1 คนสร้างขยะเฉลี่ย 1.15 กิโลกรัมต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ลองพิจารณาตัวท่านเองนะครับว่าสร้างขยะวันละเท่าไร)

ดังนั้นประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรถึงจะสามารถนำทรัพยากรที่ใช้แล้ว กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ เพื่อสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ได้อีกครั้ง ซึ่งกรณีของ Circular Economy นั้น ไม่ใช่แต่เฉพาะขยะในบ้านของแต่ละคนเท่านั้น ที่สำคัญคือขยะที่เกิดขึ้นจากกระบวนการดำเนินงาน หรือในองค์กรขนาดใหญ่ด้วย

ล่าสุดเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว เอสซีจี (SCG) ก็ได้จัดงานใหญ่ระดับนานาชาติ ซึ่งทางเอสซีจีได้จัดติดต่อกันมา 10 ปีแล้ว ภายใต้ชื่องาน SD Symposium - Circular Economy: Collaboration for Action ซึ่งมีประเด็นที่เรียนรู้ที่น่าสนใจ 2 ประเด็น คือการจะทำให้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนประสบผลได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่ภาครัฐในการมีกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารขยะที่เข้มงวดและเกิดผลอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันองค์กรต่างๆ ก็ต้องให้ความสำคัญและความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะทุกๆ องค์กร ไม่ว่าผลิต บริการ รัฐ หรือ เอกชน ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งสิ้น อย่างในกรณีตัวอย่างของเอสซีจีนั้น เขามีความร่วมมือกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในการนำเศษคอนกรีต ที่มีส่วนผสมของซีเมนต์มาใช้ทดแทนหินธรรมธรรมชาติในกระบวนการก่อสร้าง หรือ ร่วมกับค้าปลีกต่างๆ ในการนำกล่องและเศษกระดาษที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิล หรือ ร่วมมือกับร้านอาหารในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ง่าย เป็นต้น

ประเด็นที่สอง คือ การมีแผนบริหารจัดการขยะที่ชัดเจน มีการผลักดันอย่างจริงจังจากภาครัฐ มีโครงสร้างและระบบในการรองรับ และมีการสื่อสารที่ทำให้ภาคประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการขยะ

ในมุมขององค์กรธุรกิจนั้น การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกเหนือจากจะช่วยโลกลดปริมาณขยะและประหยัดทรัพยากรของโลกแล้ว ยังนำไปสู่การลดต้นทุนในการดำเนินงานขององค์กรได้อีกด้วย ในกรณีของเอสซีจีนั้น ในปี 2561 บริษัทสามารถนำของเสียอุตสาหกรรมมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบทดแทนได้มากกว่า 3 แสนตันของเสียต่อปี และแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงทดแทนได้มากกว่า 1 แสนตันของเสียต่อปี โดยบริษัทได้นำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้ผ่านกลยุทธ์หลัก 3 ประการ ได้แก่ 1. Reduce และ Durability หรือการลดใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนานขึ้น 2. Upgrade และ Replace หรือการพัฒนานวัตกรรมเพื่อทดแทนสินค้าหรือวัตถุดิบชนิดเดิม ด้วยสินค้าหรือวัตถุดิบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง หรือ สามารถนำไปรีไซเคิลได้มากขึ้น และ 3. Reuse และ Recycle รือการเพิ่มความสามารถในการหมุนเวียนสินค้าที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่

องค์กรธุรกิจอื่นๆ ก็สามารถนำหลักของ Circular Economy เข้ามาปรับและบูรณาการกับกลยุทธ์ของตนเองได้เช่นเดียวกัน โดยอาจจะเริ่มต้นจากกลยุทธ์ในด้านการดำเนินงานที่เป็นเลิศ จากนั้นสามารถขยับเป็นกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์และความรับผิดชอบต่อสังคม และสุดท้ายสามารถนำไปสู่กลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับการลดต้นทุน และการสร้างความแตกต่างให้กับองค์กรได้