ฉากทัศน์อนาคตองค์กรภาครัฐไทย

ฉากทัศน์อนาคตองค์กรภาครัฐไทย

ในงานครบรอบ 10 ปี ของการการเปลี่ยนรูปแบบของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติไปเป็นองค์การมหาชนเมื่อต้นเดือนกันยายน ที่ผ่านมา

มีการนำเสนอผลงานวิจัยหลายๆ เรื่องที่ สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมสนับสนุนงานวิจัย โดยเฉพาะงานวิจัยที่นำเครื่องมือ “การมองอนาคต” หรือ Foresightมาใช้เพื่อชี้นำฉากภาพอนาคตในบริบทต่างๆ ของประเทศไทย

งานวิจัยเรื่องหนึ่งที่จะขอนำมากล่าวถึงในบทความประจำสัปดาห์นี้ เป็นการนำเสนอฉากภาพอนาคตขององค์กรภาครัฐไทย โดยใช้เครื่องมือ การมองอนาคตที่เรียกว่า Scenario Analysis หรือ การวิเคราะห์ฉากทัศน์อนาคต

คณะผู้วิจัยได้แก่ รศ.ดร. ธัชเฉลิม สุทธิพงษ์ประชา และ ดร. ธันยพร สุนทรธรรม จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยใช้ สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแบบของหน่วยงานภาครัฐในการวิจัย และมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอฉากทัศน์อนาคต 20 ปีของ สำนักนายกรัฐมนตรี

ในการรายงานผลการวิจัย คณะผู้วิจัยนำเสนอว่า กระบวนการวิจัยครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนสำคัญ โดยขั้นตอนแรกเริ่มในเดือนธันวาคม 2561 เป็นการศึกษาเพื่อสร้างกรอบวิสัยทัศน์แห่งอนาคตที่เป็นไปได้ ผ่านการใช้เครื่องมือ Visioning (กระบวนการสร้างวิสัยทัศน์) โดยการระดมสมอง (Brainstorming) เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนโยบายและวางแผน สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 25 คน และกลุ่มนักวิเคราะห์ด้านนโยบายและการวางแผนจากหน่วยงานภายนอกจำนวน 20 คน เพื่อให้ได้ข้อมูลสำคัญที่จะนำมากำหนดกรอบวิสัยทัศน์ คุณค่าร่วม รวมถึงเป้าหมายที่ควรจะเป็นในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ขั้นตอนที่ 2 เป็นการใช้เทคนิค Delphi เพื่อรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์สูง ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับนโยบายและผู้บริหารระดับสูงอื่นๆ จำนวน 42 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำการวิเคราะห์หาปัจจัยขับเคลื่อน (Driving forces) ที่ผู้เชี่ยวชาญเห็นทิศทางหรือแนวโน้มว่าจะมีผลต่อสิ่งที่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ขั้นตอนนี้ใช้ช่วงเวลาระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2562

ขั้นตอนที่ 3 เป็นการสรุปภาพฉากทัศน์อนาคต โดยการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ร่วมกันระหว่างผู้บริหารระดับกลางของหน่วยงาน จำนวน 10 คน เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายและแผนงาน จำนวน 25 คน และนักวิเคราะห์ด้านแผนงานและนโยบาย จำนวน 20 คน จัดขึ้นระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2562

ผลการวิจัยสรุปฉากทัศน์ 20 ปีของการทำงานของ สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจนำมาเป็นต้นแบบของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่จะเป็นได้ใน 4 มุมมอง ซึ่งจะถูกกำกับโดยภูมิทัศน์อนาคตของประเทศไทย

ฉากทัศน์ที่ 1 เป็นภาพเมื่อประเทศไทยถูกคุกคามด้วยปัญหาจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ถาโถมมาจากภายนอกอย่างรวดเร็วโดยที่ภาครัฐไม่ได้เตรียมการรองรับอย่างทันท่วงที เทคโนโลยีใหม่ๆ เหล่านี้จะทำให้ต้นทุนการปฏิบัติงานและการพัฒนาประเทศสูงขึ้นอย่างมาก การทำงานของสำนักนายกรัฐมนตรี จะอยู่ภายใต้สภาวะที่งานล้นมือทำให้สมรรถนะในการทำงานลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทบาทของการสนับสนุนการทำงานของนายกรัฐมนตรีในการบริหารประเทศ

ฉากทัศน์ที่ 2 เป็นฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ ภายใต้ภูมิทัศน์ที่ภาครัฐสามารถนำเทคโนโลยีทันสมัย เช่น เทคโนโลยีดิจิตัล มาประยุกต์ใช้กับการบริหารและพัฒนาประเทศได้เท่าเทียมและทันการณ์กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของโลก หน่วยงานต่างๆ ของรัฐ จะสามารถใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ทำให้ไม่เกิดขั้นตอนการให้บริการประชาชนที่ยุ่งยากซับซ้อน การทำงานของหน่วยงานภาครัฐเป็นไปอย่างคล่องตัว และปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเมื่อมีปัญหาที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ประเด็นที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อเนื่องภายใต้ฉากทัศน์ที่ 2 นี้ก็คือ หน่วยงานภาครัฐ อาจถูกแข่งขันจากภาคเอกชน ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องปรับบทบาทจากการเป็นหน่วยงานดำเนินการ ให้กลายเป็นหน่วยงานสนับสนุนและกำกับดูแลมากขึ้น

ฉากทัศน์ที่ 3 เป็นภาพขององค์กรภาครัฐที่ปรับตัวได้อย่างช้าๆ พยายามคงสภาพของการทำงานให้เหมือนเดิมที่ทำอยู่ ใช้เทคโนโลยีเดิมที่คุ้นเคย ปรับเฉพาะบางส่วนเนื่องจากการด้อยประสิทธิภาพจากความล้าสมัย เป็นฉากทัศน์ที่เสมือนสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและไม่ได้รับการเปลี่ยนแปลง ภายใต้ฉากทัศน์นี้ องค์กรภาครัฐ รวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรี ก็จะเป็นองค์กรที่เก่าแก่ดูล้าสมัย ทำงานโดยไม่มีประสิทธิภาพด้วยขั้นตอนที่ล่าช้าและซับซ้อน

ฉากทัศน์ที่ 4 อยู่ภายใต้ภูมิทัศน์ที่หน่วยงานภาครัฐมีความสามารถในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้ดี แต่ยังมีทัศนคติที่ยึดต่อโครงสร้างปัจจุบันที่อยู่ในลักษณะเป็นแท่งๆ หรือเป็นไซโล แต่ละกระทรวง ทบวง กรม ยังคงยึดมั่นกับงานในหน้าที่ที่ถูกกำหนดไว้ ไม่มีการการเชื่อมโยงประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้อนาคตที่จะมีการผันผวนอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยาก หน่วยงานภาครัฐในฉากทัศน์นี้ ถึงแม้จะดูทันสมัย และก็จะไม่สามารถสร้างการเจริญเติบโตให้แก่ประเทศได้เต็มประสิทธิภาพ

งานวิจัยนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการกำหนดอนาคตด้วยการใช้เครื่องมือการมองอนาคต หรือ Foresight เพื่อสร้างทางเลือกของอนาคตที่เราต้องการได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ

โดยไม่ต้องหวังพึ่งการคาดการณ์หรือการพยากรณ์ หรืออปล่อยให้เป็นไปตามโชคชะตากำหนด!!!

(ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)